ผลต่างระหว่างรุ่นของ "นกกระจิบหญ้าท้องเหลือง"

จาก ฐานข้อมูลนกในพื้นที่ชุ่มน้ำในบางอำเภอเมืองจังหวัดสุราษฎร์ธานี
(ล็อก "นกกระจิบหญ้าท้องเหลือง" ([แก้ไข=อนุญาตเฉพาะผู้ดูแลระบบ] (ไม่มีกำหนด) [เปลี่ยนชื่อ=อนุญ...)
(ไม่แตกต่าง)

รุ่นปรับปรุงเมื่อ 07:43, 9 ธันวาคม 2558

วงศ์ : Prinia Horsfield
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Prinia flaviventris (Delessert) 1840.
ชื่อสามัญ : Yellow-bellied Prinia
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ : Yellow-bellied Wren Warbler

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Prinia flaviventris ชื่อชนิดมาจากรากศัพท์ภาษาละตินคือ flav หรือ flavus แปลว่าสีเหลืองแกมทอง และ vent, =er, -r, -ro หรือ ventris แปลว่าท้อง ความหมายคือ "นกที่บริเวณท้องเป็นสีเหลืองแกมทอง" พบครั้งแรกที่รัฐเบงกอล ประเทศอินเดีย ทั่วโลกมี 7 ชนิดย่อย ประเทศไทยพบ 2 ชนิดย่อยคือ Prinia flaviventris delacouri Deignan ชื่อชนิดย่อยมากชื่อบุคคล พบครั้งแรกที่จังหวัดเชียงใหม่ และ Prinia Flaviventris rafflesi Tweeddale ชื่อชนิดย่อยมาจากชื่อบุคคล พบครั้งแรกที่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย

กระจายพันธุ์ : ตั้งแต่ปากีสถานจนถึงจีนตอนใต้ เกาะไหหลำ ไต้หวัน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหมู่เกาะซุนดาใหญ่

ลักษณะทั่วไป : เป็นนกขนาดเล็กมาก (13 ซม.) แตกต่างจากนกกระจิบหญ้าสีเรียบโดยบริเวณหัวเป็นสีเทา ลำตัวด้านบนสีเขียวแกมเหลือง ท้องสีเหลือง คอหอยและอกสีขาวถึงสีครีม คิ้วและวงรอบเบ้าตาสีขาว ซึ่งบางครั้งมองไม่เห็นเมื่อดูในธรรมชาติ แตกต่างจากพวกนกกระจ้อยต่าง ๆ โดยหางยาวกว่า ตัวไม่เต็มวัย ลำตัวด้านบนมีลายแต้มสีน้ำตาล ลำตัวด้านล่างและคิ้วสีเหลืองอ่อน ปลายขนหางมีสีขาว

อุปนิยสัยและอาหาร : พบตามป่าหญ้า ป่าละเมาะ บริเวณชายแหล่งน้ำ รวมทั้งริมป่าชายเลนและทุ่งโล่ง บริเวณที่แห้งแล้งกว่า ตั้งแต่พื้นราบจนกระทั่งความสูง 800 เมตรจากระดับน้ำทะเล อุปนิสัยไม่แตกต่างจากนกกระจิบหญ้าสีเรียบ

การผสมพันธุ์ : ผสมพันธุ์ในช่วงฤดูร้อนและต้นฤดูฝนระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน ขณะที่ Robson (2000) กล่าวว่าทำรังระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนกันยายน รังเป็นรูปเกือบทรงกลมหรือรูปไข่ มีทางเข้าออกขนาดใหญ่อยู่ทางด้านข้างเกือบตอนบนสุด ประกอบด้วยใบหญ้า รากหญ้า และใบไม้ และเชื่อมหรือเย็บติดกันด้วยใยแมงมุม รองพื้นด้วยดอกหญ้าหรือหญ้าที่ฉีกเป็นชิ้นละเอียด ทำรังตามพุ่มกอหญ้าหรือพุ่มไม้ สูงจากพื้นดิน 50-150 ซม. รังมีไข่ 4 ฟอง

ไข่ : สีน้ำตาลแดง ขนาดของไข่โดยเฉลี่ย 11.7x15.2 มม. ทั้งสองเพศช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน เริ่มฟักหลังจากออกไข่ฟองสุดท้ายแล้ว ใช้เวลาฟักไข่ทั้งสิ้น 12 วัน ลูกนกที่ออกจากไข่ใหม่ ๆ เป็นลูกอ่อนเดินไม่ได้ พ่อแม่ต้องคอยช่วยหาอาหารมาป้อน อายุ 11-12 วันจึงมีขนเต็มตัวและบินได้ เป็นนกอีกชนิดหนึ่งที่มีนกคัดคูขนาดเล็กหลายชนิดแอบเข้ามาวางไข่ไว้ให้เลี้ยงดูลูกอ่อนแทน

สถานภาพ : เป็นนกประจำถิ่น พบบ่อยและปริมาณมาก ชนิดย่อย delacouri พบทั่วทุกภาคยกเว้นภาคใต้ ชนิดย่อย rafflesi พบเฉพาะทางภาคใต้ตั้งแต่คอคอดกระลงไป

กฎหมาย : จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง