นกตะขาบทุ่ง

จาก ระบบฐานข้อมูลชนิดนกในอุทยานแห่งชาติแก่งกรุง อำเภอวิภาวดี จังหวัดสุราษฎร์ธานี
รุ่นปรับปรุงเมื่อ 23:11, 7 กุมภาพันธ์ 2563 โดย Kangkrungbird (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)

(ต่าง) ←รุ่นปรับปรุงก่อนหน้า | รุ่นล่าสุด (ต่าง) | รุ่นปรับปรุงถัดไป→ (ต่าง)
Indian1.jpg

วงศ์:Coraciidae
ชื่อวิทยาศาสตร์:Coracias benghalensis (Linnaeus) 1758.
ชื่อสามัญ:Indian roller
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ:Black-billed roller, Northern roller, Blue jay

นกตะขาบทุ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Coracias benghalensis ชื่อชนิดดัดแปลงจากชื่อสถานที่ที่พบครั้งแรก คือรัฐเบงกอล ประเทศอินเดีย ทั่วโลกมีนกตะขาบทุ่ง 3 ชนิดย่อย ประเทศไทยพบ 1 ชนิดย่อย คือ Coracias benghalensis affinis McClelland ชื่อชนิดย่อยมาจากรากศัพท์ภาษาละตินคือ affinis หรือ affini แปลว่าสัมพันธุ์หรือเกี่ยวข้องกัน ความหมายคือ “มีลักษณะไม่แตกต่างจากชนิดย่อยอื่น” พบครั้งแรกที่รัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย

กระจายพันธุ์ : ตั้งแต่ตะวันออกกลางจีนด้านตะวันตกเฉียงใต้ จนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ลักษณะทั่วไป : เป็นนกขนาดเล็ก-กลาง (32-33 ซม.) ทั้งสองเพศมีลักษณะและสีสันเหมือนกันขณะเกาะจะเห็นลำตัวส่วนใหญ่เป็นสีน้ำตาล แต่เมื่อกางปีกหรือบินจะเห็นปีกมีแถบสีน้ำเงินสด บริเวณหัวและหางเป็นสีฟ้าอมเขียว ปีกสีน้ำเงิน ลำตัวสีน้ำตาลบริเวณอกมีลายขีดเล็ก ๆ สีเขียวอมฟ้ากระจายห่าง ๆ

อุปนิสัยและอาหาร : อาศัยอยู่ตามทุ่งนา ไร่ ป่าละเมาะ และป่าโปร่ง เช่น ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณเป็นต้น ตั้งแต่ระดับพื้นราบจนกระทั่งความสูง 1,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีกิจกรรมและหากินในเวลากลางวัน พบอยู่โดดเดี่ยวหรือเป็นคู่ ไม่ค่อยพบเป็นฝูงนอกจากเป็นครอบครัว มักพบเกาะสายไฟฟ้าข้างถนนและตามกิ่งไม้แห้งหรือยอดไม้ บางครั้งพบกระโดดตามพื้นดิน บินได้ดี นกตะขาบทุ่งร้องเสียงดังกังวาน “ต้า-ต้า” ซ้ำกันหลายครั้ง แต่ละครั้งทิ้งช่วงห่างกันเล็กน้อย ส่วนใหญ่เป็นการร้องเพื่อประกาศอาณาเขตและเกี้ยวพาราสี นกตะขาบทุ่งกินแมลงและสัตว์ขนาดเล็ก โดยเกาะตามสายไฟฟ้าหรือกิ่งไม้ ตาคอยจ้องหาเหยื่อตามพื้นดิน เมื่อพบเหยื่อมันจะบินลงมาโฉบจับด้วยปากแล้วคาบขึ้นไปกินบริเวณที่เกาะเดิม ถ้าเหยื่อมีขนาดใหญ่เกินกว่าจะกลืนได้ทั้งตัว เช่น ปู กบ หนู มันจะใช้กรงเล็บช่วยจับ แล้วคาบไปฟาดกับที่เกาะ หรือฟาดกับพื้นจนเหยื่อตายก่อนฉีกกินเป็นชิ้น ๆ จากนั้นมันจะบินไปเกาะที่เดิมเพื่อคอยจ้องหาเหยื่อต่อไป เกรียงไกร (2527) วิเคราะห์อาหารในกระเพาะพักของนกตะขาบทุ่ง พบว่าส่วนใหญ่ได้แก่ตัวอ่อนของเหลือบประมาณร้อยละ 29.58 ของปริมาณอาหารทั้งหมดรองลงมาได้แก่ ตั๊กแตนหนวดสั้น ประมาณร้อยละ 25.35 นอกจากนี้เป็นแมลงอีกหลายชนิด เช่น จิ้งหรีด แมลงกระชอน มวนแดง แมลงเหนี่ยง ด้วงดิน ด้วงดีด ด้วงงวง ผีเสื้อเจาะลำต้น และสัตว์อื่น ๆ เช่น คางคกบ้าน ตะขาบ ปู แมงมุม เป็นต้น

การผสมพันธุ์ : นกตะขาบทุ่งผสมพันธุ์ในช่วงฤดูร้อนระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน ตัวผู้เกี้ยวพาราสีตัวเมียโดยบินไปเกาะข้าง ๆ แล้วส่งเสียงร้องจากนั้นจะบินขึ้นไปในอากาศเหนือที่เกาะข้างตัวเมียอีก หากตัวเมียไม่สนใจตัวเมียจะบินหนีไป แต่หากตัวเมียสนใจตัวเมียจะเกาะอยู่กับที่ ตัวผู้อาจทำเช่นเดิมซ้ำอีก 1-2 ครั้ง จากนั้นจะผสมพันธุ์กัน ทั้งสองเพศช่วยกันหาสถานที่ทำรัง ซึ่งมักเป็นโพรงไม้ที่เกิดตามธรรมชาติหรือที่สัตว์อื่นทำไว้ บางครั้งทำรังบนตอไม้หรือต้นไม้ยอดด้วน เช่น ตอมะพร้าวที่ถูกด้วงเจาะ เป็นต้นปกตินกตะขาบทุ่งจะเลือกโพรงที่อยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 4-5 เมตร โพรงมีขนาดไม่แน่นอน จากนั้นพวกมันจะช่วยกันหาวัสดุ เช่น ใบไม้ ใบหญ้า มารองรับไข่

ไข่ : ของนกตะขาบทุ่งมีรูปร่างเกือบกลม สีขาว มีขนาดเฉลี่ย 27.6x33.5 มม. รังมีไข่ 4 ฟอง หายากที่มี 5 ฟอง ทั้งสองเพศช่วยกันฟักไข่ โดยเริ่มฟักหลังจากที่ออกไข่ฟองสุดท้ายแล้ว ใช้เวลาฟักไข่ทั้งสิ้น 17-19 วัน แต่ส่วนใหญ่ใช้เวลา 18 วัน ลูกนกแรกเกิดมีความยาวประมาณ 8 ซม. ยังไม่ลืมตา มีรูปร่างเทอะทะ ตาโต ท้องป่อง และไม่มีขนปกคลุมลำตัว เมื่ออายุ 3-4 วันจะมีตุ่มขนขึ้นตามผิวหนังทำให้ผิวดูเป็นสีดำมากขึ้น ในช่วงแรกนี้ลูกนกยังช่วยเหลือตนเองไม่ได้ พ่อแม่ต้องช่วยกันกกและอาหารมาป้อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตัวหนอนและแมลง ลูกนกอายุ 3-4 สัปดาห์จะแข็งแรงและบินได้ จากนั้นทั้งหมดจะทิ้งรังไปหากินตามลำพัง ลูกนกอายุ 1 ปีจะเป็นตัวเต็มวัยและสามารถผสมพันธุ์ได้

สถานภาพ : นกตะขาบทุ่งเป็นนกประจำถิ่นพบบ่อยและปริมาณปานกลางทั่วทุกภาค

กฎหมาย :จัดนกตะขาบทุ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง

ลิงค์ข้อมูลเพิ่มเติม

https://www.youtube.com/watch?v=UYijtXQDRJo//https:
>>> นกตะขาบทุ่ง <<<


Indian roller5.jpg Indian roller6.jpg Indian roller7.jpg

แหล่งที่มาของภาพ
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/2/29/Indian_Roller_Bandhavgarh.jpg
https://dktnfe.com/web59/wp-content/uploads/2014/09/roller1ob_copy1.jpg
http://adeq.or.th/wp-content/uploads/2016/09/%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B8%B0%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%87-495x400.jpg
https://www.google.com/search?biw=1536&bih=754&tbm=isch&sxsrf=ACYBGNQ_mqNNsVPStd95up1DraSlHtTNsA%3A1574257285740&sa=1&ei=hULVXdn3LJyO4-EPmp278As&q=%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B8%B0%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%87&oq=%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B8%B0%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%B8&gs_l=img.1.0.35i39l2j0l3j0i24l5.459727.465870..467572...2.0..0.95.862.10......0....1..gws-wiz-img.......0i131.o1BIdkJ8Zsg#imgrc=4m42tHsL-35VrM:

แหล่งที่มาของเนื้อหา
จากหนังสือนกในเมืองไทย ผู้เขียน รศ.โอภาส ขอบเขต