นกกระติ๊ดขี้หมู

จาก ฐานข้อมูลนกในพื้นที่ชุ่มน้ำในบางอำเภอเมืองจังหวัดสุราษฎร์ธานี
Lonchura punctulata01.jpg

วงศ์ : Passeridae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lonchura punctulata (Linnaeus) 1758.
ชื่อสามัญ : Scaly-breasted munia
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ : Spotted munia , Spice finch , Ricebird , Nutmeg mannikin

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lonchura punctulata ชื่อชนิดเป็นคำในภาษาละตินสมัยใหม่คือ punctulatus (punct, -i) แปลว่าลายจุด ความหมายคือ "นกที่เป็นลายจุด" พบครั้งแรกที่เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย ทั่วโลกมี 11 ชนิดย่อย ประเทศไทยพบ 1 ชนิดย่อย คือ Lonchura punctulata topela (Swinhoe) ไม่ทราบที่มาและความหมายของชื่อชนิดย่อย พบครั้งแรกที่ประเทศจีน

กระจายพันธุ์ : ตั้งแต่อินเดีย จีนตอนใต้ เกาะไหหลำ ไต้หวัน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกาะชวา เกาะสุมาตรา หมู่เกาะซุนดาน้อย เกาะสุลาเวซี และฟิลิปปินส์

ลักษณะทั่วไป : เป็นนกขนาดเล็กมาก (11 ซม.) ตัวเต็มวัยแตกต่างจากนกกระติ๊ดตะโพกขาวโดยสีเป็นสีน้ำตาลอ่อนกว่า ตะโพก ขนคลุมโคนขนหางด้านบน และหางเป็นสีน้ำตาลมักมีสีเหลืองแซม อก ท้อง และขนคลุมโคนหางด้านล่างสีขาวมีลายเกล็ดสีน้ำตาลเข้ม ยกเว้นบริเวณตรงกลางท้อง ตัวไม่เต็มวัยลำตัวด้านบนสีน้ำตาล ลำตัวด้านล่างสีออกเป็นสีเนื้อไม่มีลายเกล็ด แตกต่างจากนกกระติ๊ดสีอิฐและนกกระติ๊ดหัวขาวตัวไม่เต็มวัยโดยขากรรไกรบนสีดำ

อุปนิสัยและอาหาร : พบตามทุ่งนา แหล่งกสิกรรม ป่าละเมาะ ป่ารุ่น และทุ่งโล่งทั่วไป ตั้งแต่พื้นราบจนกระทั่งความสูง 1,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล รวมทั้งบริเวณใกล้บ้านเรือน พบอยู่เป็นคู่หรือเป็นฝูง บางฝูงมีจำนวนมากกว่า 100 ตัว เป็นนกที่บินได้ดีมากแต่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก ขณะบินจะเกาะกลุ่มกันเป็นฝูง อาจบินตรงหรือบินเป็นลูกคลื่นพร้อม ๆ กันหรือตามกัน อาจพบเกาะตามกิ่งไม้ของต้นไม้ขนาดกลาง ไม้พุ่ม ต้นหญ้า และธัญพืช บางครั้งลงมายังพื้นดิน บ่อยครั้งพบว่ามีพฤติกรรมอาบน้ำและอาบฝุ่น โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน ร้องเป็นเสียง "ชิด-อิด" ติดต่อกันและค่อนข้างถี่ โดยร้องเกือบทุกฤดู แต่จะบ่อยมากในช่วงฤดูผสมพันธุ์ อาหารได้แก่ เมล็ดข้าวเปลือก ธัญพืช ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ถั่วเขียว เมล็ดหญ้า และเมล็ดพืชต่าง ๆ ช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์จะหากินเป็นฝูงใหญ่มาก มักลงกินข้าวในนาที่กำลังสุกหรือที่กำลังจะเก็บเกี่ยว ขณะบินขึ้นและลงพร้อมกันจะทำให้เมล็ดข้าวร่วงหล่นจากรวง ความเสียหายที่เกิดขึ้นเกิดจากการบินขึ้นลงนี้มากกว่าที่กินเป็นอาหาร นอกจากนี้ยังกินแมลงและตัวหนอนด้วย โดยเฉพาะช่วงเลี้ยงดูลูกอ่อน

การผสมพันธุ์ : ผสมพันธุ์ในช่วงฤดูร้อนและฤดูฝนระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคม บางแห่งอาจพบการทำรังตลอดปี ช่วงดังกล่าวจะพบอยู่เป็นคู่ ทำรังตามต้นไม้และพุ่มไม้ เช่น ศรีตรัง ทองหลาง ไทร ไผ่ มะขามเทศ พุทรา ฝรั่ง รังอยู่สูงจากพื้นดิน 2-6 เมตร รังเป็นรูปทรงกลม มีทางเข้าออกขนาดเล็กอยู่ทางด้านข้าง รังโดยเฉลี่ยมีเส้นผ่าศูนย์กลางขอบนอก 20-30 ซม. ปากทางเข้าออก 3-5 ซม. วัสดุที่ใช้ทำรังประกอบด้วยใบหญ้า ใบสนทะเล ใบสนประดิพัทธ์ ใบไม้อื่น ดอกหญ้า และขนนก ขึ้นอยู่กับสถานที่สร้างรัง ทั้งสองเพศช่วยกันเลือกสถานที่สร้างรัง คาดว่าตัวผู้เป็นตัวหาวัสดุ โดยจะคาบมาส่งให้อีกตัวหนึ่งซึ่งคาดว่าเป็นตัวเมียใช้สร้างรัง บางครั้งตัวที่หาวัสดุก็ช่วยอีกตัวหนึ่งสร้างรังด้วย นกกระติ๊ดขี้หมูสร้างรังได้เร็วมาก อาจใช้เวลาสร้างจนเสร็จ 3-4 วัน ภายในรังบุด้วยวัสดุที่อ่อนนุ่ม เช่น ดอกหญ้า ขนนก รังมีไข่ 6-8 ฟอง

ไข่ : สีขาวไม่มีลายจุดหรือลาดขีด ขนาดของไข่โดยเฉลี่ย 11.3x17.2 มม. ทั้งสองเพศช่วยกันฟักไข่และเลี้ยงดูลูกอ่อนจะเริ่มฟักตั้งแต่ออกไข่ฟองแรก ใช้เวลาฟักไข่ 10-12 วัน ลูกนกเมื่อออกจากไข่ใหม่ ๆ ยังไม่มีขนคลุมลำตัวและยังช่วยเหลือตนเองไม่ได้ พ่อแม่ต้องคอยช่วยกันกกและหาอาหารมาป้อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแมลงและตัวหนอน ลูกนกอายุ 14-15 วันจะมีขนคลุมเต็มตัวและเริ่มบินได้ จากนั้นจะบินไปหากินรวมกับนกตัวอื่นหรือครอบครัวอื่นเป็นฝูงใหญ่ต่อไป

สถานภาพ : เป็นนกประจำถิ่น พบบ่อยและปริมาณมาก พบทั่วทุกภาค โดยเฉพาะทางตอนเหนือของประเทศตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ขึ้นไป เป็นนกที่มักถูกขังในกรงให้คนปล่อยตามวัดต่าง ๆ นับว่าเป็นการทำบุญหรือสะเดาะเคราะห์

กฎหมาย : จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง


Lonchura punctulata02.jpg Lonchura punctulata03.jpg Lonchura punctulata04.JPG


แหล่งที่มาของภาพ
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/b/b7/Scaly_Breasted_Munia_(Lonchura_punctulata)_Photograph_By_Shantanu_Kuveskar.jpg
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/e/e8/Scaly_breasted_Munia_I_IMG_4769.jpg
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/f/f5/Lonchura_punctulata.jpg
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/f/fb/Lonchura_punctulata_particeps(1).JPG