นกกะปูดเล็ก

จาก ฐานข้อมูลนกในพื้นที่ชุ่มน้ำในบางอำเภอเมืองจังหวัดสุราษฎร์ธานี
Centropus bengalensis01.jpg

วงศ์ : Centropodidae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Centropus bengalensis (Gmelin) 1788.
ชื่อสามัญ : Lesser coucal
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ : นกกด , Lesser crow pheasant

นกกะปูดเล็กมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Centropus bengalensis ชื่อชนิดดัดแปลงจากชื่อสถานที่ที่พบครั้งแรก คือรัฐเบงกอล ประเทศอินเดีย นกกะปูดเล็กมีชื่อพ้องว่า Centropus toulou (S. Muller) 1779. ชื่อพ้องเป็นคำในภาษา Malagasy ซึ่งใช้เรียกนกชนิดนี้โดยเฉพาะ อย่างไรก็ตาม Sibley and Monroe (1990) และ Inskipp et al. (1996) จัดเป็นคนละชนิด และมีการกระจายพันธุ์ต่างกัน และ Centropus toulou ไม่ปรากฎในประเทศไทย ทั่วโลกมีนกกะปูดเล็ก 5 ชนิดย่อย ประเทศไทยพบ 3 ชนิดย่อยคือ

  1. Centropus bengalensis bengalensis (Gmelin) ชื่อชนิดย่อยมีที่มาและความหมายเช่นเดียวกับชื่อชนิด พบครั้งแรกที่รัฐเบงกอล ประเทศอินเดีย
  2. Centropus bengalensis chamnongi Deignan ชื่อชนิดย่อยดัดแปลงจากชื่อของบุคคลพบครั้งแรกที่บ้านคลองขลุง อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพรช
  3. Centropus bengalensis javanensis (Dumont) ชื่อชนิดย่อยดัดแปลงจากชื่อสถานที่ที่พบครั้งแรก คือเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย

อย่างไรก็ตาม Howard and Moore (1980) ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ของนกกะปูดเล็กหรือ Lesser Coucal ว่า Centropus bengalensis และใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ของ Black Coucal ซึ่งไม่ปรากฏในประเทศไทยว่า Centropus toulou ส่วน Smythies (1986) ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ของนกกะปูดเล็กว่า Centropus toulou โดยถือว่า bengalensis และ javanensis เป็นเพียงชนิดย่อย ไม่ระบุชนิดย่อย chamnongi ที่อาจปรากฏเฉพาะในประเทศไทย

กระจายพันธุ์ : ในอินเดีย จีนตอนใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกาะไหหลำ ไต้หวัน หมู่เกาะซุนดา หมู่เกาะโมลุกกะ และฟิลิปปินส์

ลักษณะทั่วไป : เป็นนกขนาดเล็ก-กลาง (36-38 ซม.) ปากหนาและโค้งเล็กน้อย คอสั้น ปีกยาวแหลมหางยาว ขาอยู่ตรงกลางลำตัว ทั้งสองเพศมีลักษณะเหมือนกัน ตัวเต็มวัยในฤดูผสมพันธุ์หัวและลำตัวสีดำหลังสีดำมีสีน้ำตาลแดงแซม ปีกสีน้ำตาลแดง ตัวเต็มวัยช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์และตัวไม่เต็มวัยบริเวณหัว คอ และช่วงไหล่เป็นสีน้ำตาลมีลายขีดสีเนื้อ ขนปีกสีน้ำตาลอมเหลือง ตะโพกและขนคลุมโคนขนหางด้านบนสีออกดำ มีลายสีน้ำตาลอมเหลือง หางสีน้ำตาลเข้มเหลือบเขียว มีลายสีน้ำตาลอมเหลือง ลำตัวด้านล่างสีเนื้อแกมน้ำตาล มีลายสีอ่อนกว่าลำตัวด้านบน ตัวไม่เต็มวัยในระยะแรก หัว คอ ช่วงไหล่ และปีกสีเนื้อแกมน้ำตาลเหลือง หัวและคอมีลายขีดสีดำ บริเวณปีกและช่วงไหล่มีลายสีดำ หางมีลายสีเนื้อแกมน้ำตาลเหลือง

อุปนิสัยและอาหาร : อาศัยอยู่ตามป่าละเมาะ ป่าหญ้า และบริเวณใกล้กับแหล่งน้ำทั่วไป ตั้งแต่ระดับพื้นราบจนกระทั่งความสูง 1,800 เมตรจากระดับน้ำทะเล พบอยู่โดดเดี่ยวหรือเป็นคู่ ไม่ค่อยพบเป็นฝูงปกติจะพบมันกระโดดตามพื้นดินหรือตามทุ่งหญ้าที่มีต้นหญ้าเตี้ยหรือสูง ซึ่งแตกต่างจากนกกะปูใหญ่ที่มักพบในทุ่งหญ้าที่มีต้นหญ้าค่อนข้างสูงเท่านั้น นกกะปูดเล็กบินได้ดีปานกลาง แต่บินไม่สูงและระยะไม่ไกล นกกะปูดเล็กร้องเป็น 2 ช่วง เริ่มต้นด้วยการร้องเป็นเสียงในลำคอ “ฮูป-ฮูป-ฮูป-ฮูป” ประมาณ 4-5 พยางค์ จากนั้นจึงร้องรัวเป็นเสียงสูงและแหลม “กด-กด-กด-กด” ปกติจะร้องในฤดูผสมพันธุ์มากกว่าฤดูอื่น นกกระปูดเล็กกินแมลงและสัตว์ขนาดเล็ก เช่น กบ เขียด กิ้งก่า งู เป็นต้น มันหากินโดยกระโดดไปตามพื้นดินในทุ่งหญ้าหรือป่าไม้พุ่มเตี้ย เมื่อพบเหยื่อก็ใช้ปากจิกกิน ถ้าเหยื่อมีขนาดใหญ่กว่าจะกลืนได้ในครั้งเดียว มันจะใช้กรงเล็บช่วยจับเหยื่อ แล้วใช้ปากฉีกเหยื่อกินทีละชิ้น ปกติมันจะหากินใกล้แหล่งน้ำมากกว่าบริเวณที่แห้ง ในขณะที่นกกะปูดใหญ่หากินในทั้งสองแหล่ง

การผสมพันธุ์  : นกกะปูดเล็กผสมพันธุ์ในช่วงฤดูร้อนต่อฤดูฝนระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนกรกฎาคมช่วงนี้จะพบมันอยู่เป็นคู่และได้ยินเสียงร้องเป็นประจำโดยเฉพาะช่วงเช้าและบ่าย เมื่อมันจับคู่และผสมพันธุ์กันแล้ว พวกมันจะช่วยกันหาวัสดุและสร้างรังตามพงหญ้าหรือพุ่มไม้เตี้ย รังเป็นรูปทรงกลม มีทางเข้าออกทางด้านข้างค่อนไปทางด้านบนเล็กน้อย วัสดุที่ใช้ทำรังส่วนใหญ่เป็นต้นหญ้า มีวัสดุอื่น เช่น ใบหญ้า บ้างเป็นส่วนน้อยปกติรังอยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 30-50 ซม.

ไข่ : มีลักษณะค่อนข้างกลม สีขาว ไม่มีจุด ขีดหรือลาย มีขนาดเฉลี่ย 23.8x28.2 มม. รังมีไข่ 2-3 ฟอง ทั้งสองเพศช่วยกันฟักไข่หลังจากออกไข่ฟองสุดท้ายแล้ว ใช้เวลาฟักไข่ 21-23 วัน ปกตินกกะปูดเล็กเป็นนกที่ตกใจค่อยข้างง่าย หากมีสิ่งรบกวนบริเวณใกล้รังมันจะทิ้งรังทันทีแม้ว่าจะไข่ครบรังแล้วก็ตาม ลูกนกแรกเกิดมีผิวหนังสีดำ มีขนอุยสีขาวค่อนข้างยาวปกคลุมลำตัว แต่ยังช่วยเหลือตนเองไม่ได้ พ่อแม่ต้องช่วยกันกกและหาอาหารมาป้อนจนกว่าลูกนกจะแข็งแรงและบินได้ดี ประมาณ 3-4 สัปดาห์ จากนั้นพวกมันจะทิ้งรัง

สถานภาพ : นกกะปูดเล็กเป็นทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพมายังประเทศไทยช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์พบบ่อยและปริมาณปานกลาง ชนิดย่อย bengalensis มีรายงานว่าเป็นนกอพยพมาจากทางตอนใต้ของประเทศจีน พบทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือแถบจังหวัดเลย ชนิดย่อย chamnongi เป็นจกประจำถิ่น พบเฉพาะทางภาคกลาง ส่วนชนิดย่อย javanensis เป็นนกประจำถิ่น พบเฉพาะทางภาคใต้ตั้งแต่คอคอดกระลงไป

กฎหมาย : จัดนกกะปูดเล็กทุกชนิดย่อยเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง


แหล่งที่มาของภาพ
https://c2.staticflickr.com/4/3086/2603928450_01415a4e3c_b.jpg