นกยางไฟหัวดำ

จาก ฐานข้อมูลนกในพื้นที่ชุ่มน้ำในบางอำเภอเมืองจังหวัดสุราษฎร์ธานี
Ixobrychus sinensis01.JPG

วงศ์ : Ardeidae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ixobrychus sinensis (Gmelin) 1789.
ชื่อสามัญ : Yellow bittern
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ : Chinese yellow bittern , Chinese little bittern

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ixobrychus sinensis ชื่อชนิดมาจากรากศัพท์ภาษาละตินสมัยใหม่คือ sinens แปลว่าแห่งประเทศจีน ซึ่งเป็นสถานที่ที่พบนกชนิดนี้เป็นครั้งแรก ความหมายคือ “นกยางไฟที่พบครั้งแรกที่ประเทศจีน” ไม่มีการแบ่งเป็นชนิดย่อย

กระจายพันธุ์ : ในอินเดีย พม่า ไทย อินโดจีน จีน ไต้หวัน มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และนิวกินี

ลักษณะทั่วไป : เป็นนกขนาดเล็ก-กลาง (37-38 ซม.) ปากหนาและตรง มีสีเหลือง ยาวกว่า 5.2 ซม. นับว่าเป็นปากที่ยาวที่สุดในบรรดานกยางไฟด้วยกันคอยาวปานกลาง แต่ขณะบินและยืนนิ่งจะหดคอสั้นปีกยาวปานกลาง ประมาณ 9.5-13.0 ซม. ปลายปีกค่อนข้างแหลม ขายาวปานกลาง มีขนปกคลุมเกือบถึงข้อ แข้งและนิ้วสีเขียวแกมเหลือง ลำตัวเป็นสีน้ำตาลแดง บริเวณหัว ขนปลายปีก โคนปีก และปลายหาเป็นสีดำ ตัวผู้ลำตัวด้านล่างสีน้ำตาลอ่อน ตัวเมียและตัวไม่เต็มวัยมีลายขีดสีน้ำตาลตั้งแต่คางจนถึงท้องซึ่งแตกต่างจากตัวผู้ชัดเจน และสามารถแยกออกได้ง่ายแม้จะสังเกตในธรรมชาติ

อุปนิสัยและอาหาร : มักพบอยู่โดดเดี่ยวหรือเป็นคู่ อาศัยอยู่ตามกก อ้อ หรือหญ้าสูงบริเวณแหล่งน้ำ เช่น บึง ทะเลสาบ หนอง คลอง ชายเลน เป็นต้น เวลามีศัตรูหรือสิ่งรบกวนจะบินหนีหรือเดินหลบไปยังพงพืชที่ทึบกว่า ช่วงทำรังวางไข่ ถ้ามีศัตรูหรือสิ่งรบกวนมันจะเดินหลบไปให้ไกลจากบริเวณที่สร้างรังพอสมควรแล้วจึงบินหนี เวลาบินกลับรังมันจะไม่บินลงมาที่รังโดยตรง แต่จะลงห่างจากรังมันจะไม่บินลงมาที่รังโดยตรง แต่จะลงห่างจากรังพอสมควรแล้วค่อย ๆ เดินผ่านกอพืชไปยังรังเพื่อไม่ให้ศัตรูสังเกตตำแหน่งของรังได้ พฤติกรรมนี้จัดเป็นพฤติกรรมอำพรางอย่างหนึ่งบางครั้งเมื่อถึงคราวจำเป็น ลูกนกที่ยังบินไม่ได้ก็สามารถว่ายน้ำหนี เมื่อแน่ใจว่าปลอดภัยแล้วหรือพ่อแม่ร้องเรียกจึงจะกลับรัง นกยางไฟหัวดำหากินและมีกิจกรรมในช่วงเช้าตรู่หรือเย็นค่ำ แต่บางครั้งอาจออกหากินในเวลากลางวันด้วย อาหารส่วนใหญ่ได้แก่แมลง โดยเฉพาะแมลงปอเข็ม แมลงปอบ้าน จิ้งหรีด และตัวหนอนของแมลงนอกจากนี้ยังกินงูขนาดเล็กและสัตว์น้ำ เช่น ปลา กุ้ง หอย ปู กบ เขียด เป็นต้น มันหาอาหารโดยการเกาะตามต้นพืชหรือพืชลอยน้ำจ้องหาเหยื่อ เมื่อพบจะใช้ปากงับแล้วกลืนทันที

การผสมพันธุ์ : นกยางไฟหัวดำผสมพันธุ์ในช่วงต้นฤดูฝนประมาณกลางเดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคมทำรังอยู่โดดเดี่ยวตามพืชที่ขึ้นอยู่ในน้ำหรือชายน้ำ เช่น อ้อ กก หญ้าต่างๆ ไม่อยู่เป็นกลุ่มอย่างนกยางสีขาวทั่วไป ก่อนทำรังตัวผู้จะเกี้ยวพาราสีโดยส่งเสียงร้องและบินไล่ต้อนตัวเมีย เมื่อตัวเมียยินยอม ทั้งคู่จะผสมพันธุ์กันจากนั้นทั้งคู่จะช่วยกันหาวัสดุและสร้างรัง รังเป็นแบบง่าย ๆ เพียงใช้ก้านและสำต้นพืชบริเวณที่สร้างรังมาวางซ้อนกันบทโคนของพืชเหล่านั้นแล้วทำแอ่งตรงกลางโดยทั่วไปรังมีเส้นผ่านศูนย์กลางขอบนอก 20-25 ซม. แอ่งตรงกลางลึก 8-10 ซม. และอยู่สูงจากระดับน้ำ 10 – 15 ซม.

ไข่ : สีขาวไม่มีลาย มีขนาดเฉลี่ย 26-35X33.60 มม. รังมีไข่ 3-5 ฟอง พบ 4 ฟองบ่อยที่สุด มันจะวางไข่ทุกวัน วันละ 1 ฟองในช่วงเช้า ทั้งสองเพศช่วยกันฟักไข่ตั้งแต่ออกไข่ฟองแรก ใช่เวลาฟักไข่ประมาณ 15-17 วัน ลูกนกจะใช้ฟันเจาะเปลือกไข่เจาะออกมาเอง ลูกนกแรกเกิดหนักประมาณ 10 กรัม ตาโปนสีดำ เบ้าตาสีฟ้า ปากและขาสีแดง มีขนอุยสีขาวหรือสีออกครีมปกคลุมลำตัวบางส่วน ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ทางลำตัวด้านบน ผิวหนังส่วนที่ไม่มีขนปกคลุมมีสีแดง เมื่อลูกนกมีอายุ 1 สัปดาห์ปากจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ขาเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมเขียว เริ่มมีขนแข็งสีน้ำตาลอมเหลืองปกคลุมลำตัว สามารถเดินและเกาะตามกิ่งพืชที่อยู่รอบ ๆ รังได้ดี อายุ 3-4 สัปดาห์ ลูกนกจะมีขนแข็งปกคลุมทั่วตัว มีสีคล้ายกับตัวเต็มวัย ตัวเมีย แต่ตัวเล็กกว่า และจะเริ่มหัดบิน หลังจากนั้นลูกนกจะแยกจากพ่อแม่ไปหากินเองตามลำพัง ช่วงที่ลูกนกยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ พ่อแม่ต้องช่วยกันกกและหาอาหารมาป้อนโดยการสำรอกอาหารใส่ปากลูกนกซึ่งอ้าปากรอรับอยู่ เมื่อลูกนกโตพอประมาณแล้วพ่อแม่จะสำรอกอาหารไว้ที่พื้นรังให้ลูกนกจิกกินเอง

สถานภาพ : เป็นทั้งนกประจำถิ่นและนกที่อพยพมายังประเทศไทยช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ พบบ่อยและปริมาณปานกลางทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ ทางภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบบางส่วน

กฎหมาย : จัดนกยางไฟหัวดำเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง


Ixobrychus sinensis02.jpg