นกกาเหว่า

จาก ฐานข้อมูลนกในพื้นที่ชุ่มน้ำในบางอำเภอเมืองจังหวัดสุราษฎร์ธานี
Eudynamys scolopacea01.jpg

วงศ์ : Corvinae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Eudynamys scolopacea (Linnaeus) 1758.
ชื่อสามัญ : Asian koel
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ : นกดุเหว่า , Common koel , Koel

นกกาเหว่ามีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Eudynamys scolopacea ชื่อชนิดมาจากชื่อสกุลของนกปากซ่อมดง Scolopax และ –aceus เป็นรากศัพท์ภาษาละตินแปลว่าคล้าย ความหมายคือ “ลักษณะคล้ายนกปากซ่อมดง” พบครั้งแรกที่ชายฝั่ง Malabar ประเทศอินเดีย ทั่วโลกมีนกกาเหว่า 18 ชนิดย่อย ประเทศไทยพบ 2 ชนิดย่อยคือ Eudynamys scolopacea chinensis Cabanis and Heine ชื่อชนิดย่อยดัดแปลงจากชื่อสถานที่ที่พบครั้งแรก คือที่เมืองกวางตุ้งประเทศจีน และ Eudynamys scolopacea malayana Cabanis and Heine ชื่อชนิดย่อยดัดแปลงจากชื่อสถานที่ที่พบครั้งแรก คือประเทศมาเลเซีย

กระจายพันธุ์ : ในอินเดีย จีนตอนใต้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกาะไหหลำ ไต้หวัน หมู่เกาะอันดามัน หมู่เกาะนิโคบาร์ หมู่เกาะซุนดาใหญ่ ฟิลิปปินส์ หมู่เกาะโซโลมอน และออสเตรเลีย

ลักษณะทั่วไป : เป็นนกขนาดเล็ก-กลาง (43 ซม.) เมื่อเปรียบเทียบกันนกคัดดูแซงแซว นกกาเหว่าจะมีขนาดใหญ่กว่า และแตกต่างจากอีกาตรงที่ปากสีเขียวอ่อน ตาสีแดง ขาและนิ้วสีเทา ส่วนอีกามีปากตา ขาและนิ้วเป็นสีดำ นกกาเหว่ามีหางยาว ปีกสั้นปลายปีกมน ตัวผู้หัวและลำตัวทั้งหมดสีดำเป็นมันเหลือบสีน้ำเงิน ตัวเมียสีน้ำตาลเข้มมีลายจุดและลายขีดสีขาวและสีเนื้อทั่วร่างกาย

อุปนิสัยและอาหาร : อาศัยอยู่ตามป่าละเมาะสวนผลไม้ ที่กสิกรรม ป่าชายเลน และป่าโปร่ง ซึ่งไม่สูงจากระดับน้ำทะเลมากนัก มักพบอยู่โดดเดี่ยว แต่ในฤดูผสมพันธุ์พบเป็นคู่ มันมักเกาะตามพุ่มไม้หรือกิ่งไม้ที่มีใบแน่นทึบ ทำให้สังเกตเห็นตัวได้ยาก นอกจากจะได้ยินเสียงร้อง หรือเมื่อมันบินออกมาจากพุ่มไม้นกกาเหว่าบินได้ดี เร็ว และตรง ลักษณะการกระพือปีกคล้ายเหยี่ยว ในฤดูผสมพันธุ์จะได้ยินเสียงมันร้องเป็นประจำ ส่วนใหญ่เป็นช่วงเช้าของแต่ละวัน ตัวผู้ร้องเป็น 2 พยางค์ “โก-เอว” หรือ “กา-เว้า” ดังกังวานได้ยินไปไกลมาก เมื่อนกตัวตัวหนึ่งร้อง ตัวอื่นจะร้องตอบการร้องเป็นการประกาศอาณาเขตที่ครอบครองและเพื่อดึงดูดเพศตรงข้าม ส่วนตัวเมียจะร้อง “กิก-กิก-กิก-กิก” รัวและเร็ว มันมักร้องในขณะที่กระโดดไปตามกิ่งไม้ เป็นการร้องตอบการเกี้ยวพาราสีของตัวผู้ หรือร้องเพื่อหนีความก้าวร้าวของตัวผู้ อาหารนกกาเหว่ากินผลไม้เปลือกอ่อน โดยเฉพาะลูกโพธิ์ ไทร กร่าง และหว้า และผลไม้เปลือกแข็งบางอย่าง เช่น ลูกปาล์ม เป็นต้น นอกจากนี้มันยังกินตัวหนอนและแมลง รวมทั้งขโมยกินไข่ของนกขนาดเล็ก เช่น นกขมิ้นน้อย นกปรอด เป็นต้น

การผสมพันธุ์ : นกกาเหว่ามีฤดูผสมพันธุ์ช่วงฤดูหนาวถึงฤดูร้อนระหว่างเดือนธันวาคมถึงเดือนพฤษภาคมนกกาเหว่าเป็นนกปรสิตเช่นเดียวกับนกคัดคู มันวางไข่ในรังของนกอื่น โดยเฉพาะอีกา ปกตินกกาเหว่าตัวเมียจะวางไข่ในตอนสายหลังจากที่อีกาออกไปหากินตั้งแต่ช่วงเช้าตรู่แล้ว

ไข่ : ไข่ของนกกาเหว่ามีลักษณะคล้ายไข่อีกามาก แต่มีขนาดเล็กกว่า สีเทาแกมเขียว มีลายขีดหรือดอกดวงสีน้ำตาลแกมแดง มีขนาดเฉลี่ย 23.6x31.0 มม. ในรังอีกาอาจพบไข่นกกาเหว่าปะปนกับไข่ของอีกกามากถึง 11 ฟอง ซึ่งอาจเป็นไข่นกกาเหว่าหลายตัว ไม่เคยปรากฏว่ามีรังใดที่มีแต่ไข่ของนกกาเหว่าอย่างเดียว ปกติก่อนวางไข่นกกาเหว่าจะต้องทำลายไข่อีกาเสียก่อนแล้วจึงออกไข่ของต้นเองแทนที่ แต่บางรังมันก็วางไข่โดยไม่ทำลายไข่ของนกเจ้าของรัง เมื่อวางไข่แล้วมันจะทิ้งให้อีกาฟักไข่ ใช้เวลาฟักเป็นตัวประมาณ 18-20 วัน ซึ่งเร็วกว่าไข่อีกา เมื่อลูกนกกาเหว่าออกจากไข่แล้ว พ่อแม่อีกาจะหาอาหารมาป้อนลูกนกกาเหว่าพร้อมกับฟักไข่ของมันเองด้วย จากการสังเกตพบว่าในช่างที่อีกาออกจากรังไปหาอาหาร นกกาเหว่าตัวเมียก็หาอาหารมาแอบป้อนลูกของตัวเองด้วย ซึ่งพฤติกรรมนี้แตกต่างจากนกคัดคูที่ไม่สนใจแม้กระทั่งไข่ของมันเองเมื่อลูกอีกาออกจากไข่แล้ว พ่อแม่อีกาต้องทำหน้าที่หนักขึ้น เพราะต้องหาอาหารมาป้อนลูกนกกาเหว่าและลูกของตัวเอง ลูกนกกาเหว่ามักไม่ทำร้ายลูกอีกาเนื่องจากแม่นกกาเหว่าช่วยหาอาหารมาป้อนด้วย ไม่เหมือนกับลูกนกคัดคูที่มักทำร้ายลูกนกเจ้าของรังหรืออาจเป็นเพราะลูกนกกาเหว่ามีขนาดเล็กกว่าลูกอีกานอกจากนี้นกกาเหว่ายังแอบไปขโมยวางไข่ในรังของนกหลายชนิด เช่น นกเอี้ยง นกกิ้งโครง เป็นต้น พฤติกรรมอาจแตกต่างจากการวางไข่ในรังอีกาโดยคล้ายกับนกคัดคูทั้งนี้เพราะนกกาเหว่ามีขนาดใหญ่กว่านกเจ้าของรัง

สถานภาพ : นกกาเหว่าเป็นนกประจำถิ่น พบบ่อยและปริมาณปานกลาง ชนิดย่อย chinensis ในช่วงฤดูผสมพันธุ์พบทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนนอกฤดูผสมพันธุ์พบทั่วไปจนถึงจังหวัดตรัง ส่วนชนิดย่อย malayana พบทั่วไปทุกฤดูกาลทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคใต้

กฎหมาย: จัดนกกาเหว่าทุกชนิดย่อยเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง


Eudynamys scolopacea02.jpg Eudynamys scolopacea03.jpg Eudynamys scolopacea04.JPG


แหล่งที่มาของภาพ
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/4/4a/Asian_koel.jpg
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/c/cf/Asian_Koel_(Eudynamys_scolopacea)_eyeing_Ficus_religiosa_fig_W_IMG_8227.jpg
https://c1.staticflickr.com/1/212/452168657_11aa8d2d93_b.jpg
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/e/e6/Asiankoel1.JPG/972px-Asiankoel1.JPG