นกกาแวน

จาก ฐานข้อมูลนกในพื้นที่ชุ่มน้ำในบางอำเภอเมืองจังหวัดสุราษฎร์ธานี
Crypsirina temia01.jpg

วงศ์ : Corvinae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Crypsirina temia (Daudin) 1800.
ชื่อสามัญ : Racket-tailed treepie
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ : นกกาแวน , Black racket-tailed treepie , Bronzed treepie

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Crypsirina temia ชื่อชนิดมาจากคำในภาษาฝรั่งเศสคือ le Temia ซึ่งเป็นชื่อเรียกนกชนิดนี้โดยเฉพาะ ในภาษากรีก temei แปลว่าตัด temno แปลว่าถูกตัด อาจหมายถึงรูปร่างของหางของนกชนิดนี้ พบครั้งแรกที่กรุงจาการ์ตาประเทศอินโดนีเซีย ไม่มีการแบ่งเป็นชนิดย่อย

กระจายพันธุ์ : ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และหมู่เกาะซุนดาใหญ่

ลักษณะทั่วไป : เป็นนกขนาดเล็ก – กลาง (33 ซม. รวมหางซึ่งยาวกว่า 20 ซม.) แตกต่างจากพวกนกแซงแซวโดยที่ปากหนากว่า ตาสีน้ำเงิน สีสันของร่างกายเป็นสีดำเหลือบเขียว หางยาวกว่า

อุปนิสัยและอาหาร : อาศัยอยู่ในป่าเบญจพรรณ ป่าชายเลน ป่ารุ่น ป่าละเมาะ และทุ่งโล่ง ตั้งแต่พื้นราบจนกระทั่งความสูง 900 เมตรจากระดับน้ำทะเลอาศัยและหากินตามกิ่งของต้นไม้ ไม้พุ่ม และยอดหญ้าไม่ลงมาบนพื้นดิน มักพบอยู่โดดเดี่ยว จากพฤติกรรมดังกล่าวและสีกลมกลืนกับธรรมชาติจึงทำให้มองไม่ค่อยเห็นตัว นอกจากได้ยินเสียงรัอง หรือช่วงที่กระโดดหรือบินจากกิ่งไม้หนึ่ง อาหารส่วนใหญ่ ได้แก่ แมลง ตัวหนอน และสัตว์ขนาดเล็ก อาจกินผลไม้บางชนิดด้วย

การผสมพันธุ์ : ผสมพันธุ์ในช่วงฤดูร้อนต่อฤดูฝนระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม ทำรังตามพุ่มไม้ ต้นไม้ขนาดกลาง หรือกอไผ่ รังเป็นรูปถ้วยประกอบด้วยกิ่งไม้แห้ง รากไม้ และต้นหญ้า นำมาวางซ้อนกันตามง่าม ทำตรงกลางให้เป็นแอ่ง แล้วรองรังด้วยวัสดุที่อ่อนนุ่ม เช่น ใบไม้ ใบหญ้า หรือดอกหญ้า

ไข่ : รังมีไข่ 2-4 ฟอง ไข่สีน้ำตาลอ่อน มีจุดสีน้ำตาลเข้มโดยรอบไข่ด้านป้าน ขนาดของไข่โดยเฉลี่ย 19.3X26.7 มม. ทั้งสองเพศช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อนใช้เวลาฟักไข่ 14-15 วัน ลูกนกเมื่อออกจากไข่มาใหม่ ๆ ยังไม่มีขนคลุมร่างกายและยังช่วยเหลือตนเองไม้ได้ ใช้เวลาเลี้ยงลูก 20-25 วัน

สถานภาพ : เป็นนกประจำถิ่น พบบ่อยและปริมาณปานกลาง พบทั่วทุกภาค แต่หากและมีปริมาณน้อยทางภาคใต้ตอนล่าง

กฎหมาย : จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง