นกกระติ๊ดตะโพกขาว
วงศ์:Estrildinae
ชื่อวิทยาศาสตร์:Lonchura striata (Linnaeus) 1766.
ชื่อสามัญ : White-remped munia
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ:White-backed munia , Sharp-tailed munia , Striated mannilin
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lonchura striata ชื่อชนิดมาจากคำในภาษาละตินสมัยใหม่คือ striatus (รากศัพท์ภาษาละตินคือ stria, -t) แปลว่าลายขีดหรือรอยไถ ความหมายคือ “นกที่มีลายขีด” พบครั้งแรกที่ประเทศศรีลังกา ทั่วโลกมี 6 ชนิดย่อย ประเทศไทยพบ 2 ชนิดย่อยคือ Lonchura striata acuticauda Hodgson ชื่อชนิดย่อยมาจากรากศัพท์ภาษาละตินคือ acut หรือ acutus แปลว่าแหลมคม และ caud, =a แปลว่า หาง ความหมายคือ “นกที่มีปลายหางแหลม” พบครั้งแรกที่ประเทศเนปาล และ Lonchura striata subsquamicollis (Stuart Baker) ชื่อชนิดย่อยมาจากรากศัพท์ภาษาละตินคือ sub แปลว่าด้านล่าง squam, =a, -at, -I, -o หรือ squamous แปลว่าเกล็ด และ coll, -i หรือ collis แปลว่าคอ ความหมายคือ “นกที่คอด้านล่างเป็นลายเกล็ด” พบครั้งแรกที่ประเทศพม่า
กระจายพันธุ์ : ในอินเดีย จีนตอนใต้ ไต้หวัน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หมู่เกาะอันดามัน หมู่เกาะนิโคบาร์ และเกาะสุมาตรา
ลักษณะทั่วไป : เป็นนกขนาดเล็กมาก (11 ซม.) ตัวเต็มวัยสีน้ำตาล ตะโพกขาว ท้องสีขาวแกมสีเนื้อ หางสีดำ ปลายหางแหลม โดยมีขนหางคู่กลางยื่นยาวกว่าขนหางคู่อื่นเล็กน้อย ขนบริเวณที่เป็นสีเข้มมีลายขีดเล็ก ๆ สีขาว อกมีลายเกล็ดสีเนื้อ ท้องมีลายขีดสีเข้มไม่เด่นชัด ตัวไม่เต็มวัยสีจางกว่า ตะโพกขาวแกมสีเนื้อ
อุปนิสัยและอาหาร : พบตามทุ่งโล่ง แหล่งกสิกรรม ป่ารุ่น และป่าละเมาะ ตั้งแต่พื้นราบจนกระทั่งความสูง 1,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล พบอยู่เป็นคู่หรือเป็นฝูง บางฝูงมีจำนวนมากกว่า 100 ตัว เป็นนกที่บินได้ดีมาก แต่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก ขณะบินจะเกาะกลุ่มกันบินไปพร้อม ๆ กันเป็นฝูง ทั้งฝูงอาจบินตรงหรือเป็นรูปคลื่น อาจพบเกาะตามกิ่งไม้แห้ง ยอดหญ้า หรือพืชต่าง ๆ อาหารได้แก่ เมล็ดหญ้าและข้าวเปลือก ซึ่งมักลงกินเป็นฝูงในนาข้าวที่กำลังสุก นอกจากนี้ยังกินธัญพืช แมลง และตัวหนอนด้วย
การผสมพันธุ์ : ผสมพันธุ์ในช่วงฤดูร้อนและต้นฤดูฝนระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน และอาจทำรังตลอดปี ทำรังตามต้นไม้ ไม้พุ่ม หรือไม้เลื้อยที่ค่อนข้างรก เช่น ต้นเฟื่องฟ้า เป็นต้น รังเป็นรูปทรงกลม มีทางเข้าออกทางด้านข้าง อยู่สูงจากพื้นดิน 2-6 เมตร รังประกอบด้วยใบหญ้า ใบไม้ ดอกหญ้า และขนนก โดยนำวัสดุมากองรวมกันตามง่ามไม้ อาจรองพื้นรังด้วยขนนก ดอกหญ้า หรือวัสดุอ่อนนุ่ม รังมีไข่ 5-6 ฟอง
ไข่ : สีขาว ขนาดของไข่โดยเฉลี่ย 11.2x17.4 มม. ทั้งสองเพศช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน ใช้เวลาฟักไข่ 11-12 วัน ลูกนกที่ออกจากไข่ใหม่ ๆ เป็นลูกอ่อนเดินไม่ได้ พ่อแม่จะช่วยกันหาอาหารมาป้อน อายุ 14-15 วันลูกนกจะมีขนเต็มตัว บินได้ และทิ้งรังไป
สถานภาพ : เป็นนกประจำถิ่น พบบ่อยและปริมาณมาก ชนิดย่อย acuticauda พบทางภาพเหนือ ภาคตะวันตก ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ชนิดย่อย subsquamicollis พบทางภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้
กฎหมาย : จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
แหล่งที่มาของภาพ
https://www.bloggang.com/data/channoi/picture/1118917166.jpg
https://i.pinimg.com/originals/d0/97/0a/d0970a8b1ff3e911cefe074047992556.jpg
http://oknation.nationtv.tv/blog/home/album_data/948/38948/album/42305/images/388763.jpg
http://oknation.nationtv.tv/blog/home/album_data/948/38948/album/42305/images/388764.jpg
แหล่งที่มาของเนื้อหา
จากหนังสือนกในเมืองไทย ผู้เขียน รศ.โอภาส ขอบเขต