นกยางไฟธรรมดา

จาก ฐานข้อมูลนกในพื้นที่ชุ่มน้ำในบางอำเภอเมืองจังหวัดสุราษฎร์ธานี
Ixobrychus cinnamomeus01.jpg

วงศ์ : Ardeidae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ixobrychus cinnamomeus (Gmelin) 1789.
ชื่อสามัญ : Cinnamon bittern
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ : นกยางไฟหัวน้ำตาล

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ixobrychus cinnamomeus ชื่อชนิดเป็นคำในภาษาละตินคือ cinnamum หรือ cinnamon แปลว่าสีอบเชยหรือสีน้ำตาลแดง ความหมายคือ “นกยางไฟที่มีสีอบเชยหรือสีน้ำตาลแดง” พบครั้งแรกที่ประเทศจีน ไม่มีการแบ่งเป็นชนิดย่อย

กระจายพันธุ์ : ทั่วไปในอินเดียหมู่เกาะอันดามัน หมู่เกาะนิโคบาร์ พม่า จีนตอนใต้และตะวันออก ไต้หวัน เกาะไหหลำ อินโดจีน ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

ลักษณะทั่วไป : เป็นนกขนาดเล็ก – กลาง (37 – 38 ซม.) คอยาวปานกลาง แข้งและนิ้วสีเขียวแกมเหลือง หัว ปลายปี กลางปีก ปลายหาง และลำตัวด้านบนเป็นสีน้ำตาลแดง คอด้านข้างมีลายขีดสี ขาว ลำตัวด้านล่างสีจางกว่าลำตัวด้านบน ตัวเมียแตกต่างจากตัวผู้ตรงที่ลำตัวด้านล่างมีลายขีดสีน้ำตาลเข้มตังแต่คอจรดโคนหาง ตัวไม่เต็มวัยมีสีคล้ายตัวเมียแต่ลำตัวด้านล่างมีลายขีดมากกว่า

อุปนิสัยและอาหาร : พบอยู่โดดเดี่ยวหรือเป็นคู่ อาศัยอยู่ตามป่ากก ป่าจูด และป่าหญ้าในแหล่งน้ำทั้งน้ำจืดและน้ำกร่อย มีกิจกรรมในช่วงเช้าตรู่และเย็นค่ำแต่บางครั้งอาจพบมันหากินในเวลากลางวันด้วย เวลามีภัยหรือสิ่งรบกวนมันมีอุปนิสัยเหมือนกับนกยางไฟหัวดำ คือจะบินหนีทันที แต่หากเป็นช่วงทำรังวางไข่จะเดินหลบเข้าไปในพุ่มหญ้าหรือพืชที่เป็นแหล่งที่ทำรังให้ไกลจากรังพอสมควรแล้วจึงบินหนี เวลากลับรังก็จะไม่บินลงมาที่รังโดยตรง แต่จะบินลงที่พุ่มหญ้าหรือพืชไกลจากรังพอสมควรแล้วจึงเดินเข้ารังเพื่ออำพรางตำแหน่งของรัง หากจอนตัวลูกนกที่ยังบินไม่ได้ก็สามารถว่ายน้ำหนีได้ อาหารได้แก่แมลงที่อยู่ตามกอพืชในน้ำหรือชายน้ำ เช่น ตั๊กแตน แมลงปอเข็ม แมลงปอบ้าน มวน ผีเสื้อ จิ้งหรีด ตัวหนอน เป็นต้น อย่างไรก็ตามจากการวิเคราะห์เศษอาหารที่ตกค้างในรังซึ่งพ่อแม่นกสำรอกออกมาเลี้ยงลูกอ่อน พบว่าอาหารส่วนใหญ่คือปลาที่อาศัยอยู่ในน้ำที่ไม่ลึกมากนัก เช่น ปลากระดี่หม้อ ปลาช่อน ปลาสร้อยนกเขา ปลาซิวหาแดง ปลากริม เป็นต้น และยังมีสัตว์น้ำอื่นอีกเล็กน้อย เช่น กุ้ง กบ เขียด หอย ปู เป็นต้น นอกจากนี้เคยมีผู้รายงานว่ามันกินงูขนาดเล็กอีกด้วย มันหาอาหารโดยการเกาะตามพุ่มหรือกิ่งก้านของพืชน้ำคอยจ้องหาเหยื่อ เมื่อพบเหยื่อมันจะใช้ปากงับแล้วกลืนเข้าปากทั้งตัว บางครั้งมันก็เดินย่องไปตามพืชลอยน้ำ เช่น จอก แหน บัว ผักตบชวา เป็นต้นเมื่อพบเหยื่อมันจะใช้ปากงับแล้วกลืนเข้าปากเช่น เดียวกัน

การผสมพันธุ์ : นกยางไฟธรรมดาผสมพันธุ์ในช่วงฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคมก่อนทำรังตัวผู้จะเกี้ยวพาราสีตัวเมียโดยส่งเสียงร้องและบินไล่ต้อน เมื่อตัวเมียยินยอม มันจึงผสมพันธุ์กันจากนั้นทั้งคู่จะช่วยกันเลือกสถานที่ หาวัสดุ และสร้างรัง รังเป็นแบบง่าย ๆ เพียงใช้กิ่งก้านหรือใบพืชมาวางซ้อนกันบริเวณโคนกอพืชที่ขึ้นในน้ำ เช่น กกสามเหลี่ยม กกกลม จูดหนู หญ้า เป็นต้น แล้วทำแอ่งตรงกลางเพื่อรองรับไข่ โดยทั่วไปรังมีเส้นผ่านศูนย์กลางขอบนอก 23 – 25 ซม. แอ่งตรงกลางลึก 9 – 12 ซม. และอยู่สูงกว่าระดับน้ำ 10 – 20 ซม.

ไข่ : สีขาว ผิวเรียบ ไม่มีลาย มีขนาดเฉลี่ย 26.45x33.32 มม. รังมีไข่ 2 – 4 ฟอง โดยพบ 4 ฟอง บ่อยที่สุด ทั้งสองเพศจะช่วยกันฟักไข่ตั้งแต่ออกไข่ฟองแรก ใช้เวลาฟักไข่ประมาณ 15 – 17 วัน ลูกนกจะออกจากไข่เองโดยใช้ฟันเจาะเปลือกไข่ ลูกนกแรกเกิดมีรูปร่างเทอะทะ หนักประมาณ 10 กรัม ผิวหนังสีแดง ตาสีดำ เบ้าตาสีฟ้า ปาก ขาและนิ้วเป็นสีแดงมีขนอุยสีขาวปกคลุมลำตัวบางส่วน โดยมากทางลำตัวด้านบน เมื่อออกจากไข่แล้ว พ่อแม่จะช่วยกันคาบเปลือกไข่ไปทิ้งนอกรัง เมื่อลูกนกมีอายุได้ 4 วัน ขนปลายปีกและขนหางจะเริ่มงอกพ้นผิวหนัง อายุ 1 สัปดาห์ปากเป็นสีเหลือง ขาสีเขียวอมเหลือง ขนปกคลุมลำตัวสีน้ำตาลแดง อายุ 2 สัปดาห์ลูกนกจะมีขนแข็งปกคลุมลำตัว นิ้วแข็งแรง สามรถปีนป่ายออกนอกรังได้ อายุ 3 สัปดาห์เริ่มหัดบินในระยะใกล้ ๆ อายุ 4 สัปดาห์ขึ้นไปลูกนกจะมีลักษณะคล้ายกับตัวเต็มวัยแต่ยังมีขนาดเล็กกว่า เมื่อบินได้แข็งแรงมันจะแยกจากพ่อแม่ไปหากินเองตามลำพัง ในช่วงที่ออกจากไข่ใหม่ ๆ จนกระทั่งก่อนบินได้แข็งแรง ลูกนกยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ พ่อแม่ต้องช่วยกันกกและหาอาหารมาป้อนโดยการสำรอกอาหารใส่ปากลูกนก แต่เมื่อลูกนกโตพอประมาณแล้วพ่อแม่จะสำรอกอาหารไว้ที่พื้นรังให้ลูกนกจิกกินเอง พ่อแม่จะเริ่มหาอาหารให้ลูกนกตั้งแต่ออกจากไข่ได้ประมาณ 3 ชั่วโมง

สถานภาพ : เป็นนกประจำถิ่น พบบ่อยและปริมาณปานกลางทั่วทุกภาค แต่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบได้บางแห่ง

กฎหมาย : จัดนกยางไฟธรรมดาเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง


Ixobrychus cinnamomeus02.jpg Ixobrychus cinnamomeus03.jpg Ixobrychus cinnamomeus04.jpg


แหล่งที่มาของภาพ
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/c/c1/Ixobrychus_minutus_1_(Martin_mecnarowski).jpg
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/d/d9/Chestnut_or_Cinnamon_Bittern_Ixobrychus_cinnamomeus_Juvenile_by_Dr_Raju_Kasambe_DSC_1380_(3).jpg
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/2/29/Ixobrychus_cinnamomeus_(2).JPG
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/8/8e/Ixobrychus_cinnamomeus_Jaunpur.JPG