งิ้ว

จาก ฐานข้อมูลพืชสมุนไพรในศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาท่าเพชรจังหวัดสุราษฎร์ธานี
Ngiw.png

วงศ์ : Bombacaceae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bombax ceiba L.
ชื่อสามัญ : Cotton tree, Kapok tree, Red cotton tree, Silk cotton, Shving brush
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ : งิ้วบ้าน, งิ้วแดง, งิ้วปง, งิ้วปงแดง, สะเน้มระกะ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้น : ไม้ยืนต้นขนาดกว้างถึงขนาดใหญ่ ลักษณะของต้นเป็นรูปทรงพุ่มเป็นรูปไข่ มีความสูงของลำต้นประมาณ 15-25 เมตร บ้างต้นสูงประมาณ 25-30 เมตร และความกว้างของทรงพุ่มประมาณ 15 เมตร ลำต้นมีลักษณะเปลาตรงและมีหนามอยู่ทั่วลำต้นและกิ่ง ต้นอ่อนจะเป็นสีเขียวอ่อน เมื่อแก่จะเป็นสีเขียวเข้ม
ใบ : ใบประกอบแบบนิ้วมือ มีใบย่อยประมาณ 3-7 ใบเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรีถึงรูปไข่ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบเรียว ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2.5 นิ้ว และยาวประมาณ 6-10 นิ้ว ใบสีเขียวไม่มีขน แผ่นใบค่อนข้างหนาและเกลี้ยง ก้านช่อใบยาว โคนก้านบวมเล็กน้อย
ดอก : ดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกตามปลายกิ่งหรือตามปลายยอด ดอกมีขนาดใหญ่สีชมพูแกมเลือดหมู สีแดง สีแสด และมีที่เป็นสีทองแต่หาได้ยาก ดอกมีกลิ่นหอมเอียน ออกดอกเป็นกระจุกหรือเป็นกลุ่ม กลุ่มละประมาณ 3-5 ดอก ฐานรองดอกเป็นรูปถ้วยแข็ง ๆ หรือเป็นกลีบเลี้ยงติดกัน ปลายแยกออกเป็น 5 กลีบขนาดเล็ก สีเขียวอ่อน ส่วนกลีบดอกมีขนาดใหญ่และหนา มี 5 กลีบเป็นรูปขอบขนาน เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 8-10 เซนติเมตร ปลายกลีบจะแผ่ออกและม้วนกลับมาทางขั้วของดอก หลุดร่วงได้ง่าย ดอกมีเกสรตัวผู้เป็นเส้นยาวจำนวนมาก เรียงกระจายเป็นวงรอบ สีขาวปนสีชมพู ส่วนเกสรตัวเมียมี 1 ก้าน สีชมพู บริเวณปลายเป็นจุดสีเข้มมีความเหนียว ส่วนรังไข่จะอยู่เหนือวงกลีบ
ผล : ผลมีลักษณะยาวรีคล้ายฝักรูปทรงกระบอก ที่ปลายทั้งสองข้างของผลจะแหลม ผลเมื่ออ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาล เปลือกของผลแข็ง มีความยาวประมาณ 6-8 นิ้ว และเมื่อแก่จัดจะแตกอ้าออกตามรอยประสาน ในผลมีเส้นหรือปุยสีขาวและมีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก ลักษณะเป็นรูปทรงกลมสีดำ และถูกห่อหุ้มด้วยปุยฝ้ายสีขาว ๆ
การขยายพันธุ์  : วิธีการเพาะเมล็ด โดยจะพบขึ้นในที่ราบและตามป่าเบญจพรรณ ตามเชิงเขาและไหล่เขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 100-600 เมตร ซึ่งในปัจจุบันต้นงิ้วจะหาดูได้ยากมาก จะมีปลูกเฉพาะถิ่นทางภาคเหนือไม่กี่ที่เท่านั้น

สรรพคุณ

1. รากใช้เป็นยาบำรุงกำลัง (ราก)
2. ยางใช้เป็นยาบำรุงโลหิต (ยาง)
3. ช่วยแก้โรคมะเร็ง (เมล็ด)
4. เปลือกต้นช่วยบำรุงระบบการไหลเวียนของโลหิต (เปลือกต้น)
5. ช่วยรักษาโรคความดันโลหิตสูง ด้วยการใช้เปลือกต้นงิ้วแดง 1 กิโลกรัม นำมาล้างให้สะอาดและหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำไปใส่ในหม้อต้มยาสมุนไพร เติมน้ำสะอาดลงไป 5 ลิตรและต้มจนเดือด แล้วให้รินเอาแต่น้ำมาดื่มครั้งละ 1 แก้ว (250 มิลลิเมตร) วันละ 2 ครั้งทุกเช้าและเย็น (น้ำงิ้วที่ได้จะมีสีแดงเหมือนน้ำกระเจี๊ยบ) (เปลือกต้น)
6. ดอกแห้งใช้ทำเป็นยาแก้พิษไข้ได้ดีมาก (ดอก) ส่วนหนามมีสรรพคุณแก้ไข้ ลดความร้อน ดับพิษร้อน (หนาม) ช่วยแก้ไข้พิษ ไข้กาฬ (หนาม)
7. ช่วยระงับประสาท (ดอก)
8. ช่วยแก้อาการกระหายน้ำ (ดอก)
9. รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาทำให้อาเจียนถอนพิษ (ราก, เปลือกต้น)
10. ช่วยรักษาต่อมทอนซิลอักเสบ ต่อมในคออักเสบ (ใบ)
11. ช่วยแก้ต่อมน้ำลายอักเสบ (ใบ)
12. ช่วยรักษากระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง (เปลือกต้น, ราก)
13. ช่วยแก้อาการท้องเสีย ลงท้อง (เปลือกต้น, ราก, ดอก, ผล) บรรเทาอาการท้องเดิน (เปลือกต้น, ดอก)
14. เปลือกต้นช่วยแก้บิด (เปลือกต้น, ดอก, ยาง) แก้บิดมูกเลือด (ดอก) ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าดอกแดงจะใช้แก้บิดเลือด (บิดถ่ายเป็นเลือด) ให้นำดอกมาต้มเป็นน้ำชาผสมกับน้ำตาลทรายแดง ใช้ดื่มตอนท้องว่างวันละ 3 ครั้ง ส่วนดอกเหลืองจะใช้แก้บิดมูก ให้ใช้ดอกเหลืองหรือส้มที่เป็นดอกแห้ง เข้าใจว่าใช้ต้มเป็นน้ำชาดื่ม
15. ช่วยแก้อาการท้องร่วง โดยใช้ดอกตากแห้งนำมาต้มกับน้ำดื่ม (ยางจากต้, เปลือกต้น, ดอก)
16. ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร (ราก, เปลือกราก)
17. ช่วยแก้ตัวพยาธิ (ราก, เปลือกต้น, ดอก, ผล)
18. ช่วยขับปัสสาวะ (ดอก, ราก)
19. เมล็ดใช้เป็นยาร่วมกับพิมเสน ใช้รักษาโรคหนองในเรื้อรัง (เมล็ด)
20. ช่วยแก้ระดูตกหนักหรือออกมากเกินไป (ยาง)
21. ช่วยแก้อาการตกโลหิต (เปลือกต้น, ราก, ดอก, ผล)
22. ช่วยแก้ไตพิการ ไตชำรุด ไตอักเสบ ด้วยการใช้เปลือกต้นงิ้วแดงนำมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ตากแดดให้แห้ง นำมาต้มกินต่างน้ำทุกวัน (หรือจะเอาน้ำต้มจากเปลือกไปหมักเพื่อทำเอนไซม์ก็ได้) (เปลือกต้น)
23. ผลอ่อนใช้บำบัดรักษาแผลเรื้อรังในไต (ผลอ่อน)
24. ช่วยขับน้ำเหลืองเสีย (ยาง)
25. ดอกและรากมีสรรพคุณช่วยห้ามเลือด (ดอก, ราก, เปลือกราก, ยาง) ส่วนเมล็ดมีสรรพคุณช่วยห้ามเลือดภายใน (ยาง)
26. รากของต้นอ่อนใช้พอกสมานแผล (เปลือกต้น, ราก, เปลือกราก) ช่วยฝากสมาน (ยาง)
27. ใบและยอดอ่อนใช้ตำพอกรักษาฝี (ใบ) ส่วนรากช่วยแก้ฝีเปื่อยพัง (ราก, เปลือกต้น, ดอก, ผล) หนามช่วยแก้ฝีประคำร้อย (หนาม) และยังช่วยดับพิษฝี แก้พิษฝีต่าง ๆ (หนาม,ใบ)
28. ช่วยรักษาแผล ฝีหนอง (ดอก) หากเป็นแผลที่มีหนอง ให้ใช้เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำแล้วนำมาใช้ชะล้างทำความสะอาดแผล (เปลือกต้น)
29. ช่วยรักษาโรคผิวหนัง (เมล็ด)
30. ช่วยแก้อาการคัน (ดอก)
31. ช่วยแก้หัวลำมะลอก (เม็ดที่ขึ้นตามตัวเป็นหนองพุพองมีพิษ), หัวดาวหัวเดือน (เม็ดตุ่มที่ผุดขึ้นตามตัว มีพิษมาก มักขึ้นที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และนิ้วมือนิ้วเท้า) (ใบ)
32. ช่วยแก้พิษงูทุกชนิด (ราก,ใบ,ผล)
33. ดอกแห้งใช้ทำเป็นยาระงับอาการปวด (ดอก)
34. ใบแห้งหรือใบสดนำมาตำใช้ทาแก้อาการฟกช้ำ แก้บวม มีอาการอักเสบ (ใบ, ราก, ดอก, ผล) บรรเทาอาการฟกช้ำบวมจากการกระแทก ด้วยการใช้รากสดนำมาแช่เหล้า ใช้ถูทาหรือตำพอก (ดอก, เปลือกต้น, ราก, เปลือกราก)
35. ใช้ทาแก้น้ำร้อนลวก (ดอก)
36. ช่วยแก้อัมพาต เอ็นอักเสบ (เปลือกต้น) ใช้แก้คนที่เป็นอัมพาตครึ่งตัว (เปลือกต้น)
37. ชาวโอรังอัสลีในรัฐเประของประเทศมาเลเซียใช้ใบสดนำมาแช่กับน้ำต้มอาบเพื่อใช้รักษาอาการปวดเมื่อย (ใบ)
38. เมล็ดใช้เป็นยากระตุ้นความต้องการทางเพศ (ยาง)
39. ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของงิ้วแดง มีฤทธิ์ในการต้านไทอะมีนและมีผลต่อลำไส้ของหนูตะเภา และช่วยยับยั้งเอดส์

Ngiw1.png Ngiw2.png Ngiw3.png Ngiw4.png

แหล่งที่มาของภาพ
https://medthai.com/images/2014/01/งิ้วแดง2.jpg
https://medthai.com/images/2014/01/ดอกงิ้ว.jpg
https://medthai.com/images/2014/01/ต้นงิ้วแดง.jpg
https://i0.wp.com/herbth.wpcomstaging.com/wp-content/uploads/2019/02/Cotton-tree-_Orange__ต้นงิ้ว-ดอกส้ม_136.jpg?fit=2732%2C1186
https://medthai.com/images/2014/01/ผลงิ้ว.jpg