นกกะเต็นอกขาว
วงศ์:Halcyonidae
ชื่อวิทยาศาสตร์:Halcyon smyrnensis (Linnaeus) 1758.
ชื่อสามัญ:White-throated kingfisher
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ:นกกินปลาอกขาว , White-breasted kingfisher
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Halcyon smyrnensis ชื่อชนิดดังแปลงจากชื่อสถานที่ที่พบครั้งแรก คือเมือง Smyrna (Izmir) ในประเทศตุรกีทั่วโลกมีนกกระเต็นอกขาว 6 ชนิดย่อย ประเทศไทยพบ 1 ชนิดย่อยคือ Halcyon smyrnensis perpulchra von madarasz ชื่อชนิดย่อยมาจากรากศัพท์ภาษาละตินคือ per แปลว่าตลอด และ pulch, -ell, =er, -r แปลว่าสวยงาม ความหมายคือ “นกที่สวยงาม” พบชนิดย่อยนี้ครั้งแรกที่ประเทศสิงคโปร์
กระจายพันธุ์ : ในตะวันออกกลาง อินเดีย จีนตอนใต้ เกาะไหหลำ ไต้หวัน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฟิลิปปินส์ และหมู่เกาะอันดามัน
ลักษณะทั่วไป : เป็นนกขนาดเล็ก (27-28 ซม.) ปากสีแดง บริเวณคอหอยและอกเป็นสีขาว ตัดกับสีหัวและท้องซึ่งเป็นสีน้ำตาล ลำตัวด้านบนสีน้ำเงินสดขณะบินจะเห็นปีกด้านบนเป็นสีน้ำเงิน โคนขนปลายปีกมีแถบใหญ่สีขาว ปลายขนปลายปีกและขนคลุมขนปีกแถวนอกเป็นสีดำ ขนคลุมขนปีกแถวกลางเป็นสีน้ำตาลตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะและสีสันเหมือนกัน
อุปนิสัยและอาหาร : อาศัยและหากินตามทุ่งโล่งใกล้แหล่งน้ำทั้งน้ำจืดและน้ำทะเล เช่น ทุ่งนา ป่าละเมาะ ป่าชายเลน สวนผลไม้ และสองข้างถนน ในฤดูแล้งอาจพบนกกระเต็นอกขาวในป่า โดยเฉพาะป่าเต็งรังและป่าดงดิบแล้ง ซึ่งห่างไกลจากแหล่งน้ำพอสมควรตั้งแต่ระดับพื้นราบจนกระทั้งความสูง 1,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีกิจกรรมในเวลากลางวัน ปกติพบอยู่โดดเดี่ยวหรือเป็นคู่ ไม่ค่อยพบอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ มักพบมันเกาะตามสายไฟฟ้า กิ่งไม้ หรือตอไม้แห้งในลักษณะลำตัวตั้งเกือบตรง นกกระเต็นอกขาวเป็นนกที่บินได้ดีและค่อนข้างเร็ว ขณะเกาะกิ่งไม้สายไฟฟ้า หรือบินมักร้องเป็นเสียงดังกังวาน “แก๊ก-แก๊ก” สั้น ๆ และรัว นกกระเต็นอกขาวกินปลา กบ เขียด แมลง และสัตว์ขนาดเล็ก มันหาอาหารโดยเกาะกิ่งไม้ สายไฟฟ้าหรือที่เกาะต่าง ๆ ตาคอยจ้องหาเหยื่อในน้ำ ชายน้ำหรือในอากาศ เมื่อพบเหยื่อมันจะบินโฉบจับด้วยปากจากนั้นจะมาเกาะที่เดิมหรือบริเวณใกล้เคียง หากเหยื่อมีขนาดใหญ่ มันมักฟาดเหยื่อกับกิ่งไม้จนกระทั่งเหยื่อตาย แล้วกลืนกินเหยื่อทั้งตัว
การผสมพันธุ์ : นกกระเต็นอกขาวผสมพันธุ์ในช่วงฤดูร้อนระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคมทำรังในโพรงดินตามริมฝั่งแม่น้ำ ลำคลอง หรือเนินดินบริเวณที่ทำรังมักมีหญ้าปกคลุมพอประมาณ ทั้งสองเพศช่วยกันใช้ปากและเล็บขุดดินให้เป็นโพรง ปากโพรงกว้างประมาณ 4.0-5.0 ซม โพรงลึก 40-50 ซม. หรือมากกว่า ด้านในสุดมักกว้างมากเพื่อใช้วางไข่และมักไม่มีวัสดุรอง ไข่มีรูปร่างค่อนข้างกลม สีขาวนวลมีขนาดเฉลี่ย 25.4x28.7 มม. รังมีไข่ 4-5 ฟอง ทั้งสองจะผลัดกันฟักไข่ และเริ่มฟักไข่เมื่อออกไข่ฟองสุดท้ายของรังแล้ว ปกติมันฟักไข่ในเวลากลางคืนแต่ในช่วงที่ลูกนกกำลังฟักเป็นตัว มันจะฟักในเวลากลางวันบ้าง ใช้เวลาฟักไข่ 19-21 วัน
ลูกนก : ลูกนกแรกเกิดยังไม่ลืมตา ไม่มีขนปกคลุมลำตัวยายังไม่แข็งแรงพอจะยืนได้ ในช่วงนี้พ่อแม่จะช่วยกันกกให้ความอบอุ่นโดยให้ลูกซุกใต้ปีกหรือใต้ท้องและต้องช่วยกันหาอาหารมาป้อน ในช่วงแรกพ่อแม่จะนำอาหารไปป้อนในโพรง แต่เมื่อลูกนกแข็งแรงพอจะเดินภายในโพรงได้บ้างแล้ว พวกมันจะนำอาหารมายื่นให้ที่ปากโพรง ลูกนกเจริญเติบโตและพัฒนาขนปกคลุมลำตัวค่อนข้างเร็ว เพียง 2-3 สัปดาห์หลังออกจากไข่ มันจะมีขนปกคลุมทั่วลำตัวและเริ่มหัดบินในไม่ช้ามันจะทิ้งรังไปหากินตามลำพัง
สถานภาพ : นกกระเต็นอกขาวเป็นนกประจำถิ่นพบบ่อยและปริมาณมากทั่วทุกภาค
กฎหมาย : จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
แหล่งที่มาของภาพ
http://www.thaidphoto.com/forums/attachment.php?attachmentid=1697958087&stc=1&d=1304948251
https://i.ytimg.com/vi/yjQvu_Lhkzc/maxresdefault.jpg
http://oknation.nationtv.tv/blog/home/user_data/album_data/201402/06/53283/images/477225.jpg
http://www.lowernorthernbird.com/bird_picture/large/2015_01_04_05_42_57.jpg
แหล่งที่มาของเนื้อหา
จากหนังสือนกในเมืองไทย ผู้เขียน รศ.โอภาส ขอบเขต