นกหนูแดง

จาก ฐานข้อมูลนกในพื้นที่ชุ่มน้ำในบางอำเภอเมืองจังหวัดสุราษฎร์ธานี

วงศ์ : Porzanz Vieillot
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Porzana fusca (Linnaeus) 1766.
ชื่อสามัญ : Ruddy-breasted Crake
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ : Ruddy Crake

นกหนูแดงมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Porzana fusca ชื่อชนิดมาจากรากศัพท์ภาษาละตินคือ fuscus แปลว่า สีเทา สีดำ หรือสีน้ำตาล ความหมายคือ “นกสีเทา ดำหรือน้ำตาล” พบครั้งแรกที่ประเทศฟิลิปปินส์ Ali and Ripley (1972) จัดนกหนูแดงไว้ในสกุลเดียวกันกับนกกวักโดยใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Amaurornis fuscus (Linnaeus) ในเล่มนี้จัดไว้ในสกุลนกอัญชัน ทั่วโลกมีนกหนูแดง 4 ชนิดย่อย ประเทศไทยพบ 1 ชนิดย่อยคือ Porzana fusca bakeri Hartert ชื่อชนิดย่อยดัดแปลงจากชื่อของ Stuart Baker (1864-1944) นักปักษีวิทยาชาวอังกฤษ พบครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย

กระจายพันธุ์ : ในเอเชียตะวันออกอินเดีย จีนตอนใต้และตะวันออก พม่า ไทย ไต้หวัน เกาะสุมาตรา เกาะสุลาเวซี และฟิลิปปินส์

ลักษณะทั่วไป : เป็นนกขนาดเล็ก (22 ซม.) มีขนาดเล็กกว่านกอัญชันป่าขาแดง นกอัญชันป่าขาเทาและนกอัญชันจีน ปีกสั้นกว่า 12.3 ซม. ไม่มีขีดสีขาว ท้อง สีข้าง และขนคลุมโคนขนหางด้านล้างมีลายสีขาวแต่ไม่เด่นชัดนัก ตัวเต็มวัยกระหม่อม ท้ายทอย และคอด้านบนเป็นสีน้ำตาลแกมเขียว ลำตัวด้านล่างสีน้ำตาลแดง ขอและนิ้วสีแดง ตัวไม่เต็มวัยลำตัวเป็นสีน้ำตาลคอหอยและกลางท้องสีขาว ขนคลุมโคนขนหางด้านล่างมีลายแถบสีดำสลับขาว ขาและนิ้วสีน้ำตาลแกมแดง

อุปนิสัยและอาหาร : อาศัยอยู่ตามชายแหล่งน้ำเช่น บึง หนอง ทะเลสาบ ทุ่งนาที่มีน้ำขัง ป่าชายเลน เป็นต้น พบอยู่โดดเดี่ยวหรือเป็นฝูง หากินและมีกิจกรรมส่วนใหญ่ในช่วงเช้าตรู่และเย็นค่ำ ปกติจะพบมีนเดินตามพื้นดิน ชายน้ำ หรือบนพืชลอยน้ำ เวลามีสิ่งรบกวนหรือศัตรูจะวิ่งหลบซ่อนตามกอหญ้าหรือกอพืชที่ขึ้นอยู่ใกล้ ๆ ไม่ค่อยบินนอกจากจวนตัว มันสามารถว่ายน้ำและดำน้ำได้ ในช่วงอพยพมันบินได้ดี อาหาร ได้แก่ ต้นอ่อนของพืชและหญ้า หอย กุ้ง ปลา แมลง ตัวหนอน และสัตว์ขนาดเล็กต่าง ๆ

การผสมพันธุ์ : นกหนูแดงผสมพันธุ์ในช่วงฤดูฝนระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน ทำรังบนพื้นดิน ในกอหญ้าที่ขึ้นตามชายน้ำ หรือทำบนพืชลอยน้ำรังเป็นแบบง่าย ๆ โดยนำใบหญ้า กก หรือพืชมาวางซ้อนกัน แล้วทำแอ่งตรงกลางเพื่อรองรับไข่ ไข่สีครีมจางมีลายแต้มสีน้ำตาลถึงน้ำตาลแดง มีขนาดเฉลี่ย 25.6x31.4 มม. รังมีไข่ 5-8 ฟอง ทั้งสองเพศช่วยกันสร้างรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน ใช้เวลาฟักไข่ 19-20 วัน ลูกนกแรกเกิดลืมตาได้มีขนอุยปกคลุมทั่วลำตัว เมื่อขนแห้งก็สามารถเดินตามพ่อแม่ไปหาอาหารได้ เมื่อแข็งแรงและโตพอประมาณแล้ว อายุ 1-2 เดือนลูกนกจึงแยกจากพ่อแม่ไปหากินตามลำพัง

สถานภาพ : นกหนูแดงเป็นนกประจำถิ่น บางส่วนอพยพมาสมทบในช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ พบบ่อยและปริมาณปานกลางทั่วทุกภาค

กฎหมาย : ระบุว่า “นกอัญชันทุกชนิดในวงศ์ Rallidae” เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง นอกจากนี้ยังระบุนกในวงศ์นี้ที่มีชื่ออื่น เช่น นกกวัก นกอีล้ำ นกอีลุ้ม นกอีโก้ง เป็นต้น แต่ไม่ได้ระบุ “นกหนูแดง” ไว้ ดังนั้นการเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของนกหนูแดงจึงยังมีปัญหาอยู่