นกเขาใหญ่, นกเขาหลวง

จาก ระบบฐานข้อมูลชนิดนกในอุทยานแห่งชาติแก่งกรุง อำเภอวิภาวดี จังหวัดสุราษฎร์ธานี
Spotted1.jpg

วงศ์:Columbidae
ชื่อวิทยาศาสตร์:Streptopelia chinensis (Scopoli) 1786.
ชื่อสามัญ:Spotted dove
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ:นกเขาหลวง , Spot-mecled dove

นกเขาใหญ่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Streptopelia chinensis ชื่อชนิดดัดแปลงจากชื่อสถานที่ที่พบครั้งแรก คือประเทศจีน ทั่วโลกมีนกเขาใหญ่ 8 ชนิดย่อยประเทศไทยพบ 2 ชนิดย่อยคือ Streptopelia chinensis vacillan Hartert ชื่อชนิดย่อยมาจากรากศัพท์ภาษาละตินคือ vacill,-a แปลว่าคลื่น ความหมายคือ “มีลายลักษณะคล้ายคลื่น” พบครั้งแรกที่มณฑลยูนนานประเทศจีน และ Streptopelia chinensis tigrina (Temminck) ชื่อชนิดย่อยมาจากรากศัพท์ภาษาละตินคือ tigri,-n แปลว่าเสือโคร่ง ความหมายคือ “มีลายคล้ายลายเสือโคร่ง” พบครั้งแรกที่เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย

กระจายพันธุ์ : ในอินเดีย จีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกาะไหหลำ ไต้หวัน หมู่เกาะซุนดาใหญ่ หมู่เกาะซุนดาน้อย เกาะปาลาวัน ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์

ลักษณะทั่วไป : เป็นนกขนาดเล็ก (29-30 ซม.) หัวสีเทา ปากสีน้ำตาล ค่อนข้างยาวและตรง คอค่อนข้างสั้น คอด้านบนมีแถบสีดำ ลายจุดสีขาว ลำตัวด้านบนสีออกน้ำตาล ปีกสีน้ำตาลเข้มกว่า ขนคลุมขนปีกแถวนอกและบริเวณหัวปีกมีแถบสีเทา อกสีน้ำตาลอ่อน ท้องและขนคลุมโคนขนหางด้านล่างสีขาว หางยาวปานกลาง ขนหางคู่นอกสุดกว้างมีสีดำและปลายสีขาว ขาและนิ้วสีแดง ทั้งสองเพศมีลักษณะและสีสันเหมือนกัน

อุปนิสัยและอาหาร : อาศัยและหากินตามทุ่งนา ไร่ สวน ป่าละเมาะ ป่าชายเลน ป่าโปร่ง เช่น ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าอื่น ในระดับไม่เกิน 1,800 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีกิจกรรมในเวลากลางวัน ปกติพบอยู่เป็นคู่หรือฝูงเล็ก ๆ มักพบมันเกาะสายไฟฟ้าหรือสายโทรเลขบริเวณสองข้างถนนและตามกิ่งไม้แห้งช่วงกลางวันที่อากาศร้อนมันจะเกาะหลบแดดตามกิ่งไม้ที่มีใบแน่นทึบ นกเขาใหญ่มักเดินหากินเมล็ดธัญพืชเมล็ดของไม้ต้น แมลง และตัวหนอนตามพื้นถนนหรือพื้นดินทั่วไป นกเขาใหญ่เป็นนกที่นิยมนำมาเลี้ยงกันมากเนื่องจากมีเสียงร้องหรือเสียงขันที่ไพเราะและก้องกังวานได้ยินไปไกล แต่ละตัวจะร้องหรือขันเป็นเสียงต่างกันหลายแบบคือ “คุก-ครู-คุก” “คุก-คุก-ครูรู-ครุก” “ครู-ครู-ครู” “คู-ครรรู-คุ” และ “คุ-คุ-ครรรู” การร้องหรือการขันเป็นการประกาศอาณาเขตและดึงดูดเพศตรงข้ามเพื่อจับคู่ผสมพันธุ์

การผสมพันธุ์ : นกเขาใหญ่ผสมพันธุ์ในช่วงฤดูร้อนต่ฤดูฝนระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนกรกฎาคมรังเป็นแบบง่าย ๆ มีรูปร่างคล้ายจาน โดยนำกิ่งไม้เล็ก ๆ และต้นหญ้ามาวางซ้อนกัน อาจสานหรือวางไขว้ไปมาบ้าง ทำแอ่งตรงกลาง แล้วนำใบหญ้าและใบไม้มาวางกลางแอ่งเพื่อรองรับไข่ โดยเฉลี่ยรังมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 12-15 ซม. ลึก 3-5 ซม. และอยู่สูงจากพื้นดิน 2-4 เมตร ไข่สีขาวเรียบ ไม่มีจุดหรือขีดมีขนาดเฉลี่ย 21.45x29.05 มม. รังมีไข่ 2 ฟอง ทั้งสองเพศช่วยกันสร้างรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน จะเริ่มฟักไข่เมื่อออกไข่ครบรังแล้ว ใช้เวลาฟักทั้งสิ้น 14-15 วัน

ลูกนก : ลูกนกแรกเกิดยังไม่ลืมตา รูปร่างค่อนข้างเทอะทะ หัวโต ท้องป่อง มีขนอุยสีน้ำตาลอ่อนปกคลุมเล็กน้อยทางลำตัวด้านบน และยังไม่แข็งแรงพอจะยืนหรือเดินได้พ่อแม่ต้องคอยช่วยกันกกลูกโดยให้ซุกใต้ปีกหรือท้องและสำรอกน้ำนมออกมาป้อนให้ลูกนกกิน เมื่อลูกนกอายุได้ 1 สัปดาห์ มันจะมีขนอุยปกคลุมเกือบทั่วตัวอายุ 2 สัปดาห์จึงมีขนอุยปกคลุมเต็มตัว ลูกนกช่วงนี้จะมีลักษณะคล้ายตัวเต็มวัย ยกเว้นบริเวณคอด้านบนไม่มีลายแถบสีดำขาว และเริ่มหัดบินโดยมีพ่อแม่คอยดูแล เมื่อลูกนกบินได้แข็งแรงแล้ว มันจึงจะทิ้งรัง นกเขาใหญ่อายุ 1 ปีจะโตเต็มที่พอผสมพันธุ์ได้ อายุ 2-3 ปีจะแข็งแรงเป็นพ่อแม่พันธุ์ที่ดีได้ นกเขาใหญ่ในกรงเลี้ยงสามารถมีอายุยืนถึง 20 ปีหรือมากกว่า แต่ในธรรมชาติอาจมีอายุน้อยกว่าเพราะมีภัยมากกว่า

สถานภาพ : นกเขาใหญ่เป็นนกประจำถิ่น พบบ่อยและปริมาณค่อนข้างมาก ชนิดย่อย vacillans พบทางภาคเหนือตอนเหนือ ส่วนชนิดย่อย tigrina พบทั่วทุกภาค

กฎหมาย : จัดนกเขาใหญ่ทุกชนิดย่อยเป็นสัตว์ป่านอกประเภทโดยไม่ได้รับการสงวนและคุ้มครอง

ลิงค์ข้อมูลเพิ่มเติม

https://www.youtube.com/watch?v=-VjuIlfHemw//https:
>>> นกเขาใหญ่,นกเขาหลวง <<<


Spotted2.jpg Spotted3.jpg Spotted4.jpg

แหล่งที่มาของภาพ
https://img.kapook.com/image/pet/spott-dove.jpg
https://img.kapook.com/image/pet/b203-402.jpg
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/c/c3/Streptopelia_chinensis_-Kuala_Lumpur_Bird_Park-8a.jpg
http://www.lowernorthernbird.com/bird_picture/large/2014_09_06_11_56_22.jpg

แหล่งที่มาของเนื้อหา
จากหนังสือนกในเมืองไทย ผู้เขียน รศ.โอภาส ขอบเขต