นกกินเปี้ยว

จาก ฐานข้อมูลนกในพื้นที่ชุ่มน้ำในบางอำเภอเมืองจังหวัดสุราษฎร์ธานี
Todirhamphus chloris01.jpg

วงศ์ : Halcyonidae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Todirhamphus chloris (Boddaert) 1783.
ชื่อสามัญ : Collard kingfisher
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ : นกกินปู , นกปูเปี้ยว , White-collared kingfisher , Mangrove kingfisher

นกกินเปี้ยวมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Todirhamphus chloris ชื่อชนิดมาจากรากศัพท์ภาษากรีกคือ chlor,-o หรือ khloris แปลว่าสีเขียวหรือสีเขียวแกมเหลืองความหมายคือ “นกที่มีสีเขียวหรือสีเขียวแกมเหลือง” พบครั้งแรกที่เกาะบูรู (Buru) ในหมู่เกาะโมลุกกะ ประเทศอินโดนีเซีย ทั่วโลกมีนกกินเปี้ยว 47 ชนิดย่อยประเทศไทยพบเพียง 2 ชนิดย่อยคือ Todirhamphus chloris armstrongi Bowdler Sharpe ชื่อชนิดย่อยดัดแปลงจากชื่อของบุคคล พบชนิดย่อยนี้ครั้งแรกที่กรุงเทพมหานคร และ Todirhamphus chloris humii Bowdler Sharpe ชื่อชนิดย่อยดัดแปลงจากชื่อของบุคคล พบชนิดย่อยนี้ครั้งแรกที่รัฐเซลังงอ ประเทศมาเลเซีย

กระจายพันธุ์ : ในอินเดีย จีนด้านตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หมู่เกาะอันดามัน หมู่เกาะนิโคบาร์ หมู่เกาะซุนดา ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย และแปรซิฟิกตะวันตกเฉียงใต้

ลักษณะทั่วไป : เป็นนกขนาดเล็ก (23-24 ซม.) ปากสีดำ ขนบริเวณหูสีน้ำเงิน หัว ลำตัวด้านบน และปีกด้านบนเป็นสีเขียวแกมน้ำเงิน ลำตัวด้านล่างสีขาวรอบคอมีแถบสีขาว ขาและนิ้วสีดำ ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะและสีสันเหมือนกัน

อุปนิสัยและอาหาร : อาศัยอยู่ในป่าชายเลน ป่าที่น้ำทะเลท่วมถึง ป่าชายหาด และสวนผลไม้ใกล้กับแม่น้ำลำคลอง ส่วนใหญ่พบอยู่โดดเดี่ยวหรือเป็นคู่ไม่ค่อยพบอยู่เป็นฝูง มีกิจกรรมในเวลากลางวัน มักเกาะตามกิ่งไม้แห้งหรือตอไม้เช่นเดียวกับนกกระเต็นชนิดอื่น ขณะเกาะลำตัวตั้งเกือบตรง มันบินได้ดีสามารถหลบหลีกต้นไม้และกิ่งไม้ในป่าที่แน่นทึบได้อย่างคล่องแคล่ว ขณะบินมักร้อง “เกร็ก-เกร็ก-เกร็ก” ช้ำ ๆ กัน บางครั้งก็ร้องขณะเกาะ อาหารนกกินเปี้ยวกินปู โดยเฉพาะปูเปี้ยวหรือปูก้ามดาบ ปูแสม และปูตามป่าชายเลน นอกจากนี้มันยังกินแมลง กบ เขียด ปลา งู กิ้งก่า และจิ้งจก มันหาอาหารโดยเกาะตามกิ่งไม้หรือตอไม้ บางครั้งตามโขดหินหรือเนินดินที่น้ำท่วมไม่ถึง คอยจ้องหาเหยื่อ เมื่อพบเหยื่อมันจะบินลงมาโฉบจับด้วยปาก แล้วคาบเหยื่อบินขึ้นไปเกาะตามกิ่งไม้ ฟาดเหยื่อจนตาบ จากนั้นมันจะกลืนเหยื่อทั้งตัว บางครั้งมันยังบินโฉบจับแมลงกลางอากาศด้วย

กาผสมพันธุ์ : นกกินเปี้ยวผสมพันธุ์ในช่วงฤดูฝนระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม ปกติทำรังตามโพรงต้นไม้ที่อยู่บริเวณแหล่งหากิน โพรงอาจเกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือเป็นโพรงที่สัตว์อื่นทำไว้ เช่น มด ปลวก กระรอก เป็นต้น บางตัววางไข่บนตอไม้ซึ่งยอดหักตามธรรมชาติหรือถูกโค่น โพรงหรือตอไม้มักอยู่ไม่สูงจากพื้นดินนัก ปกติไม่มีวัสดุรองโพรง หากต้นไม้ต้นหนึ่งมีหลายโพรง ทุกโพรงจะถูกนกกินเปี้ยวใช้ทำรังหมด บางครั้งจะพบมันจิกตีกันเพื่อแย่งสถานที่ทำรังบางคู่อาจใช้โพรงที่นกกินเปี้ยวคู่อื่นทิ้งรังไปแล้ว

ไข่ :มีรูปร่างค่อนข้างกลม สีขาวเป็นมัน ไม่มีลาย มีขนาดเฉลี่ย 24.0x29.1 มม. รังมีไข่ 3-4 ฟอง ทั้งสองเพศช่วยกันฟักไข่ จะเริ่มฟักเมื่อออกไข่ฟองสุดท้ายแล้ว ส่วนใหญ่มันฟักไข่ในเวลากลางคืน แต่วันที่ฝนตกหรืออากาศเย็นอาจฟักในเวลากลางวันด้วยใช้เวลาฟักไข่ทั้งสิ้น 19-21 วัน ลูกนกแรกเกิดยังไม่ลืมตา ขาและนิ้วยังไม่แข็งแรง และไม่มีขนปกคลุมลำตัว ช่วงนี้พ่อแม่จะช่วยกันกกลูกและหาอาหารมาป้อน ในขณะที่ตัวใดตัวหนึ่งไปหาอาหาร อีกตัวหนึ่งจะคอยเฝ้าป้องกันอันตรายอยู่บริเวณปากโพรง อาหารที่นำมาป้อนในระยะแรกมักเป็นแมลง สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และสัตว์เลื้อยคลาน เมื่อลูกนกเติบโตพอประมาณแล้วพวกมันจึงจะนำปูเปี้ยวมาป้อน พ่อแม่นกจะป้อนอาหารด้วยการเกาะที่ปากโพรง ลูกนกจะยื่นปากออกมารับอาหารเอง ลูกนกเจริญเติบโตและพัฒนาขนปกคลุมลำตัวค่อนข้างเร็ว อายุ 2-3 สัปดาห์ก็แข็งแรง สามารถบินได้และทิ้งรัง

สถานภาพ : นกกินเปี้ยวเป็นนกประจำถิ่น พบบ่อยและปริมาณมาก ชนิดย่อย armstrongi พบตามชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย ตั้งแต่จังหวัดตราดจนถึงคอคอดกระ ชนิดย่อย humii พบตามชายฝั่งทะเลอันดามันและฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยตั้งแต่คอคอดกระลงไปจนใต้สุด

กฎหมาย : จัดนกกินเปี้ยวทุกชนิดย่อยเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง