นกกระจอกบ้าน

จาก ฐานข้อมูลนกในพื้นที่ชุ่มน้ำในบางอำเภอเมืองจังหวัดสุราษฎร์ธานี
Passer Montanus01.jpg

วงศ์ : Passeridae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Passer montanus (Linnaeus) 1758.
ชื่อสามัญ : Eurasian tree sparrow
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ : European tree sparrow , Tree sparrow

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Passer Montanus ชื่อชนิดมาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือ mont, -an, -i หรือ montis แปลว่าภูเขา ความหมายคือ "นกที่พบบริเวณที่สูง" พบครั้งแรกบริเวณตอนเหนือของประเทศอิตาลี ทั่วโลกมี 10 ชนิดย่อย ประเทศไทยพบ 1 ชนิดย่อย คือ Passer montanus malaccensis A. Dubois ชื่อชนิดย่อยมาจากชื่อสถานที่ที่พบครั้งแรกคือ Malacca ประเทศมาเลเซีย

กระจายพันธุ์ : ในยุโรป ยูเรเซีย อินเดีย จีน เกาะไหหลำ ไต้หวัน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หมู่เกาะซุนดาใหญ่ และมีการนำเข้าไปในฟิลิปปินส์ เกาะสุลาเวซี เกาะต่าง ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา

ลักษณะทั่วไป : เป็นนกขนาดเล็กมาก (15 ซม.) ทั้งสองเพศมีลักษณะและสีเหมือนกัน ปากอ้วนสั้นเป็นปากกรวย หัวค่อนข้างใหญ่ คอสั้น ปีกสั้น ปลากปีกมน หางค่อนข้างสั้น ปลายหางหยักเว้าไปทางโคนหางเล็กน้อย ขาค่อนข้างสั้น กระหม่อมสีน้ำตาลเข้ม หัวด้านข้างและคอสีขาว ขนบริเวณหูมีแถบสีดำ คอหอยสีดำ ลำตัวด้านบนและปีกสีน้ำตาลเข้ม ขนปลายปีกและขนโคนปีกแถบสีขาวสองแถบลำตัวด้านล่างสีน้ำตาลอ่อน

อุปนิสัยและอาหาร : อาศัยและหากินเฉพาะตามหมู่บ้านหรือบริเวณใกล้เคียงกับหมู่บ้าน ตั้งแต่พื้นราบจนกระทั่งความสูง 1,800 เมตรจากระดับน้ำทะเล แต่ส่วนใหญ่จะพบในระดับต่ำ อาจพบอยู่เป็นคู่หรือเป็นฝูงใหญ่ เป็นนกที่คุ้นเคยกันมากชนิดหนึ่งและนับเป็นนกที่รบกวนความเป็นอยู่ของคนมากชนิดหนึ่ง เพราะชอบเกาะตามชายคา หลังคา ขื่อ แป ซอกมุมของบ้านเรือน หรือแม้กระทั่งโคมไฟที่ห้อยหรือแขวนตามเพดานหรือผนังบ้าน จากนั้นก็ถ่ายหรือทำรัง ทำให้บ้านเรือนสกปรก นอกจากอาคารบ้านเรือนแล้ว ยังเกาะตามกิ่งไม้ สายไฟฟ้า สายโทรศัพท์ และบางครั้งก็ลงมายังพื้นดิน เป็นนกที่ส่งเสียงร้องเซ็งแซ่ โดยเฉพาะช่วงตอนเย็นก่อนมือค่ำ เนื่องจากแย่งที่เกาะนอน เมื่อมืดแล้วเสียงจึงค่อยเงียบไป และมาดังอีกช่วงเช้าตรู่เมื่อแยกกันออกไปหากิน อาหารได้แก่ เมล็ดข้าวเปลือก ธัญพืช เมล็ดหญ้า แมลง ตัวหนอน และสัตว์ขนาดเล็ก สำหรับเมล็ดข้าวเปลือก มันจะกินทั้งในนาและในยุ้งฉาง จึงนับว่าเป็นนกที่ทำลายข้าวในยุ้งฉางมากชนิดหนึ่ง นกกระจอกบ้านมีพฤติกรรมอาบน้ำและอาบฝุ่น ซึ่งมักเห็นเป็นประจำเกือบทุกฤดูกาล

การผสมพันธุ์  : ผสมพันธุ์เกือบตลอดปี ทำรังตามชายคาบ้าน ขื่อ แป ซอกหลังคาบ้าน บานเกล็ด โคมไฟฟ้าที่แขวนตามเพดาน ผนังอาคารบ้านเรือน และสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ทั้งสองเพศช่วยกันหาวัสดุ โดยเฉพาะหญ้าแห้ง รังมีรูปร่างขึ้นอยู่กับบริเวณและรูปร่างของสิ่งก่อสร้าง ส่วนใหญ่เป็นรูปกระโจมหรือทรงกลม มีทางเข้าออกทางด้านข้าง รังมีไข่ 4-6 ฟอง

ไข่ : สีขาวถึงน้ำตาลอ่อนเป็นมันไม่มีลาย ขนาดของไข่โดยเฉลี่ย 13.9x18.2 มม. ทั้งสองเพศช่วยกันฟักไข่ ใช้เวลาฟักไข่ 11-12 วัน ลูกนกที่ออกจากไข่ใหม่ ๆ มีรูปร่างเทอะทะ หัวโต ตาโปน ท้องป่อง ยังไม่ลืมตา ไม่มีขนคลุมลำตัว และขายังไม่แข็งแรงพอจะยืนหรือเดินได้ ทั้งสองเพศจะช่วยกันกกลูกและหาอาหารมาป้อน ในช่วงแรกอาหารที่นำมาป้อนส่วนใหญ่เป็นตัวหนอนและแมลง โดยพ่อแม่จะคาบมาป้อนใส่ปากของลูกซึ่งคอยอ้ารับอยู่ ลูกเจริญเติบโตและพัฒนาขนคลุมเต็มตัวลำตัวค่อนข้างเร็วมาก อายุ 3 สัปดาห์จะมีขนคลุมเต็มตัวและสามารถบินได้

สถานภาพ : เป็นนกประจำถิ่น พบบ่อยและปริมาณมาก พบทุกภาค

กฎหมาย : ยังไม่จัดเป็นสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง


Passer Montanus02.JPG Passer Montanus03.jpg Passer Montanus04.jpg


แหล่งที่มาของภาพ
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/f/f4/Passer_montanus_-Japan_-front-8.jpg
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/4/40/Passer_montanus_saturatus.JPG/1280px-Passer_montanus_saturatus.JPG
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/9/98/Passer_montanus_-Russia_-flock-8.jpg
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/6/6b/Tree-Sparrow-2009-16-02.jpg