นกเอี้ยงสาริกา

จาก ฐานข้อมูลนกในพื้นที่ชุ่มน้ำในบางอำเภอเมืองจังหวัดสุราษฎร์ธานี
Acridotheres tristis01.jpg

วงศ์ : Sturnidae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Acridotheres tristis (Linnaeus) 1766.
ชื่อสามัญ : Common myna
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ : Common mynah , นกเอี้ยงสาลิกา

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Acridotheres tristis ชื่อชนิดมาจากรากศัพท์ภาษาละตินคือ trist,-I แปลว่าเศร้าหรือมัวหมอง (รากศัพท์ภาษาละตินสมัยใหม่คือ tristis แปลว่าสีไม่สดใส) ความหมายคือ “นกที่มีสีไม่สดใส” พบครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย ทั่วโลกมี 3 ชนิดย่อย ประเทศไทยพบ 1 ชนิดย่อย คือ Acridotheres tristis tristis (Linnaeus) ที่มาและความหมายของชื่อชนิดย่อยเช่นเดียวกับชื่อชนิด

กระจายพันธุ์ : ตั้งแต่อัฟกานิสถานจนถึงจีนด้านตะวันตกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ลักษณะทั่วไป : เป็นนกขนาดเล็ก (25 ซม.) เป็นนกชนิดเดียวในสกุลนี้ที่ขนคลุมขนปีกด้านล่างมีสีขาวตัวเต็มวัยสีสัยของร่างกายเป็นสีน้ำตาลเข้ม โดยบริเวณหัว คอหอย และอกตอนบนเป็นสีดำ ปาก หนังบริเวณวงรอบเบ้าตา และนิ้วเป็นสีเหลือง ขนคลุมโคนขนหางด้านล่างสีขาว ไม่มีพุ่มหงอนขน ต่างจากนกชนิดอื่นในสกุลนี้โดยตาสีแดงถึงน้ำตาลแดง ขณะบินจะเห็นลายพาดสีขาวบริเวณโคนของขนปลายปีก ตัวไม่เต็มวัยสีทึมกว่า หัวและคอหอยเป็นสีน้ำตาล

อุปนิสัยและอาหาร : อาศัยอยู่ตามทุ่งโล่ง แหล่งกสิกรรม หมู่บ้าน และในเมือง ตั้งแต่พื้นราบจนกระทั่งความสูง 1,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล พบอยู่เป็นคู่หรือเป็นฝูง และอาจพบเป็นฝูงใหญ่มาก มักพบอยู่รวมกับนกกิ้งโครงคอดำ นกเอี้ยงด่าง และนกเอี้ยงหงอน ส่วนใหญ่หากินตามพื้นดิน ซึ่งอาจเป็นบริเวณที่ชื้นแฉะ ทุ่งนา ทุ่งหญ้า ริมถนน เล้าหมู เล้าไก่ และบริเวณแหล่งกสิกรรมทั่วไป โดยเดินหรือเกาะบนหลังสัตว์เลี้ยงพวกวัวควายขณะหากินตามทุ่งหญ้า บ่อยครั้งที่พบเดินหรือกระโดดไปตามคนหรือรถที่กำลังไถนาหรือไถไร่ จะเห็นเป็นประจำที่นกทั้งฝูงบินขึ้นพร้อมกันไปเกาะตามกิ่งไม้เมื่อตกใจหรือเมื่อมีสิ่งรบกวน บางครั้งการบินดังกล่าวแทบไม่มีเหตุผลใด ๆ จากนั้นจะทยอยบินกลับมาที่เดิม นอกจากจะหากินตามพื้นดิน ซึ่งอาหารส่วนใหญ่เป็นแมลง ตัวหนอน สัตว์ขนาดเล็กและธัญพืช ยังหากินบนกิ่งไม้ โดยกินผลไม้ แมลงและตัวหนอนด้วย นอกจากนี้ยังพบเป็นประจำที่เกาะตามสายไฟฟ้า หลังคาบ้านและสิ่งก่อสร้าง และมักหากินในช่วงเช้าก่อนเที่ยงและในช่วงบ่าย ส่วนช่วงกลางวันที่มีอากาศร้อนจัดจะเกาะพักผ่อนหรือหลบซ่อนตามกิ่งไม้ที่มีใบหนาแน่น ช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์จะเห็นนกเอี้ยงสาลิกาเกาะนอนหลับตามต้นมะพร้าว ตาล ปาล์ม กอไผ่ กิ่งไม้ ชายคาบ้าน และสิ่งก่อสร้าง ซึ่งจะแก่งแย่งที่เกาะกันด้วยการส่งเสียงร้องทำให้เกิดเสียงเซ็งแซ่จนกระทั่งมืดจึงเงียบเสียงไป แต่ในช่วงฤดูผสมพันธุ์เสียงเหล่านี้อาจเกิดขึ้นไม่มากนัก เพราะพวกมันแยกไปทำรัง การแก่งแย่งจึงมีน้อยลง

การผสมพันธุ์ : ผสมพันธุ์ในช่วงฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน พบบ่อยในช่วงเดือนกรกฎาคม นกคู่หนึ่งอาจวางไข่ 2 รังในแต่ละปี หรือ อาจมากถึง 3 รัง พฤติกรรมนี้เหมือนกับนกเอี้ยงด่างและนกกิ้งโครงคอดำ คือนกจะวางไข่ทันทีที่ไข่ในรังเก่าถูกทำลาย หรืออาจวางไข่ใหม่หลังจากที่เลี้ยงดูลูกในรังเก่าจนกระทั่งลูกแยกจากพ่อแม่แล้ว นกเอี้ยงสาลิกาทำรังตามชายคาบ้านและสิ่งก่อสร้าง คอต้นตาล ต้นมะพร้าว ต้นปาล์ม โพรงต้นไม้ หรือกิ่งไม้ โดยใช้วัสดุพวกกิ่งไม้ขนาดเล็ก ใบไม้ ใบหญ้า ฯลฯ มาวางซ้อนกันหรือแทรกเข้าไปในหลืบหรือในโพรง ขึ้นอยู่กับสถานที่และมักจะใช้รังหรือสถานที่เดิมทุกปี รังมีไข่ 4-5 ฟอง หายากที่มี 6 ฟอง

ไข่ : ไข่สีน้ำเงิน ขนาดของไข่โดยเฉลี่ย 21.9x30.8 มม. ทั้งสองเพศช่วยกันหาสถานที่ วัสดุสร้างรัง ฟักไข่ และเลี้ยงลูกอ่อน ใช้เวลาฟักไข่ 17-18 วัน ลูกนกอายุ 22-24 วันจะแข็งแรงและบินได้หลังจากนั้นจะแยกจากพ่อแม่ไปหากินตามลำพัง

สถานภาพ : เป็นนกประจำถิ่น พบบ่อยและปริมาณมากทั่วทุกภาค

กฎหมาย : จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง


Acridotheres tristis02.jpg Acridotheres tristis03.jpg


แหล่งที่มาของภาพ
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/7/7d/Acridotheres_tristis444.jpg
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/1/11/Acridotheres_tristis_(Wroclaw_zoo)-2.JPG/1024px-Acridotheres_tristis_(Wroclaw_zoo)-2.JPG
https://c1.staticflickr.com/9/8112/8612441849_d280dbc7ae_b.jpg