นกตีทอง

จาก ฐานข้อมูลนกในพื้นที่ชุ่มน้ำในบางอำเภอเมืองจังหวัดสุราษฎร์ธานี
Megalaima haemacephala01.jpg

วงศ์ : Megalaimidae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Megalaima haemacephala (Muller) 1776.
ชื่อสามัญ : Coppersmith barbet
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ : Crimson – breasted barbet

นกตีทองมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Megalaima haemacephala ชื่อชนิดมาจากรากศัพท์ภาษากรีกคือ haem,=a,-ato,-o หรือ haima แปลว่าเลือดหรือ สีแดง และ cephal,=a,-o หรือ –kephalos แปลว่าหัว ความหมายคือ “นกที่มีหัวเป็นสีแดง” พบครั้งแรกที่ประเทศฟิลิปปินส์ ทั่วโลกมีนกตีทอง 5 ชนิดย่อยประเทศไทยพบ 1 ชนิดย่อยคือ Megalaima haemacephala indica (Latham) ชื่อชนิดย่อยดัดแปลงจากชื่อสถานที่ที่พบครั้งแรก คือประเทศอินเดีย

กระจายพันธุ์ : ตั้งแต่ปากีสถาน จีนด้านตะวันตกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกาะสุมาตรา เกาะชวา จนถึงฟิลิปปินส์

ลักษณะทั่วไป : เป็นนกขนาดเล็ก (16-17 ซม.) จัดเป็นนกโพระดกที่มีขนาดเล็กที่สุด ตัวเต็มวัยลำตัวด้านบนสีเขียว หน้าผากสีแดง กระหม่อมตอนหน้าสีดำ ใบหน้าสีดำมีคิ้วและบริเวณใต้ตาสีเหลือง คอหอยสีเหลืองคอด้านล่างมีแถบสีแดง อกตอนบนสีเหลือง อกตอนล่างและท้องสีขาวอมเหลืองมีลายขีดสีเขียว ตัวไม่เต็มวัยลำตัวด้านบนและหัวสีเขียว บริเวณที่เป็นสีเหลืองซีดกว่าของตัวด้านบนและหัวสีเขียว บริเวณที่เป็นสีเหลืองซีดกว่าของตัวเต็มวัย อกตอนบนสีออกเทา ลายขีดที่อกตอนล่างและท้องสีเทาแกมเขียว

อุปนิสัยและอาหาร : อาศัยอยู่ตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่ารุ่น ป่าละเมาะ และสวนผลไม้ ตั้งแต่ระดับพื้นราบจนกระทั่งความสูง 800 เมตรจากระดับน้ำทะเล มักพบอยู่โดดเดี่ยวหรือเป็นคู่ แต่อาจพบเป็นฝูงใหญ่ตามต้นไม้ที่มีผลสุก และอาจพบอยู่รวมกับนกโพระดกและนกกินผลไม้ชนิดอื่น มันมักเกาะตามยอดไม้หรือกิ่งไม้แห้ง แล้วส่งเสียงร้อง มักร้องตลอดทั้งวันแต่จะร้องบ่อยมากในช่วงเช้าและบ่าย ในช่วงฤดูผสมพันธุ์มันมักร้องบ่อยกว่าฤดูอื่น มันร้อง “ต๊อง-ต๊อง-ต๊อง” ประมาณ 80 ครั้งต่อนาที่ คล้ายกับการเคาะไม้ให้จังหวะ เสียงของนกตีทองดังกังวานคล้ายกับการตีโลหะเช่นทองคำ มันจึงมีชื่อว่า “นกตีทอง” อาหารส่วนใหญ่ ได้แก่ ผลไม้ต่าง ๆ เช่น ไทร หว้า ตะขบ มะเม่า ผลของไม้เถา เป็นต้น นอกจากนี้ยังกินแมลงโดยเฉพาะแมลงเม่าที่กำลังบินออกจากรูดิน โดยบินโฉบจับแมลงเม่ากลางอากาศ และยังจิกกินตัวหนอนตามกิ่งไม้และใบไม้ด้วย

การผสมพันธุ์ : นกตีทองผสมพันธุ์ในช่วงฤดูร้อนต่อฤดูฝน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคมทำรังตามโพรงบนต้นไม้ที่ยืนต้นตายและค่อยข้างผุบางครั้งบนต้นไม้เนื้ออ่อนที่ยังมีชีวิต ส่วนใหญ่มันจะใช้ปากขุดเจาะโพรงเอง แต่บางครั้งก็ใช้โพรงที่นกหรือสัตว์อื่นทำไว้ หรือโพรงที่เกิดขั้นตามธรรมชาติ โพรงมีขนาดไม่แน่นอน ปกติลึก 25-80 ซม. โดยเฉลี่ยจะลึก 40 ซม. ปากโพรงมักมีขนาดเล็กพอที่ตัวนกลอดเข้าไปได้ แต่ภายในโพรงจะกว้างกว่าหลายเท่า ไม่มีวัสดุรองโพรง

ไข่ : มีรูปร่างค่อนข้างยาว สีขาวเป็นมันเล็กน้อย มีขนาดเฉลี่ย 17.5x25.2 มม. รังมีไข่ 2-4 ฟอง พบ 3 ฟองบ่อยที่สุด ทั้งสองเพศช่วยกันฟักไข่และเลี้ยงดูลูกอ่อน ใช้เวลาฟักไข่ 13–14 วัน ลูกนกแรกเกิดไม่ลืมตา ไม่มีขนปกคลุมร่างกาย และยังช่วยเหลือตนเองไม่ได้ พ่อแม่ต้องช่วยกันกกและป้อนอาหาร เมื่อลูกนกแข็งแรงและมีขนปกคลุมร่างกายพอประมาณแล้วมันจะเริ่มหัดบิน พ่อแม่จะยังคงป้อนอาหารให้ แม้ว่าลูกนกจิกอาหารกินเองได้ ประมาณ 1 เดือนหลังออกจากไข่ ลูกนกจะแยกจากพ่อแม่ไปหากินตามลำพัง

สถานภาพ : นกตีทองเป็นนกประจำถิ่น พบบ่อยและปริมาณมากทั่วทุกภาค

กฎหมาย : จัดนกตีทองเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง


Megalaima haemacephala02.jpg Megalaima haemacephala03.jpg Megalaima haemacephala04.jpg


แหล่งที่มาของภาพ
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/5/5e/Coppersmith_Barbet_(Megalaima_haemacephala)_in_Kolkata_I_IMG_7583.jpg
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/0/03/Coppersmith_Barbet_(Megalaima_haemacephala)_calling_in_Hyderabad_W_IMG_8282.jpg
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/e/e0/Megalaima_haemacephala,_coppersmith_barbet.jpg
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/7/72/Coppersmith_Barbet_(Megalaima_haemacephala)_in_Hyderabad,_AP_W_IMG_9625.jpg