นกขมิ้นน้อยปีกสีเรียบ
วงศ์:Dicruridae
ชื่อวิทยาศาสตร์:Aegithina lafresnayei (Hartlaub) 1844.
ชื่อสามัญ:Great lora
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ:นกขมิ้นน้อยชนิดใหญ่
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Aegithina lafresnayei ชื่อชนิดดัดแปลงจากชื่อของ Baron Noel Frederic Armand Andre de Lafresnaye (ค.ศ.1783-1861) นักปักษีวิทยาและนักสะสมตัวอย่างสัตว์ชาว ฝรั่งเศส พบครั้งแรกที่ประเทศมาเลเซีย ทั่วโลกมี 3 ชนิดย่อย ประเทศไทยพบ 2 ชนิดย่อย คือ Aegithina lafresnayei lafresnayei (Hartlaub) ที่มา ของชื่อชนิดย่อยเช่นเดียวกับชื่อชนิด และ Aegithina lafresnayei innotata (Blyth) ชื่อชนิดย่อยมาจาก รากศัพท์ภาษาละตินคือ innotatus แปลว่าไม่มีเครื่องประดีบหรือสีเรียบ ความหมายคือ “นกที่มีปีกสีเรียบ” พบครั้งแรกที่ประเทศพม่า
กระจายพันธุ์ : ในจีนด้านตะวันตกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ลักษณะทั่วไป : เป็นนกขนาดเล็ก (17 ซม.) แตกต่างจากนกขมิ้นน้อยอื่น ๆ ตรงที่ไม่มีลายแถบที่ปีก แตกต่างจากนกเขียวก้านตองต่าง ๆ โดยที่ลำตัวด้านล่าง มีสีเหลือง (ตัวไม่เต็มวัยอาจมีลายแต้มสีเขียว) ตัวผู้ลำตัวด้านบนสีอาจแตกต่างกันตั้งแต่สีเขียว (คล้ายตัวเมีย) จนกระทั่งสีดำ โดยตะโพกจะเป็นสีเขียว
อุปนิสัยและอาหาร : อาศัยอยู่ตามป่าเบญจพรรณ ไท ป่าดงดิบชื้น และป่าดงดิบแล้ง ตั้งแต่พื้นราบจนกระทั่งความสูง 900 เมตรจากระดับน้ำทะเล มักพบอยู่เป็นคู่ มักเกาะตามกิ่งไม้และยอดไม้ในระดับสูง กินแมลงเป็น อาหารโดยการจิกกินตามกิ่งไม้และยอดไม้
การผสมพันธุ์ :ผสมพันธุ์ในช่วงฤดูร้อนระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม ชีววิทยาการสืบพันธุ์ ไม่แตกต่างจากนกขมิ้นน้อยธรรมดา นอกจากขนาด ของไข่ที่ใหญ่กว่าเล็กน้อย เพราะนกมีขนาดใหญ่กว่า
สถานภาพ : เป็นนกประจำถิ่น พบบ่อยและปริมาณปานกลาง ชนิดย่อย innotata พบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาค ตะวันตก และภาคใต้เหนือคอคอดกระ ชนิดย่อย lafresnayei พบทางภาคใต้ตั้งแต่คอคอดกระลงไป
กฎหมาย : จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
แหล่งที่มาของภาพ
http://oknation.nationtv.tv/blog/home/user_data/album_data/201707/08/54286/images/487113.jpg
http://www.lowernorthernbird.com/bird_picture/large/2014_08_23_15_34_03.jpg
https://download.ams.birds.cornell.edu/api/v1/asset/177809221/1800
http://adeq.or.th/wp-content/uploads/2019/01/นกขมิ้นน้อยปีกสีเรียบ-495x400.jpg
แหล่งที่มาของเนื้อหา
จากหนังสือนกในเมืองไทย ผู้เขียน รศ.โอภาส ขอบเขต