เหยี่ยวแดง

จาก ฐานข้อมูลนกในพื้นที่ชุ่มน้ำในบางอำเภอเมืองจังหวัดสุราษฎร์ธานี
Haliastur in dus01.jpg

วงศ์ : Accipitridae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Haliastur in dus (Boddaert) 1783.
ชื่อสามัญ : Brahminy kite
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ : Red-backed sea eagle

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Haliastur indus ชื่อชนิดมาจากรากศัพท์ภาษาละตินคือ indus แปลว่าแห่งประเทศอินเดีย ความหมายคือ “เหยี่ยวที่อยู่ในหรือใกล้ทะเล พบที่ประเทศอินเดีย” พบครั้งแรกที่เมือง Pondicherry ประเทศอินเดีย ทั่วโลกมี 4 ชนิดย่อย ประเทศไทยพบ 2 ชนิดย่อยคือ Haliastur indus indus (Boddaert) ชื่อชนิดย่อยมีที่มาและความหมาย เช่นเดียวกับชื่อชนิด และ Haliastur indus intermedius Gurney ชื่อชนิดย่อยมาจากรากศัพท์ภาษาละตินคือ inter แปลว่าระหว่าง และ medi, -a, -o แปลว่ากึ่งกลาง ความหมายคือ “นกที่มีขนาดกลางหรือมีลักษณะระหว่างนกสองชนิด” พบครั้งแรกที่เกาะชวาประเทศอินโดนีเซีย

กระจายพันธุ์ : ในอินเดีย จีนตอนใต้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หมู่เกาะซุนดาใหญ่ และฟิลิปปินส์

ลักษณะทั่วไป : เป็นนกขนาดกลาง (46 – 47 ซม.) ปากแหลมคม ปลายปากเป็นปากขอ หัวค่อนข้างใหญ่ คอสั้น ปีกกว้าง ปลายปีกมน ปีกแต่ละข้างยาวประมาณ 35.5-39.9 ซม. หางกว้าง ปลายหางค่อนข้างมน ขาและนิ้วแข็งแรง ปลายนิ้วเป็นเล็บยาวและแหลมคม ทั้งสองเพศมีลักษณะเหมือนกัน ตัวเต็มวัยลำตัวสีน้ำตาลแดง ตัดกับสีของหัว คอ และอกที่เป็นสีขาวชัดเจน ส่วนที่เป็นสีขาวมีลายขีดสีน้ำตาลแกมดำกระจายทั่วไป ขณะบินจะเห็นหางแผ่กว้างปลายหางค่อนข้างมนชัดเจน ตัวไม่เต็มวัยสีน้ำตาลอ่อน มีจุดสีน้ำตาลเข้มทั่วตัว

อุปนิสัยและอาหาร : มีกิจกรรมและหากินในเวลากลางวันตามทุ่งโล่งใกล้แหล่งน้ำ โดยเฉพาะตามแม่น้ำลำคลองขนาดใหญ่ จะพบบ่อยมากบริเวณปากแม่น้ำ ชายทะเล ท่าเรือ และตามป่าชายเลน พบอยู่โดดเดี่ยวเป็นคู่ หรือเป็นฝูง มันชอบเกาะตามกิ่งไม้หรือยอดไม้แห้งในระดับสูง ขณะเกาะลำตัวตั้งเกือบตรง บินได้ดีมักบินร่อนเป็นวงกลม หรือร่อนไปตามแม่น้ำ หรือชายฝั่งซึ่งปกติไม่สูงจากระดับน้ำมากนัก เหยี่ยวแดงกินปลาเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ยังกินสัตว์มีกระดูกสันหลังขนาดเล็ก เช่น กบ เขียด กิ้งก่า งู ค้างคาว เป็นต้น มันจะล่าเหยื่อทั้งที่มีชีวิตอยู่และกินซากของสัตว์เหล่านี้ หาอาหารโดยบินหรือร่อนเป็นวงกลมตามลำน้ำ ลำคลอง ชายทะเล หรือชายเลน เมื่อพบจะบินลงมาโฉบด้วยกรงเล็บ ซึ่งบางครั้งอาจจมลงไปน้ำทั้งตัว เมื่อได้เหยื่อแล้ว มันจะน้ำขึ้นไปบนกิ่งไม้ที่อยู่ใกล้ ๆ จิกและฉีกกินเนื้อโดยใช้กรงเล็บช่วยจับเหยื่อบางครั้งพบมันไล่โฉบนกที่กำลังบินอยู่กลางอากาศ หรือค้างคาวที่บินออกจากถ้ำหรือแหล่งที่อยู่อาศัยช่วงพลบค่ำสำหรับซากสัตว์ต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่ ปลาตามสะพานปลาหรือท่าเรือขนถ่ายปลา มันจะเกาะตามกิ่งไม้เมื่อเห็นว่าปลอดคนจึงบินลงมากินซากปลา โดยใช้ปากจิกและฉีกกิน หรืออาจใช้กรงเล็บจับแล้วน้ำขึ้นไปกินบนกิ่งไม้

การผสมพันธุ์ : เหยี่ยวแดงผสมพันธุ์ในช่วงฤดูหนาวต่อฤดูร้อนระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายนทำรังตามกิ่งไม้ที่อยู่ใกล้กับแหล่งน้ำ ปกติรังอยู่ในระดับที่สูงจากพื้นดินพอสมควร ไม่ต่ำกว่า 5 เมตร ทั้งสองเพศช่วยกันหาวัสดุและสร้างรัง รังเป็นแบบง่าย ๆ โดยนำก่องไม้มาวางซ้อนกันตามกิ่งหรือง่ามไม้ ทำแอ่งตรงกลางเพื่อรองรับไข่ โดยทั่วไปรังมีเส้นผ่านศูนย์กลางขอบนอก 40 – 50 ซม. แอ่งตรงกลางลึก 10 – 15 ซม.

ไข่ : ไข่มีขนาดเฉลี่ย 36.0x50.2 มม. สีขาว ไม่มีจุดหรือลายใด ๆ แต่อาจมีรอยเปื้อนจาง ๆ สีแดงหรือสีน้ำตาลในบางฟอง รังมีไข่ 2-4 ฟอง ทั้งสองเพศผลัดกันฟักไข่ตั้งแต่ออกไข่ฟองแรก ใช้เวลาฟักไข่ประมาณ 29-31 วัน เมื่อออกจากไข่ใหม่ ๆ ลูกนกมีขนอุยสีขาวปกคลุมทั่วตัว ลืมตา แต่ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ โดยเฉพาะการหาอาหาร พ่อแม่ต้องคอยช่วยกันหาอาหารมาป้อน ลูกนกออกจากไข่ไม่พร้อมกันตัวที่ออกจากไข่ก่อนมักมีขนาดใหญ่กว่าตัวอื่น ๆ เพาะได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีและอาหารเพียงพอ เมื่อจำนวนลูกนกเพิ่มขึ้น อาหารที่พ่อแม่นำมาต้องเฉลี่ยให้ตัวอื่น ๆ จึงอาจไม่เพียงพอ อีกทั้งตัวที่มีขนาดเล็กกว่ามาสามารถแย่งอาหารได้จากตัวที่โตกว่า ลูกนกตัวสุดท้าย คือตัวที่ 3 หรือ 4 มักตายหลังจากออกจากไข่ได้ไม่กี่วัน ดังนั้นในรังหนึ่งลูกนกจะรอดเป็นตัวเต็มวัยเพียง 1 – 2 ตัวเท่านั้น อาหารของลูกนกส่วนใหญ่ ได้แก่ ปลาและสัตว์ที่เป็นอาหารของพ่อแม่ ในช่วงแรกพ่อแม่จะใช้ปากฉีกอาหารออกเป็นชิ้น ๆ เฉลี่ยให้ลูกเท่า ๆ กัน และพยายามกันลูกตัวที่โตกว่าไม่ให้ไปแย่งอาหารจากตัวที่เล็กกว่า แต่เมื่อลูก ๆ โตพอประมาณแล้ว พ่อแม่จะนำอาหารมาทิ้งไว้ทั้งตัว ลูก ๆ ต้องแย่งกันฉีกและกินอาหารเอง ตัวที่เล็กกว่ามักแย่งอาหารไม่ทันตัวที่โตกว่าพ่อแม่จะเลี้ยงดูลูก ๆ จนกระทั่งแข็งแรง บินได้ดีและล่าเหยื่อเองได้ จากนั้นก็จะทิ้งรังไป ซึ่งใช้เวลาประมาณ 40 – 45 วันหลังออกจากไข่

สถานภาพ : เป็นนกประจำถิ่น พบบ่อยและปริมาณปานกลาง ชนิดย่อย indus พบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ฝั่งตะวันออก ชนิดย่อย intermedius พบเฉพาะทางภาคใต้ฝั่งตะวันตก

กฎหมาย : จัดเหยี่ยวแดงเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง


Haliastur in dus02.jpg Haliastur in dus03.jpg


แหล่งที่มาของภาพ
https://c2.staticflickr.com/2/1399/534737271_a6018a9ca4.jpg
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/2/2f/Haliastur_indus_-Karratha,_Pilbara,_Western_Australia,_Australia-8.jpg/1260px-Haliastur_indus_-Karratha,_Pilbara,_Western_Australia,_Australia-8.jpg
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/b/bd/Haliastur_indus_-Karratha,_Pilbara,_Western_Australia,_Australia_-flying-8_(15).jpg