นกกินแมลงป่าฝน

จาก ระบบฐานข้อมูลชนิดนกในอุทยานแห่งชาติแก่งกรุง อำเภอวิภาวดี จังหวัดสุราษฎร์ธานี
รุ่นปรับปรุงเมื่อ 00:39, 31 มกราคม 2563 โดย Kangkrungbird (พูดคุย | เรื่องที่เขียน) (ล็อก "นกกินแมลงป่าฝน" ([แก้ไข=อนุญาตเฉพาะผู้ดูแลระบบ] (ไม่มีกำหนด) [เปลี่ยนชื่อ=อนุญาตเฉพาะผ...)

(ต่าง) ←รุ่นปรับปรุงก่อนหน้า | รุ่นล่าสุด (ต่าง) | รุ่นปรับปรุงถัดไป→ (ต่าง)
Abbott's.jpg

วงศ์:Sylviinae
ชื่อวิทยาศาสตร์:Malacocincla abbotti (Blyth), 1845.
ชื่อสามัญ:Abbott's babbler
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ:นกกินแมลงป่าฝน , Abbott's jungle babbler

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Malacocincla abbotti ชื่อชนิดมาจากชื่อของพันโท J.R. Abbott (ค.ศ.1811-1888) ผู้ช่วยผู้ปกครองอาณานิคมของอังกฤษประจำหม่า ระหว่างปี ค.ศ.1837-1845 พบครั้งแรกที่ประเทศพม่า ทั่วโลกมี 9 ชนิดย่อย ประเทศไทยพบ 4 ชนิดย่อยคือ

  1. Malacocincla abbotti abbotti (Blyth) ที่มาของชื่อชนิดย่อยเช่นเดียวกับชนิด
  2. Malacocincla abbotti williamsoni Deignan ชื่อชนิดย่อยมาจากชื่อของ Kenneth Williamson นักปักษีวิทยาชาวอังกฤษ พบครั้งแรกที่จังหวัดนครราชสีมา
  3. Malacocincla abbotti obscurius (Deignan) ชื่อชนิดย่อยมาจากรากศัพท์ภาษาละตินคือ obscurus แปลว่าสีเข้มหรือสีเทา ความหมายคือ "มีสีค่อนข้างทึมหรือสีเทา" พบครั้งแรกที่จังหวัดจันทบุรี
  4. Malacocincla abbotti olivaceum (Strickland) ชื่อชนิดย่อยมาจากรากศัพท์ภาษาละตินคือ oliv, =a, -ace แปลว่าสีเขียว ความหมายคือ "สีออกเขียว" พบครั้งแรกที่ประเทศมาเลเซีย

Lekagul and Round (1991) ใช้ชื่อนกชนิดนี้ว่า นกกินแมลงป่าฝน คำว่าป่าฝนอาจแปลมาจากคำว่า rain forest ซึ่งก็คือ ป่าดิบชื้นหรือป่าดงดิบชื้นนั่นเอง ในหนังสือเล่มนี้จึงใช้ชื่อนกตามสภาพถิ่นที่อยู่อาศัยที่เป็นภาษาไทยคือป่าดิบ แทนคำว่าป่าฝน

กระจายพันธุ์ : ตั้งแต่เนปาลจนถึงอัสสัม เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกาะสุมาตรา และเกาะบอร์เนียว

ลักษณะทั่วไป : เป็นนกขนาดเล็ก (17 ซม.) สันขากรรไกรบนยาวกว่า 17 มม. ปีกปกติยาว 70 มม. หางยาวกว่า 49 มม. ปากใหญ่ กระห่อมและหลังสีน้ำตาลแกมเขียว หัวด้านข้างสีน้ำตาล หน้าผากมีลายขีดสีเหลือง แต่มองไม่เห็นเมื่อดูในธรรมชาติ คอหอยและท้องสีออกขาว อกสีน้ำตาลถึงเขียวแกมเหลือง สีข้างสีน้ำตาล แต่ชนิดย่อยที่พบทางตอนเหนือจะมีสีสดใสกว่า ขนคลุมโคนขนหางด้านล่างสีน้ำตาลเหลือง นิ้วสีซีด ท้องและกลางอกสีออกเหลือง

อุปนิสัยและอาหาร : พบตามป่าดงดิบแล้ง ป่าดงดิบชื้น และบางครั้งพบในป่ารุ่น ตั้งแต่พื้นราบจนกระทั่งความสูง 900 เมตรจากระดับน้ำทะเล มักพบอยู่โดดเดี่ยวหรือเป็นคู่ หากินตามกิ่งของไม้พุ่ม ลูกไม้ หรือไม้พื้นล่างในระดับเกือบติดพื้นดิน อาหารได้แก่ แมลง ตัวหนอน และไข่ของแมลง

การผสมพันธุ์ : ผสมพันธุ์ในช่วงฤดูร้อนต่อต้นฤดูฝนระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม ทำรังเป็นรูปถ้วย เส้นผาสศูนย์กลาง 12-15 ซม. รังอยู่ตามง่ามหรือกิ่งของไม้พุ่ม ลูกไม้ หรือกอหญ้า สูงจากพื้นดินประมาณ 0.45-1.8 เมตร วัสดุที่ใช้ทำรังประกอบด้วยหญ้า ใบไม้แห้ง และมอส แล้งรองพื้นรังด้วยรากฟอย รังมีไข่ 3-5 ฟอง

ไข่ : สีชมพู มีลายขีด ลายจุด และลายดอกดวงสีแดงเข้ม ขนาดของไข่โดยเฉลี่ย 16.2x21.8 มม. ทั้งสองเพศช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน ยังไม่ทราบระยะเวลาฟักไข่และเลี้ยงดูลูกอ่อน นกกินแมลงป่าดิบมักถูกนกคัดคูสีม่วงแอบมาวางไข่ในรังให้เจ้าของรังฟักไข่และเลี้ยงดูลูกอ่อนแทน

สถานภาพ : เป็นนกประจำถิ่น พบบ่อยและปริมาณปานกลาง ชนิดย่อย williamsoni พบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (จังหวัดนครราชสีมา) ชนิดย่อย obscurius พบทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ชนิดย่อย abbotti พบทางภาคตะวันตกและภาคใต้จนถึงจังหวัดสตูล และชนิดย่อย olivaceum พบทางภาคใต้ตอนใต้สุด

กฎหมาย : จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง


Abbott's1.jpg Abbott's2.jpg Abbott's3.jpg

แหล่งที่มาของภาพ
https://www.google.com/search?biw=1536&bih=706&tbm=isch&sxsrf=ACYBGNSDrwnpGZfjXzSQIuy4KqK4yYCHPQ%3A1573048397944&sa=1&ei=TdDCXY-fOfTCz7sP_-mskAs&q=%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%9D%E0%B8%99&oq=%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%9D%E0%B8%99&gs_l=img.3..0.519015.531967..533113...3.0..0.1089.6298.9j1j1j6-1j4......0....1..gws-wiz-img.......35i39j0i24.D1Zh2iUK4HA&ved=0ahUKEwjP-eT33dXlAhV04XMBHf80C7IQ4dUDCAc&uact=5
https://www.birdsofthailand.org/sites/default/files/photo/image_585.jpg
http://www.lowernorthernbird.com/bird_picture/large/2018_04_15_18_59_55.jpg
http://www.lowernorthernbird.com/bird_picture/large/2010_09_22_14_30_58.jpg

แหล่งที่มาของเนื้อหา
จากหนังสือนกในเมืองไทย ผู้เขียน รศ.โอภาส ขอบเขต