นกยางกรอกพันธุ์ชวา

จาก ฐานข้อมูลนกในพื้นที่ชุ่มน้ำในบางอำเภอเมืองจังหวัดสุราษฎร์ธานี
Ardeola speciosa01.jpg

วงศ์ : Ardeidae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ardeola speciosa (Horsfield) 1821.
ชื่อสามัญ : Javan pond heron
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ : -

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ardeola speciosa ชื่อชนิดมาจากรากศัพท์ภาษาละคือ specios หรือ speciosus แปลว่าสะดุดตาหรือสวยงาม ความหมายคือ “นกยางขนาดเล็กที่มีสีสันสวยงาม” พบครั้งแรกที่เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย ไม่มีการแบ่งเป็นชนิดย่อย

กระจายพันธุ์ : ในเทือกเขาตะนาวศรี ไทย กัมพูชา เกาะบอร์เนียว เกาะชวา เกาะสุลาเวซี และหมู่เกาะซุนดาน้อย

ลักษณะทั่วไป : เป็นนกขนาดกลาง (46 ซม.) ปากยาวตรง หัวค่อนข้างใหญ่ คอยาวพอประมาณแต่เวลายืนพักผ่อนมักจะหดคอสั้น ปีกยาว ปลายปีกมน ขายาวปานกลาง นิ้วยาว ทั้งสองเพศมีลักษณะและสีเหมือนกัน ช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์และตัวไม่เต็มวัยลำตัวด้านบนสีน้ำตาล หัวและอกสีน้ำตาลออกเหลืองมีลายขีดสีน้ำตาลเข้ม ท้องและปีกด้านล่างสีขาว เวลาบินจะเห็นสีขาวเป็นส่วนใหญ่ ช่วงฤดูผสมพันธุ์หัวและคอสีน้ำตาลออกเหลืองไม่มีลาย หลังสีน้ำตาลเข้ม อกสีส้ม แต่เวลาบินยังเห็นสีขาวเป็นส่วนใหญ่ บริเวณท้ายทอยมีขนเปียสีน้ำตาลออกเหลือง 2 เส้น

อุปนิสัยและอาหาร : อาศัยอยู่ตามหนองน้ำ นาข้าว ป่าชายเลน และบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง มีกิจกรรมตลอดทั้งวัน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นช่วงเช้าตรู่ ปกติหากินตามชายน้ำ แต่ก็พบเป็นประจำว่ามันเกาะตามพืชลอยน้ำในบึง หนอง หรือทะเลสาบซึ่งมีระดับน้ำลึกสามารถเกาะกิ่งไม้ได้ดี และชอบเกาะกิ่งไม้แห้งเพื่อพักผ่อนหลังจากหากินอิ่มแล้ว เวลาบินมักร้อง “กรอก – กรอก” อาหารได้แก่สัตว์น้ำ เช่น ปลา กุ้ง กบ เขียด แมลง เป็นต้น มักใช้วิธีเดินลุยไปในน้ำ บนบก หรือยืนจ้องหาเหยื่อบนพืชลอยน้ำ เมื่อเห็นเหยื่อจะใช้ปากจิกอย่างรวดเร็ว บ่อยครั้งก็พบมันเดินตามสัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย เพื่อคอยจิกแมลงที่บินขึ้นหลังจากที่สัตว์เหล่านั้นเดินย่ำไปตามพื้นหญ้า หรืออาจเดินตามคนไถนาหรือรถไถนาเพื่อกินสัตว์ในดินที่ถูกไถพลิกขึ้นมา

การผสมพันธุ์ : นกยางกรอกพันธุ์ชวาผสมพันธุ์ในช่วงฤดูหนาวถึงฤดูร้อนระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน ทำรังรวมกันเป็นกลุ่มตามต้นไม้และกอไผ่ซึ่งสูงจากพื้นดิน 2 – 5 เมตร และอาจทำรังบนต้นไม้ต้นเดียวกันกับนกอีกหลายชนิด เช่น นกยางเปีย นกแขวก เป็นต้น รังเป็นแบบง่าย ๆ ทั้งสองเพศจะช่วยกันหากิ่งไผ่หรือเรียวไผ่และต้นหญ้ามาวางซ้อนกัน แล้วทำแอ่งตรงกลางเพื่อรองรับไข่ โดยทั้งไปรังมีเส้นผ่านศูนย์กลางขอบนอก 28 – 32 ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางขอบใน 22 – 24 ซม. และแอ่งตรงกลางลึก 4 – 7 ซม. รังอาจมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เพาะมันจะคอยเสริมรังให้แข็งแรงเสมอเมื่อวัสดุเก่าผุพังหรือมีจำนวนไข่เพิ่มขึ้น

ไข่ : เป็นรูปรี สีเขียวไม่มีลายหรือผงปกคลุม มีขนาดเฉลี่ย 28.2X38.1 มม. รังมีไข่ 3 – 5 ฟอง ทั้งสองเพศผลัดกันฟักไข่ตั้งแต่ออกไข่ฟองแรก โดยขณะตัวหนึ่งฟักไข่ อีกตัวหนึ่งจะไปหาอาหารและหาวัสดุมาเสริมรัง หรือเกาะอยู่ข้างรังเพื่อระวังภัยจากนกตัวอื่นทั้งที่เป็นชนิดเดียวกันและต่างชนิดกันที่มักมาแย่งวัสดุไปเสริมหรือสร้างรังของตัวเอง ใช้เวลาฟักไข่ประมาร 20 – 22 วัน ลูกนกจะใช้ฟันเจาะเปลือกไข่ออกมาเอง ลูกนกแรกเกิดมีรูปร่างเทอะทะ หัวโต ท้องป่อง มีขนอุยปกคลุมลำตัวด้านบนเล็กน้อย ผิวหนังส่วนที่ไม่มีขนเป็นสีน้ำตาลออกแดง อายุได้ 2 – 3 สัปดาห์ จะเริ่มมีขนสีขาวตามลำตัว และมีขนสีเทาเข้มที่หัวและคอ อายุ 5 – 6 สัปดาห์ขนบริเวณหัวและคอจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลปนเทา อายุ 8 – 10 สัปดาห์จะมีสีเหมือนตัวเต็มวัยและบินได้แข็งแรง ในช่วงที่ออกจากไข่จนกระทั่งก่อนบิน พ่อแม่ต้องช่วยกันหาอาหารมาป้อนโดยสำรอกอาหารเข้าสู่ปากลูกนกซึ่งอ้าปากรอรับเหมือนจะงับปากพ่อแม่ไว้ พ่อแม่จะเลี้ยงดูลูกนกจนกระทั่งบินได้เก่งและหาอาหารเองได้จึงนะทิ้งรังไป

สถานภาพ : เป็นนกประจำถิ่น พบบ่อยและปริมาณค่อนข้างมาก โดยเฉพาะทางภาคกลาง พรทิพย์ (2523) รายงานว่า เป็นนกที่พบในปริมาณปานกลางในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง และที่ทะเลสาบสงขลา จังหวัดสงขลา โดยที่นกเหล่านี้อาจเป็นนกประจำถิ่นหรือนกที่อพยพมาช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์

กฎหมาย : จัดนกยางกรอกพันธุ์ชวาเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง


Ardeola speciosa02.jpg Ardeola speciosa03.jpg Ardeola speciosa04.jpg


แหล่งที่มาของภาพ
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/6/62/Ardeola_speciosa_speciosa(2).JPG/1280px-Ardeola_speciosa_speciosa(2).JPG
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/f/f0/Ardeola_speciosa_speciosa(1).JPG
https://c1.staticflickr.com/9/8120/8713246437_6150908581_b.jpg
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/7/73/Ardeola_speciosa_speciosa(3).JPG