นกกาฝากท้องสีส้ม

จาก ฐานข้อมูลนกในพื้นที่ชุ่มน้ำในบางอำเภอเมืองจังหวัดสุราษฎร์ธานี
Dicaeum trigonostigma01.jpg

วงศ์ : Nectariniidae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dicaeum trigonostigma (Scopoil) 1786.
ชื่อสามัญ : Orange-bellied flowerpecker
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ : -

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dicaeum trigonostigma ชื่อชนิดมาจากรากศัพท์ภาษากรีกคือ trigon, -o หรือ trigonos แปลว่าสามเหลี่ยม และ stigma, =a, -at, -ato, -o หรือ stigma แปลว่าลาย ความหมายคือ “นกที่มีลายเป็นรูปสามเหลี่ยมบริเวณหลังและตะโพก” พบครั้งแรกที่ประเทศมาเลเซีย ทั่วโลกมี 16 ชนิดย่อย ประเทศไทยพบ 2 ชนิดย่อยคือ Dicaeum trigonostigma trigonostigma (Scopoil) ที่มาและความหมายของชื่อชนิดย่อยเช่นเดียวกับชนิด และ Dicaeum trigonostigma rubropygium Stuart Baker ชื่อชนิดย่อยมาจากรากศัพท์คือ rubr, -I หรือ ruber เป็นรากศัพท์ภาษาละติน แปลว่าสีแดง และ pyg, =a, -o หรือ puge เป็นรากศัพท์ภาษากรีก แปลว่าตะโพก ความหมายคือ “ตะโพกสีแดง” พบครั้งแรกที่ประเทศพม่า

กระจายพันธุ์ : ในอินเดียตะวันออก พม่า ไทย มาเลเซีย หมู่เกาะซุนดาใหญ่ และฟิลิปปินส์

ลักษณะทั่วไป : เป็นนกขนาดเล็กมาก (9 ซม.) ตัวผู้หลัง อกตอนล่าง และท้องเป็นสีส้ม ขนคลุมโคนขนหางด้านล่างสีส้มแกมเหลือง คอหอยสีเทาอ่อน ลำตัวด้านบนส่วนที่เหลือสีน้ำเงินแกมเทา ตัวเมียแตกต่างจากตัวเมียของนกสีชมพูสวนและนกกาฝากอกสีเลือดหมูโดยปากยาวและเรียวกว่า ตะโพกมีแถบสีเขียวอ่อนถึงสีเหลือง บางครั้งมีแต้มสีส้ม ลำตัวด้านล่างสีเทาจาง กลางอกตอนล่าง ท้อง และขนคลุมโคนขนหางด้านล่างเป็นสีเหลือง ตัวไม่เต็มวัยคล้ายตัวเมีย แต่คอหอย อก และสีข้างเป็นสีเขียวอ่อนแกมเทา

อุปนิสัยและอาหาร : พบตามชายป่า ป่ารุ่น สวนป่า สวนผลไม้ และแหล่งกสิกรรม ตั้งแต่พื้นราบจนกระทั่งความสูง 900 เมตรจากระดับน้ำทะเล บางพื้นที่พบในระดับความสูง 1,500 เมตร มักพบอยู่เป็นคู่ อาศัยและหากินตามกิ่งไม้และยอดไม้ ทั้งพุ่มไม้และไม้ยืนต้นขนาดกลาง อาหารได้แก่ น้ำหวานดอกไม้ เกสรดอกไม้ ผลไม้ แมลง ตัวหนอน และแมงมุม โดยมีพฤติกรรมการกินอาหารไม่แตกต่างจากนกกาฝากอื่น ๆ โดยเฉพาะนกกาฝากก้นเหลือง

การผสมพันธุ์ : ผสมพันธุ์ตลอดทั้งปี ทำรังเป็นรูปทรงกลมหรือรี มีทางเข้าออกอยู่ทางด้านข้างค่อนไปทางด้านบน รังแขวนหรือห้อยลงจากกิ่งไม้ สูงจากพื้นดิน 2.5-12 เมตร รังมีไข่ 2-3 ฟอง ขนาดของไข่ 11.2x15.5 มม. ยังไม่ทราบชีววิทยาการสืบพันธุ์ด้านอื่น

สถานภาพ : เป็นนกประจำถิ่น พบบ่อยและปริมาณปานกลาง ชนิดย่อย rubropygium พบทางภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามันตั้งแต่จังหวัดระนองจนถึงจังหวัดกระบี่ และชนิดย่อย trigonostigma พบทางภาคใต้ส่วนที่เหลือ

กฎหมาย : จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง


Dicaeum trigonostigma02.jpg Dicaeum trigonostigma03.jpg Dicaeum trigonostigma04.jpg


แหล่งที่มาของภาพ
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/2/21/Dicaeum_trigonostigma_2.jpg
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/9/9b/Orange-bellied_Flowerpecker_(Dicaeum_trigonostigma_rubropygium)_-_Flickr_-_Lip_Kee.jpg/600px-Orange-bellied_Flowerpecker_(Dicaeum_trigonostigma_rubropygium)_-_Flickr_-_Lip_Kee.jpg
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/0/0e/Dicaeum_trigonostigma.jpg
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/5/56/Orangebellied_Flowerpecker_(Dicaeum_trigonostigma)_bathing_with_the_water_dripping_from_the_aircon_unit_(15856086641).jpg/1280px-Orange-bellied_Flowerpecker_(Dicaeum_trigonostigma)_bathing_with_the_water_dripping_from_the_aircon_unit_(15856086641).jpg