นกหัวขวานสามนิ้วหลังทอง

จาก ฐานข้อมูลนกในพื้นที่ชุ่มน้ำในบางอำเภอเมืองจังหวัดสุราษฎร์ธานี
Dinopium javanense01.JPG

วงศ์ : Picidae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dinopium javanense (Ljungh) 1797.
ชื่อสามัญ : Common flameback
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ : Common goldenback , Common golden backed woodpecker , Golden-backed threetoed woodpecker

นกหัวขวานสามนิ้วหลังทางมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dinopium javanense ชื่อชนิดดัดแปลงจากชื่อสถานที่ที่พบครั้งแรก คือเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย ทั่วโลกมีนกหัวขวานสามนิ้วหลังทอง 7 ชนิดย่อย ประเทศไทยพบ 2 ชนิดย่อยคือ Dinopium javanense intermedium (Blyth) ชื่อชนิดย่อยมาจากรากศัพท์ภาษาละตินคือ inter แปลว่าระหว่าง และ medi,-a,-o แปลว่ากลาง ความหมายคือ “นกที่มีขนาดกลางหรือนกที่มีรูปร่างลักษณะก้ำกึ่งระหว่างนกสองชนิด” พบชนิดย่อยนี้ครั้งแรกที่เกาะ Ramree ประเทศพม่าและ Dinopium javanense javanense (Ljungh) ชื่อชนิดย่อยมีที่มาเช่นเดียวกับชื่อชนิด

กระจายพันธุ์ : ในอินเดีย จีนด้านตะวันตกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หมู่เกาะซุนดาใหญ่ และฟิลิปปินส์

ลักษณะทั่วไป : เป็นนกขนาดเล็ก (30 ซม.) ใบหน้าเป็นลายแถบสีขาวสลับสีดำยาวลงมาถึงข้างคอเริ่มจากบริเวณเหนือตาเป็นแถบสีขาว และมุมปากแถบสีดำ ช่วงไหล่ หลังตอนหน้า และปีกสีเหลืองทอง หลังตอนท้ายและตะโพกสีแดง ลำตัวด้านล่างสีดำมีลายเกล็ดสีขาว หน้าผาก กระหม่อมและพุ่มหงอนขนของตัวผู้มีสีแดง ส่วนตัวเมียเป็นสีดำมีลายขีดสีขาวกระจาย

อุปนิสัยและอาหาร : อาศัยอยู่ตามป่าโปร่ง เช่น ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่ารุ่น อาจพบได้ในป่าทึบเช่น ป่าชายเลน ป่าดงดิบแล้ง รวมทั้งสวนผลไม้ ตั้งแต่ระดับพื้นราบจนกระทั่งความสูง 1,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล มักพบอยู่เป็นคู่ และอาจพบรวมกับนกชนิดอื่น เช่น นกเฉี่ยวดง นกแซงแซวหางบ่วง นกกินแมลง เป็นต้น ส่วนใหญ่หากินตามลำต้นและกิ่งไม้ใหญ่ไม่ค่อยพบหากินตามพื้นดินอย่างพวกนกหัวขวานเขียวนกหัวขวานสามนิ้วหลังทองมักส่งเสียงร้องตลอดเวลาโดยตัวผู้และตัวเมียอาจเกาะบนต้นไม้คนละต้น แล้วส่งเสียงร้องหากัน ทั้งสองเพศมีเสียงร้องเหมือนกันนอกจากนี้มันมักใช้ปากเคาะต้นไม้ให้เกิดเสียงกังวานโดยเฉพาะในช่วงฤดูผสมพันธุ์ ซึ่งอาจเป็นการประกาศอาณาเขตและดังดูดความสนใจของเพศตรงข้าม อาหารส่วนใหญ่ ได้แก่ มด ตัวหนอน ด้วง และแมลงอื่น ๆ มันหาอาหารโดยการใช้ปากแคะเปลือกไม้ออกให้เห็นเหยื่อ แล้วใช้ลิ้นยาวตวัดเหยื่อเข้าปาก บางครั้งมันใช้ลิ้นชอนไชในโพรงหรือรูตามลำต้นหรือกิ่งไม้ใหญ่ เมื่อพบเหยื่อก็ตวัดเข้าปาก นอกจากนี้มันยังกินน้ำหวานดอกไม้ โดยเฉพาะดอกทองหลางป่า ดอกงิ้วและดอกทองกวาว

การผสมพันธุ์ : นกหัวขวานสามนิ้วหลังทองผสมพันธุ์ในช่วงฤดูร้อนต่อฤดูฝน ระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน พบมากที่สุดในเดือนเมษายน ทำรังตามโพรงต้นไม้ โดยเฉพาะต้นที่มีเนื้อไม้อ่อนหรือแข็งปานกลาง มันมักขุดเจาะโพรงเอง แต่บางครั้งก็ใช้โพรงที่สัตว์อื่นทำไว้หรือโพรงที่เกิดตามธรรมชาติ โดยใช้ปากตกแต่งให้เหมาะกับตัวมัน โพรงอยู่สูงจากพื้นดิน 2-10 เมตร ปกติต่ำกว่า 5 เมตร รังมีไข่ 3 ฟอง

ไข่ : สีขาวมีขนาดเฉลี่ย 19.1x29.0 มม. ทั้งสองเพศช่วยกันขุดเจาะโพรงไม้ ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน ใช้เวลาฟักไข่ 15-16 วัน ลูกนกแรกเกิดไม่มีขนปกคลุมร่างกายและยังช่วยเหลือตนเองไม่ได้ พ่อแม่ต้องช่วยกันกกและป้อนอาหารจนกระทั้งลูกนกมีขนปกคลุมเต็มร่างกายแข็งแรง และบินได้ดี ประมาณ 1 เดือนหลังออกจากไข่ ลูกนกจะทิ้งรังไปหากินตามลำพัง

สถานภาพ : นกหัวขวานสามนิ้วหลังทองเป็นนกประจำถิ่น พบบ่อยและปริมาณปานกลาง ชนิดย่อย intermedium พบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ตั้งแต่คอคอดกระลงไป ชนิดย่อย javanense พบเฉพาะทางภาคใต้ตั้งแต่คอคอดกระลงไป

กฎหมาย : จัดนกหัวขวานสามนิ้วหลังทองทุกชนิดย่อยเป็นตัวป่าคุ้มครอง


Dinopium javanense02.jpg