นกเอี้ยงควาย

จาก ฐานข้อมูลนกในพื้นที่ชุ่มน้ำในบางอำเภอเมืองจังหวัดสุราษฎร์ธานี
Acridotheres fuscus01.jpg

วงศ์ : Sturnidae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Acridotheres fuscus
ชื่อสามัญ : Jungle myna
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ : Buffalo myna , Indian jungle mynah

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Acridotheres fuscus ชื่อชนิดมาจากรากศัพท์ภาษาละตินคือ fusc หรือ fusca แปลว่าสีเทาหรือน้ำตาล ความหมายคือ “นกที่มีสีเทาหรือน้ำตาล” พบครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย นกเอี้ยงความมีชื่อพ้องว่า Acridotheres mahrattensis (Sykes) ชื่อพ้องดัดแปลงจากชื่อสถานที่ที่พบครั้งแรกคือเมือง Mahratta ในประเทศอินเดีย อย่างไรก็ตาม Howard and Moore (1980) จัดเป็นชนิดย่อยหนึ่งเท่านั้น โดยเขียนเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Acridotheres fuscus mahrattensis ทั่วโลกมี 5 ชนิดย่อย ประเทศไทยพบ 1 ชนิดย่อย คือ Acridotheres fuscus torquatus (Davison) ชื่อชนิดย่อยมาจากรากศัพท์ภาษาละตินคือ torquat หรือ torqis หรือ torques แปลว่าแถบรอบคอ ความหมายคือ “นกที่มีลายแถบรอบคอ” พบครั้งแรกที่ประเทศมาเลเซีย

กระจายพันธุ์ : ในอินเดีย พม่า ไทย และมาเลเซีย

ลักษณะทั่วไป : เป็นนกขนาดเล็ก (24 ซม.) แตกต่างจากนกเอี้ยงสาลิกาและนกเอี้ยงหงอนโดยปากเป็นสีเหลือง โคนปากเป็นสีน้ำเงินแก่ ตาสีเหลือง มี พุ่มหงอนบนหัวแต่สั้น ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลแกมเทาเข้ม หัวสีออกดำ คอหอยและอกสีเทาเข้ม ขนคลุมโคนขนหางด้านล่างสีขาว แตกต่างจากนกเอี้ยงสาลิกาโดยไม่มีแผ่นหนังบริเวณวงรอบเบ้าตา ขนคลุมโคนขน หางด้านล่างสีเทา นิ้วสีส้มหรือเหลือง ตัวไม่เต็มวัยหัวมีสีทึมกว่า สีออกเป็นสีน้ำตาลมากกว่า และลำตัวด้านล่างเป็นสีขาว

อุปนิสัยและอาหาร : อาศัยอยู่ตามทุ่งนาและป่าหญ้า โดยเฉพาะบริเวณรอบแหล่งน้ำ อาจพบได้ในป่าซึ่งถูกแผ้วถางและป่าชายเลน พบอยู่เป็นฝูง และอาจพบอยู่รวมกับนกเอี้ยงและนกกิ้งโครงอื่น ไม่ค่อยพบที่เข้ามาอยู่ใกล้กับบ้านเรือนหรือผู้คน แต่จะอาศัยเกาะนอนหลับตามไร่อ้อย กก อ้อ พง และกิ่งไม้ พบเป็นประจำที่หากินด้วยการเกาะบนหลัง เดิน หรือกระโดดตามสัตว์เลี้ยงพวกวัวควายเพื่อกินแมลงที่มาตอมหรือแมลงที่กระโดดหรือบินหนีภายหลังวัวควายเหยียบย่ำทุ่งหญ้า นอกจากนี้ยังหากินผลไม้ น้ำหวานดอกไม้แมลง และตัวหนอนตามกิ่งไม้ พฤติกรรมโดยทั่วไปไม่แตกต่างจากนกเอี้ยงสาลิกาและนกเอี้ยงหงอน

การผสมพันธุ์ : ผสมพันธุ์ในช่วงฤดูฝนระหว่างเดือนสิงหาคมถึงเดือนกรกฎาคม ส่วนใหญ่ทำรังตามโพรงไม้ ซึ่งมักเป็นโพรงเก่าของนกหัวขวาน และนกที่ทำรังตามโพรงไม้อื่น ๆ โดยการนำกิ่งไม้เล็ก ๆ ใบไม้ ใบหญ้า รากไม้ ขนนก และวัสดุอื่นอีกหลายอย่างมารองภายในโพรง โพรงมักอยู่สูงจากพื้นดิน 2-6 เมตร มักใช้โพรงเดิมทำรังเป็นประจำทุกปี รังมีไข่ 4-6 ฟอง

ไข่ : สีน้ำเงิน ขนาดของไข่โดยเฉลี่ย 20.9x28.9 มม. ทั้งสองเพศช่วยกันเลือกสถานที่ในการทำรัง เสริมสร้างรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน ใช้เวลาฟักไข่ 17-18 วัน ใช้เวลาเลี้ยงลูก 20-21 วัน ในแต่ละปีอาจวางไข่มากกว่า 1 รัง โดยพฤติกรรมดังกล่าวไม่แตกต่างจากนกเอี้ยงสาลิกา

สถานภาพ : เป็นนกประจำถิ่น พบไม่บ่อยและปริมาณไม่มานัก พบเฉพาะทางภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไป

กฎหมาย : จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง


Acridotheres fuscus02.jpg Acridotheres fuscus03.jpg Acridotheres fuscus04.jpg


แหล่งที่มาของภาพ
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/c/c0/Jungle_Myna_(Acridotheres_fuscus)_on_Kapok_(Ceiba_pentandra)_in_Kolkata_I_IMG_1340.jpg
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/b/be/Acridotheres_fuscus_-_Christopher_Watson.jpg
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/0/09/Jungle_Myna_(Acridotheres_fuscus)_on_Kapok_(Ceiba_pentandra)_in_Kolkata_W_IMG_3960.jpg
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/c/ce/Jungle_Myna_RWD.jpg