มะจ้ำก้อง

จาก การจัดเก็บข้อมูลพรรณไม้ป่าภาคใต้ในอุทยานแห่งชาติแก่งกรุงอำเภอวิภาวดีจังหวัดสุราษฎร์ธานี

ชื่อไทย : มะจ้ำก้อง กระดูกไก่ กาลังกาสาตัวผู้ เหมือด
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ardisia colorata Roxb.
ชื่อวงศ์ : MYRSINACEAE
ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูง 1.5-4 ม. กิ่งอ่อนคล้ายทรงกระบอก หรือเป็นเหลี่ยม เล็กน้อย เรือนยอดรูปไข่ โปร่ง แตกกิ่ง ตั้งฉากกับลำต้น เปลือกของลำต้นชั้นนอก เรียบ สีน้ำตาล เปลือกในสีน้ำตาลอ่อน

  • ใบ เดี่ยว เรียงสลับ รูปรีหรือรูปรีแกมรูป ขอบขนาน ขนาด 4-7 x 12-20 ซม. ปลายแหลม ถึงเรียวแหลม โคนสอบ ขอบเรียบ เนื้อบาง ถึงค่อนข้างหนา ผิวด้านบนเกลี้ยง สีเขียว เข้มเป็นมัน ผิวด้านล่างมีเกล็ดสีน้ำตาล สีเขียวนวล มีต่อม เป็นจุดสีดำกระจายทั่ว ทั้งสองด้านของแผ่นใบ ปลายยอดมีหูใบ รูปดาบโค้งสีน้ำตาล ผิวมีเกล็ดสีน้ำตาล ปกคลุมหนาแน่น เส้นแขนงใบข้างละ 10-14 เส้น
  • ดอก ออกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนง ที่ ปลายกิ่ง ยาว 6-12 ซม. กลีบเลี้ยงและ กลีบดอก ชั้นละ 5 กลีบ แต่ละกลีบแยกอิสระ กลีบดอกรูปไข่ ปลายแหลม สีชมพู เกสรเพศผู้มีอับเรณูรวมเป็นกระจุก ทรงไข่ ปลายแหลม ที่กลางวงกลีบดอก
  • ผล สด เมล็ดเดียวแข็ง ค่อนข้างกลม ขนาด เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3.5 มม. ผิวเกลี้ยง สีม่วงชมพู มีจุดโปร่งแสงกระจายทั่วไป

พบในป่าดิบ ทางภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออก และภาคใต้ ที่ความสูง จากระดับน้ำทะเลปานกลาง 200-800 ม.