นกแซวสวรรค์

จาก ฐานข้อมูลนกในพื้นที่ชุ่มน้ำในบางอำเภอเมืองจังหวัดสุราษฎร์ธานี
Terpsiphone paradise01.jpg

วงศ์ : Dicrurinae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Terpsiphone paradise (Linnaeus) 1758.
ชื่อสามัญ : Asian paradise-flycatcher
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ : Paradise flycatcher

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Terpsiphone paradise ชื่อชนิดมาจากรากศัพท์ภาษากรีกคือ paradis แปลว่าสวน หรือที่พักผ่อนหย่อนใจ หรือสวรรค์ อาจหมายถึง “นกที่มีความสวยงาม” พบครั้งแรกที่ประเทศศรีลังกาทั่วโลกมี 18 ชนิดย่อย ประเทศไทยพบ 3 ชนิดย่อย คือ

  1. Terpsiphone paradise incei (Gould) ชื่อชนิดย่อยดัดแปลงจากชื่อของบุคคล พบครั้งแรกที่ประเทศจีน
  2. Terpsiphone paradise saturatior (Salomonsen) ชื่อชนิดย่อยมาจากคำในภาษาละตินคือ saturates แปลว่ามีหลายสี ความหมายคือ “นกที่มีหลายสี” พบครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย และ
  3. Terpsiphone paradise indochinensis (Salomonsen) ชื่อชนิดย่อยดัดแปลงจากชื่อสถานที่คืออินโดจีน พบครั้งแรกที่ประเทศกัมพูชา

กระจายพันธุ์ : ในตุรกี อัฟกานิสถาน แมนจูเรีย จีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หมู่เกาะอันดามัน หมู่เกาะนิโคบาร์ และหมู่เกาะซุนดาใหญ่

ลักษณะทั่วไป : เป็นนกขนาดเล็ก (21 ซม) ตัวผู้ขนหางคู่กลางยื่นยาวออกไปมากว่า 25 ซม. ตัวเต็มวัยปากและวงรอบเบ้าตาสีน้ำเงินสด ตัวผู้มีภาวะรูปร่างสองแบบ คือสีขาวและสีน้ำตาลแดง ตัวผู้ที่มีสีขาว สีส่วนใหญ่เป็นสีขาว บริเวณหัว พุ่มหงอนขน และคอหอยมีสีดำเป็นมัน ขนปลายปีกและก้านขนปีกสีดำตัวผู้ที่เป็นสีน้ำตาลแดงมีกระหม่อมสีดำ หัวและอกด้านบนสีเทาเข้ม ลำตัวด้านบน ปีก และหางสีน้ำตาลแดงตัวเมียมีลักษณะคล้ายนกตัวผู้ชนิดขนสีน้ำตาลแดงแต่ขนหางคู่กลางไม่ยื่นยาวออก ตัวผู้ที่เป็นสีน้ำตาลแดงขณะผลัดขนหางคู่กลางออกจะคล้ายนกตัวเมีย นกแซวสวรรค์แต่ละชนิดย่อยอาจมีลักษณะที่แตกต่างกันโดยบริเวณหัว คอหอย หรือกระหม่อมจะมีสีน้ำเงินหรือดำเป็นมัน คอหอยและด้านข้างของหัวสีเทา ตัวผู้ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลแดง มักมีลายแซมสีแดงเข้ม

อุปนิสัยและอาหาร : อาศัยอยู่ตามป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบชื้น ป่าดงดิบแล้ง ป่าดงดิบเขา และป่ารุ่น ดั้งแต่พื้นราบจนกระทั่งความสูง 1,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล ช่วงฤดูอพยพอาจพบในสวนผลไม้และป่าชายเลน มักพบอยู่เป็นคู่ โดยอาจจับคู่ผสมพันธุ์กันหรือแค่หากินร่วมกัน และมักพบเกาะหรือบินไปตามกิ่งไม้หรือต้นไม้ในระดับค่อนข้างสูงและภายในเรือนยอดหรือร่มเงาของต้นไม้ ขณะเกาะลำตัวมักตั้งตรงหางห้อยลงข้างล่าง ตัวผู้จะโบกหางไปมา โดยใช้ขนหางคู่กลางเคลื่อนไหวเข้าหากันและออกจากกันคล้ายกับกรรไกร อาหาร ได้แก่ แมลง โดยการโฉบด้วยปากกลางอากาศใกล้ที่เกาะบางครั้งลงมายืนบนพื้นดินหรือเกาะตามพุ่มไม้ระดับต่ำ เป็นนกที่ร้องเสียงดัง ได้ยินแม้ในระยะทางไกล ๆ เสียงร้องคล้ายกับ “อ๊อก-อ๊อก” และร้องทั้งตัวผู้และตัวเมีย

การผสมพันธุ์ : ผสมพันธุ์ในช่วงต้นฤดูฝนระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน รังเป็นรูปกรวยหงายประกอบด้วยใบหญ้า ใบไม้ รากฝอย และวัสดุเยื่อใยบางอย่าง อัดและเชื่อมเข้าด้วยกันด้วยใยแมงมุมจนทำให้ขอบรังมีขนาดอ่อนข้างหนา รังอยู่ตามกิ่งไม้ ทั้งกิ่งที่ขนาดกับพื้นดิน กิ่งตั้ง ตามง่ามไม้ หรือกิ่งที่ยื่นออกไปเหนือลำธาร รังอยู่สูงจากพื้นดิน 1-15 เมตร ความกว้างปากรังด้านนอก 77.62 มม. ความกว้างปากรังด้านใน 58.32 มม. และความลึกในรัง 39.24 มม. รังมีไข่ 3-4 ฟอง

ไข่ : ไข่สีสมพูจนเกือบเป็นสีขาวมีลายขีดและลายจุดสีน้ำตาลแกมแดง โดยเฉพาะไข่ด้านป้าน ขนาดของไข่โดยเฉลี่ย 15.2x20.5 มม. (ศศิธร,2539) ทั้งสองเพศช่วยกันสร้างรังฟักไข่และเลี้ยงดูลูกอ่อน ใช้เวลาฟักไข่ 12-13 วัน ลูกอายุประมาณ 8-10 วันก็จะออกจากรัง แต่จะอยู่รวมกันเป็นครอบครัวระยะหนึ่ง ก่อนจะแยกออกไปหากินและอยู่เป็นคู่ต่อไป

สถานภาพ : เป็นนกประจำถิ่นและนกอพยพมาช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ พบย่อยและปริมาณปานกลางชนิดย่อย incei เป็นนกอพยพ พบทางภาคเหนือ (จังหวัดแพร่และน่าน) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จังหวัดเลยและนครราชสีมา) ภาคตะวันออกเฉียงใต้ (จังหวัดชลบุรี) ภาคกลาง (จังหวัดกำแพงเพชรและกรุงเทพมหานคร) ชนิดข่อย saturatior เป็นนกอพยพพบเฉพาะทางภาคใต้ และชนิดย่อย indochinensis เป็นนกประจำถิ่น พบทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้

กฎหมาย : จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง