นกกางเขนบ้าน

จาก ระบบฐานข้อมูลชนิดนกในอุทยานแห่งชาติแก่งกรุง อำเภอวิภาวดี จังหวัดสุราษฎร์ธานี
Oriental1.jpg

วงศ์:Muscicapinae
ชื่อวิทยาศาสตร์:Copsychus saularis (Linnaeus) 1758.
ชื่อสามัญ:Oriental magpie robin
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ:นกบินหลาบ้าน , นกจีแจ้บ , นกจีจู๊ , นกอีปุ้ย , นกอีพุ้ย , Magpie robin

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Copsychus saularis ชื่อชนิดมาจากคำในภาษาฮินดูคือ saulary ซึ่งหมายถึงนกกางเขบ้านโดยเฉพาะ พบครั้งแรกที่รัฐเบงกอลประเทศอินเดีย ทั่วโลกมี 18 ชนิดย่อย ประเทศไทยพบ 3 ชนิดย่อย คือ

  1. Copsychu saularis saularis (Linnaeus)ที่มาและความหมายของชื่อชนิดย่อยเช่นเดียวกับชื่อชนิด
  2. Copsychus saularis erimelas Oberholser ชื่อชนิดย่อยมาจากรากศัพท์ภาษากรีกคือ eri แปลว่ามาก และ =melas แปลว่าสีดำ ความหมายคือ “นกที่มีสีดำมากกว่าสีขาว” พบครั้งแรกที่เมืองตะนาวศรี ทางตอนใต้ของประเทศพม่า
  3. Copsychus saularis musicus (Raffles) ชื่อชนิดย่อยมาจากคำในภาษาละตินคือ musicus แปลว่าเสียงดนตรี (รากศัพท์ภาษากรีก music,-o หรือ mousikos ก็แปลว่าเสียงดนตรี) ความหมายคือ “นกที่มีเสียงร้องที่ไพเราะ” พบครั้งแรกที่เกาะสุมาตราประเทศอินโดนีเซีย

กระจายพันธุ์ : ในปากีสถาน อินเดีย จีนตอนใต้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกาะไหหลำ หมู่เกาะอันดามันหมู่เกาะซุนดาใหญ่ และฟิลิปปินส์

ลักษณะทั่วไป : เป็นนกขนาดเล็ก (23 ซม.) ปากสักษณะเรียวแหลม คอสั้น ปียาวแหลม หางยาว ปลายหางมนและแผ่ออกเส็กน้อยเป็นรูปพัด ขายาวปานกลาง ตัวผู้ลำตัวด้านบนทั้งหมดเป็นสีดำ ปีกดำมีแถบสีขาวชัดเจน หางสีดำโดยขนหางคู่นอก ๆ เป็นสีขาว ตัวเมียลักษณะคล้ายตัวผู้ โดยบริเวณที่เป็นสีดำในตัวผู้เป็นสีเทาเข้ม ตัวไม่เต็มวัยบริเวณที่เป็นสีเข้มมักมีลายจุดด้วย

อุปนิสัยและอาหาร : อาศัยอยู่ตามป่าเต็งรัง ป่ารุ่น ทุ่งโล่ง สวนผลไม้ ป่าชายเลนที่ถูกตัดฟัน และบริเวณใกล้บ้านเรือนคน ตั้งแต่พื้นราบจนกระทั่งความสูง 1,800 เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นนกที่ค่อนข้างคุ้นเคยกันมากชนิดหนึ่ง พบอยู่โดดเดี่ยว เป็นคู่ หรือเป็นครอบครัวพ่อแม่ลูก มักพบเกาะตามกิ่งของต้นไม้ ไม้พุ่ม ไผ่ สายไฟฟ้า รั้วลวดหนาม รั้วไม้ หลังคาบ้าน และสิ่งก่อสร้าง บ่อยครั้งที่พบยืนบนเนินดิน พื้นดิน หรือสนามหญ้า ตัวผู้ขณะเกาะหรือยืนมักยกหางขึ้นในลักษณะดังกล่าว นกกางเขนบ้านมีเสียงร้องไพเราะและร้องได้หลายเสียงเพื่อเกี้ยวพาราสี ป้องกันอาณาเขต และเรียกลูกนก กินแมลงและตัวหนอนเป็นอาหาร โดยจิกกินตามกิ่งของพืช หรือจ้องหาเหยื่อตามพื้นดิน โฉบด้วยปาก แล้วนำกลับไปกินบริเวณที่เกาะ บ่อยครั้งที่พบกระโดดหรือเดินไล่จิกแมลงตามพื้นดินและสนามหญ้าและบางครั้งก็บินโฉบจับแมลงโดยเฉพาะแมลงเม่าบินขึ้นจากรูหรือโพรงดิน

การผสมพันธุ์ : ผสมพันธุ์ในช่วงฤดูร้อนและฤดูฝนระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคม ทำรังตามโพรงขอต้นไม้ ซึ่งเป็นโพรงที่เกิดตามธรรมชาติหรือโพรงที่นกหรือสัตว์อื่นทำทิ้งไว้ บางครั้งทำรังตามคอต้นมะพร้าวและหลืบหรือชายยคาบ้านหรือสิ่งก่อสร้างทั้งสองเพศช่วยกันหาวัสดุ เช่น ใบหญ้า ใบไม้ ใบไผ่ ใบมะพร้าว นำมาวางซ้อนกัน รังปกติมีไข่ 4 ฟอง แต่อาจพบ 3 หรือ 4 ฟอง ไข่สีเขียวอมฟ้า มีลายจุดและลายขีดสีน้ำตาลทั่วฟอง ขนาดของไข่โดยเฉลี่ย 16.77X22.45 มม. ทั้งสองเพศช่วยกันฟักไข่ จะเริ่มฟักหลังจากออกไข่ฟองสุดท้ายของรังแล้ว ใช้เวลาฟักไข่ทั้งสิ้น 15 วัน

ลูกนก : ลูกนกที่ออกจากไข่มาใหม่ ๆ มีรูปร่างเทอะทะหัวโต ตาโต ยังไม่ลืมตา และไม่มีขนปกคลุมร่างกายช่วงนี้พ่อแม่จะช่วยกันหาอาหารมาป้อน ซึ่งส่วนใหญ่ ได้แก่ ตัวหนอน และช่วยกันกกให้ความอบอุ่น ลูกนกเจริญเติบโตและพัฒนาร่างกายค่อนข้างเร็ว อายุประมาณ 3-5 วันจะเริ่มมีขนขึ้นห่าง ๆ อายุ 7-9 วันมีขนคลุมเกือบเต็มตัว อายุ 10-12 วันมีขนคลุมเต็มตัวและสามารถเดินภายในรังหรือเกาะขอบรังได้ อายุ 15-16 วันเริ่มหัดบินในระยะใกล้ ๆ กับรัง อายุ 20-21 วัน จะสามารถบินได้แข็งแรง ยังคงอาศัยอยู่เป็นครอบครัวแต่ไม่กลับไปยังรังอีก ลูกนกจะแยกจากพ่อแม่ไปหากินตามลำพังเมื่อโตเต็มที่ ลูนกอายุ 1 ปีสามารถที่จะสืบพันธุ์ให้ลูกหลานได้

สถานภาพ : เป็นนกประจำถิ่น พบบ่อยและปริมาณมาก ชนิดย่อย saularis พบทางภาคเหนือด้านตะวันตก ชนิดย่อย erimelas พบทางภาคเหนือด้านตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคกลางและภาคตะวันตก และชนิดย่อย musicus พบทางภาคใต้

กฎหมาย : จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง

ลิงค์ข้อมูลเพิ่มเติม

https://www.youtube.com/watch?v=DPmF8iSBu9E//https:
>>> นกกางเขนบ้าน <<<


Oriental2.jpg Oriental3.jpg Oriental4.jpg

แหล่งที่มาของภาพ
http://1.bp.blogspot.com/-DzkONuqukAw/VICUnnL07SI/AAAAAAAAABk/uq20iNhF6DQ/s1600/ดาวน์โหลด.jpg
https://live.staticflickr.com/3315/3600965036_b6cdf0a3fd_z.jpg
http://www.lowernorthernbird.com/bird_picture/large/2013_03_31_12_27_11.jpg
http://4.bp.blogspot.com/-Xdgkuxc1Uno/U2SCPApMHmI/AAAAAAAAB8E/6hLJYmkHhQ8/s1600/%25E0%25B8%2599%25E0%25B8%2581%25E0%25B8%2581%25E0%25B8%25B2%25E0%25B8%2587%25E0%25B9%2580%25E0%25B8%2582%25E0%25B8%2599%25E0%25B8%259A%25E0%25B9%2589%25E0%25B8%25B2%25E0%25B8%2599.jpg

แหล่งที่มาของเนื้อหา
จากหนังสือนกในเมืองไทย ผู้เขียน รศ.โอภาส ขอบเขต