นกอัญชันอกเทา

จาก ฐานข้อมูลนกในพื้นที่ชุ่มน้ำในบางอำเภอเมืองจังหวัดสุราษฎร์ธานี
Gallirallus striatus01.jpg

วงศ์ : Rallidae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gallirallus striatus (Linnaeus) 1766.
ชื่อสามัญ : Slaty-breasted rail
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ : Blue-breasted banded rail

นกอัญชันอกเทามีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Gallirallus striatus ชื่อชนิดมาจากรากศัพท์ภาษาละตินคือ =stria, -I แปลว่าร่องหรือขีด และ –tus เป็นคำลงท้าย ความหมายคือ “มีลายขีด” พบครั้งแรกที่ประเทศฟิลิปปินส์ ทั่วโลกมีนกอัญชันอกเทา 7 ชนิดย่อย ประเทศไทยพบ 1 ชนิดย่อยคือ Gallirallus striatus albivener Swainson ชื่อชนิดย่อยมาจากรากศัพท์ภาษาละตินคือ alb, -I, -id หรือ albus แปลว่าสีขาว และ vent, =er, -r, -ro หรือ ventris แปลว่าด้านล่างหรือท้องชื่อชนิดย่อยจึงหมายถึง “ท้องสีขาว” พบครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย

กระจายพันธุ์ : ในอินเดีย จีนตอนใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไต้หวัน หมู่เกาะอันดามัน หมู่เกาะนิโคบาร์ หมู่เกาะซุนดาใหญ่ เกาะสุลาเวซี และฟิลิปปินส์

ลักษณะทั่วไป : เป็นนกขนาดเล็ก (27 ซม.) ตัวเต็มวัยมีปากขาว กระหม่อม ท้ายทอย และคอด้านบนสีน้ำตาลแดง ลำตัวด้านบนสีเทาแกมน้ำตาลมีลายจุดและลายขีดสีขาว อกสีเทาเข้ม ลำตัวด้านล่างเป็นลายแถบสีขาวสลับดำ ขาและนิ้วสีเทา ตัวไม่เต็มวัยกระหม่อม ท้ายทอย คอ และลำตัวด้านบนมีลายขีดสีดำและน้ำตาล อกสีออกน้ำตาล ลำตัวด้านล่างสีจางกว่าและลายขีดไม่เด่นชัด

อุปนิสัยและอาหาร : อาศัยอยู่บริเวณชายน้ำที่ราบลุ่ม เช่น บึง หนอง อ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบ ทุ่งนาที่มีน้ำขัง เป็นต้น อาจพบได้ในป่าชายเลน และเคยมีรายงานพบในระดับความสูงถึง 1,300 เมตรจากระดับน้ำทะเล ปกติพบอยู่โดดเดี่ยวหรือเป็นคู่ หากินและมีกิจกรรมส่วนใหญ่ในช่วงเช้าตรู่เย็นค่ำ นกอัญชันอกเทาเวลาเดินลำตัวจะตั้งตรง หางกระดกขึ้นลงเป็นจังหวะ มันสามารถเดินบนพืชลอยน้ำได้ดีเนื่องจากมีนิ้วยาว เวลามีศัตรูจะเดินหรือวิ่งหลบซ่อนตามกอพืชนกอัญชันนอกเทาว่ายน้ำได้และอาจดำน้ำในบางโอกาสโดยเฉพาะเมื่อจวนตัว ปกติมันจะเดินบนพื้นดินบริเวณชายน้ำหรือบนพืชลอยน้ำมากกว่า อาหาร ได้แก่ เมล็ดหญ้า ต้นอ่อนของหญ้าหรือพืชน้ำ หอย ปู ปลา ตัวหนอน และแมลงต่าง ๆ

การผสมพันธุ์ : นกอัญชันอกเทาผสมพันธุ์ในช่วงฤดูฝนระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน ทำรังตามพื้นดิน กอหญ้า หรือบนพืชลอยน้ำ รังเป็นแบบง่าย ๆ เพียงใช้ใบหญ้า ใบพืช หรือใบกกมาวางซ้อนกันแล้วทำแอ่งตรงกลาง โดยทั่วไปรังมีเส้นผ่านศูนย์กลางขอบนอก 20-25 ซม. ไข่สีขาวแกมสีครีมถึงสีเนื้อแกมชมพู มีลายจุดและลายแต้มสีออกแดงมากทางด้านป้าน มีขนาดเฉลี่ย 25.8x33.7 มม. รังมีไข่ 5-7 ฟอง บางรังอาจมีมากถึง 9 ฟอง ทั้งสองเพศช่วยกันทำรังและฟักไข่ ใช้เวลาฟักไข่ทั้งสิ้น 19-22 วัน ลูกนกแรกเกิดลืมตาได้ มีขนอุยปกคลุมทั่วตัว หลังออกจากไข่ได้ไม่นานมันก็สามารถเดินตามพ่อแม่ไปหาอาหารได้

สถานภาพ : นกอัญชันอกเทาเป็นนกประจำถิ่นพบบ่อยและปริมาณปานกลางทางภาคเหนือ ภาคกลางและภาคใต้

กฎหมาย : จัดนกอัญชันอกเทาเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง


Gallirallus striatus02.jpg


แหล่งที่มาของภาพ
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/d/d3/Buff-banded_Rail_Fafa_Island.jpg
https://farm9.staticflickr.com/8237/8597086605_ffa9163215_o.jpg