ทุเรียนผี

จาก การจัดเก็บข้อมูลพรรณไม้ป่าภาคใต้ในอุทยานแห่งชาติแก่งกรุงอำเภอวิภาวดีจังหวัดสุราษฎร์ธานี

ชื่อไทย : ทุเรียนผี ช้างแหก ช้างแฮะ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Neesia altissima (Blume)
ชื่อวงศ์ : BOMBACACEAE
ไม้ต้น ไม่ผลัดใบ สูงถึง 30 ม. เปลือกสีน้ำตาลอมเทา เปลือกในสีแดง แตกเป็นร่องตั้งและเป็นแผ่น

  • ใบ กว้าง 9-18 ซม. ยาว 15-40 ซม. รูปขอบขนานถึงรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ปลายกลมหรือจัก โคนกลมหรือกึ่งรูปหัวใจ ขอบเรียบ เนื้อคล้ายหนัง สีเขียวเข้มและเกลี้ยงด้านบน ด้านล่างเกลี้ยงหรือมีขนรูปดาวทั่วไปและมีเกล็ดเป็นฝอยส่วนมากบนเส้นใบ เส้นใบ 14-22 คู่ ตรง เห็นชัด ก้านใบยาว 3-9 ซม. ใหญ่ล่ำ ป่องที่ปลายทั้งสองด้าน ตายอดปกคลุมด้วยหูใบแคบชัดกว้าง 0.5-0.8 ซม. ยาว 2-4 ซม.
  • ดอก ออกเป็นช่อแน่นสั้น ตามกิ่งใหญ่ใต้รอยแผลใบ ก้านดอกยาว 1.5-2 ซม. ใหญ่ล่ำ มีริ้วประดับ 3 ใบที่ปลาย มีเกล็ดแน่น ตาดอกรูปไข่หรือกลม กลีบเลี้ยงเส้นผ่าศูนย์กลางยาว 1-1.5 ซม. เริ่มจากเป็นรูปกรวย แล้วเป็นรูปชาม ขอบโค้งเข้า สีม่วงอมแดง แก่สีน้ำตาลเข้ม ปลายแยกไม่เป็นระเบียบ ด้านนอกมีเกล็ดสีน้ำตาลอมเหลือง ด้านในสีเหลืองอ่อนและเกลี้ยง กลีบดอก 5 กลีบ แยก กว้างประมาณ 3 ซม. ยาวประมาณ 5 ซม. สีขาวหรืออมเหลือง รูปรีโค้ง ปลายแหลม ร่วงเร็ว เกสรตัวผู้เชื่อมติดกันเป็นท่อสีเหลืองอ่อนล้อมรังไข่ ก้านเกสรตัวเมียรูปโคนแคบ ค่อยๆเรียวแหลมไปยังปลาย มีขนกระจาย
  • ผล กว้าง 10-15 ซม. ยาว 15-20 ซม. รูปขอบขนาน มีสันชัด 5 สัน หนาแข็ง มีปุ่ม (เหมือนผิวจระเข้) สีม่วงออกแดง แก่สีน้ำตาลเข้ม แตกเป็น 5 เสี่ยง เมล็ดสีดำหลายเมล็ด ปกคลุมด้วยขนหยาบสีทอง คันมาก

พบบ่อยในป่าดิบชื้น สูงถึง 300 ม. ตั้งแต่ จ.ระนองลงไป ผลนั้นจะมีลักษณะชัด จะคงอยู่อีกนานหลังจากร่วงแล้ว และสังเกตได้ง่ายตามพื้นป่า