นกบั้งรอกใหญ่

จาก ฐานข้อมูลนกในพื้นที่ชุ่มน้ำในบางอำเภอเมืองจังหวัดสุราษฎร์ธานี
Phaenicophaeus tristis01.jpg

วงศ์ : Cuculidae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phaenicophaeus tristis (Lesson) 1830.
ชื่อสามัญ : Green-billed malkoha
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ : Greater green-billed malkoha , Large green-billed malkoha

นกบั้งรอกใหญ่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Phaenicophaeus tristis ชื่อชนิดมาจากรากศัพท์ภาษาละตินคือ trist, -I แปลว่าเศร้า ความหมายคือ “นกที่มีสีไม่ฉูดฉาด (สีแห่งความเศร้า)” พบครั้งแรกที่รัฐเบงกอลประเทศอินเดีย Howard and Moore (1980) จัดนกบั้งรอกใหญ่ไว้ในสกุล Rhopodytes ขณะที่ Smythies (1986) ถือว่า Rhopodytes เป็นชื่อพ้องของสกุล ทั่วโลกมีนกบั้งรอกใหญ่ 6 ชนิดย่อย ประเทศไทยพบ 2 ชนิดย่อยคือ Phaenicophaeus tristis saliens (Mayr) ชื่อชนิดย่อยมาจากรากศัพท์ภาษาละตินคือ salien, -t แปลว่ากระโดด ความหมายคือ “นกที่มักกระโดดไปมา” พบครั้งแรกที่ประเทศลาวและ Phaenicophaeus tristis longicaudatus Blyth ชื่อชนิดย่อยมาจากรากศัพท์ภาษาละตินคือ long, -i หรือ longus แปลว่ายาว และ caudatus (caud, =a) แปลว่าหาง ความหมายคือ “นกที่มีหางยาว” พบครั้งแรกที่ Maulmain (Moulmein) ประเทศพม่า

กระจายพันธุ์ : ในเทือกเขาหิมาลัยจีนตอนใต้ เกาะไหหลำ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเกาะสุมาตรา

ลักษณะทั่วไป : เป็นนกขนาดกลาง (51-56 ซม.) เฉพาะหางยาวประมาณ 37-38 ซม. ซึ่งจัดว่ายาวมากปีกแต่ละข้างขาวมากกว่า 14 ซม. ปากสีเขียวอ่อนหนังรอบตาสีแดง ลำตัวด้านบนสีเทาแกมเขียวเข้มลำตัวด้านล่างสีเทาอ่อน คอยหอยและอกสีจะจางกว่า ท้องเล็กน้อย ปลายขนหางสีขาว ขนหางด้านล่างมีลายแถบสีขาว 5 แถบ

อุปนิสัยและอาหาร : อาศัยอยู่ตามป่าทั่วไป เช่น ป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบแล้ง ป่าดงดิบเขา ป่าดงดิบชื้นและป่าชายเลน ตั้งแต่ระดับพื้นราบจนกระทั่งความสูง 1,685 เมตรจากระดับน้ำทะเล ส่วนใหญ่พบอยู่เป็นคู่ตลอดทั้งปี นกบั้งรอกใหญ่เป็นนกที่ชอบอยู่นิ่ง ๆ ไม่ค่อยเคลื่อนไหว ปกติมันเกาะตามกิ่งไม้ที่มีใบแน่นทึบจึงสังเกตเห็นตัวได้ยาก นอกจากเห็นมันบินในระยะใกล้ ๆ แต่ส่วนใหญ่มันจะกระโดดไปตามกิ่งไม้ด้วยลักษณะคล้ายกระรอก บางครั้งลงมายังพุ่มไม้หรือไม้พื้นล่างที่มีใบแน่นทึบ อาหาร ได้แก่ ตัวหนอนและแมลง เช่น ตั๊กแตนกิ่งไม้ ตั๊กแตนใบไม้ จักจั่น เป็นต้น นอกจากนี้ยังกินสัตว์เลื้อยคลานจำพวกกิ้งก่าและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก มันหาอาหารโดยกระโดดตามกิ่งไม้และยอดไม้ เมื่อพบเหยื่อก็ใช้ปากจิกกิน หากเหยื่อมีขนาดใหญ่มันอาจใช้ปากงับเหยื่อจนกระทั่งเหยื่อตาย จากนั้นจึงจิกฉีกเหยื่อกินทีละชิ้น

การผสมพันธุ์ : นกบั้งรอกใหญ่ผสมพันธุ์ในช่วงฤดูร้อนต่อฤดูฝนระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนสิงหาคมซึ่งมักแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องที่ ทำรังตามยอดไม้หรือยอดไผ่ ซึ่งสูงจากพื้นดินประมาณ 3-7 เมตร รังมีขนาดค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับขนาดตัว รังเป็นรูปถ้วยคล้ายกับรังพวกนกเขา ประกอบด้วยกิ่งไม้ กิ่งไผ่และเถาวัลย์ มีการสานกันเล็กน้อย แล้วนำใบไม้สดมาวางในแอ่งกลางรังเพื่อรองรับไข่

ไข่ : มีรูปร่างค่อนข้างยาวสีขาว มีผงคล้ายผลชอล์กคลุมบางส่วน มีขนาดเฉลี่ย 25.8x33.8 มม. รังมีไข่ 2-4 ฟอง ส่วนใหญ่มี 3 ฟอง ทั้งสองเพศช่วยกันสร้างรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน ลูกนกแรกเกิดยังไม่ลืมตาและไม่มีขนปกคลุมลำตัว พ่อแม่ต้องกกและเลี้ยงดูจนลูกนกแข็งแรงและบินได้ดีแล้ว พวกมันจึงจะทิ้งรัง

สถานภาพ : นกบั้งรอกใหญ่เป็นนกประจำถิ่นพบบ่อยและปริมาณปานกลาง ชนิดย่อย saliens พบทางภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนชนิดย่อย longicaudatus พบทั่วประเทศ แต่ไม่พบสองชนิดย่อยในบริเวณเดียวกัน

กฎหมาย : จัดนกบั้งรอกใหญ่ทุกชนิดย่อยเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง