บุนนาค

จาก ฐานข้อมูลพืชสมุนไพรในศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาท่าเพชรจังหวัดสุราษฎร์ธานี
Bunnag.png

วงศ์ : Calophyllaceae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mesum ferrea L.
ชื่อสามัญ : Iron wood, Indian rose chestnut
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ : ปะนาคอ, สารภีดอย, นาคบุตร

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้น : ไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 15-25 เมตร และอาจสูงได้ถึง 30 เมตร ลักษณะเป็นทรงยอดพุ่มทึบและแคบ มีทรงพุ่มใหญ่ลักษณะคล้ายเจดีย์ต่ำ ๆ มีพูพอนเล็กน้อยตามโคนต้น เป็นไม้ไม่ผลัดใบ เนื้อไม้แข็ง กิ่งก้านเรียวเล็กห้อยลง เปลือกต้นมีสีน้ำตาลเข้ม มีรอยแตกตื้น ๆ หลุดร่วงได้ง่าย ที่เปลือกชั้นในจะมีน้ำยางสีเหลืองอ่อนเล็กน้อย ส่วนในเนื้อไม้จะมีสีแดงคล้ำเป็นมันเลื่อม พบได้มากในป่าดิบชื้น ตามลำธารหรือริมห้วย
ใบ : ใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกัน ลักษณะของใบคล้ายรูปหอกหรือรูปขอบขนานแกมรูปหอก ปลายใบเรียวแหลม คล้ายใบมะปราง โคนใบสอบ แผ่นใบหนา ผิวใบเรียบเกลี้ยง ท้องใบมีคราบขาวปกคลุมอยู่ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.2-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-13 เซนติเมตร ใบอ่อนจะมีสีชมพูออกแดง ส่วนใบแก่ด้านบนจะมีสีเขียวเข้ม ส่วนด้านล่างมีนวลสีเทา มีเส้นใบข้างมากแต่ไม่เห็นชัด ใบห้อยลงเป็นพู่ ก้านใบยาวประมาณ 0.8-1.2 เซนติเมตร
ดอก : ดอกเดี่ยวหรือดอกคู่ตามซอกใบหรือปลายกิ่ง กลีบดอกมีสีขาวจนถึงสีเหลืองอ่อน กลีบดอกมี 5 กลีบซ้อนกัน ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปไข่หัวกลับ ปลายบานและเว้า โคนสอบ ปลายกลีบย่นเล็กน้อย เมื่อดอกบานเต็มกลีบจะแผ่กว้างออก และมีเส้นผ่านศูนย์กลางของดอกราว 5-10 เซนติเมตร ดอกบุนนาคเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ดอกจะห้อยลง ก้านดอกยาวน้อยกว่า 1 เซนติเมตร มีเกสรตัวผู้มากกว่า 50 อัน เกสรตัวผู้ยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร มีสีเหลืองส้มและเป็นฝอย ส่วนอับเรณูเป็นสีส้ม ส่วนก้านเกสรตัวเมียมีสีขาว ก้านยาว มีรังไข่ 2 ช่อง กลีบเลี้ยง 4 กลีบ คล้ายรูปช้อน งอเป็นกระพุ้ง แยกเป็น 2 วง ลักษณะกลม และกลีบเลี้ยงจะแข็งหนาและอยู่คงทน เมื่อเป็นผลก็ยังคงติดกับผลอยู่ และดอกมีกลิ่นหอมเย็น
ผล : ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ ผลแข็งมาก ส่วนปลายโค้งแหลม ปลายไม่แตก เปลือกผลมีรอยด่างสีน้ำตาล มีขนาดกว้างประมาณ 2.5-3.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4 เซนติเมตร ผลมีสีส้มแก่หรือสีม่วงน้ำตาล มีเปลือกเป็นเส้นใยห่อหุ้มอยู่ และมีหยดยางเหนียว ที่ฐานมีกลีบเลี้ยงหนารองรับอยู่ 4 กลีบติดอยู่ และจะขยายโตขึ้นเป็นกาบหุ้มผล ภายในผลมีเมล็ด 1-4 เมล็ด ส่วนเมล็ดบุนนาคมีลักษณะของเมล็ดแบนและแข็ง มีสีน้ำตาลเข้ม
การขยายพันธุ์  : วิธีการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ

1. ช่วยชูกำลัง รักษาอาการอ่อนเพลีย (ดอก, ราก, แก่น)
2. ช่วยแก้กระหาย แก้ร้อน อาการกระสับกระส่าย (ดอก)
3. ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (ดอก)
4. ช่วยบำรุงโลหิต (ดอก, ราก, แก่น)
5. ช่วยบำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น (ดอก)
6. ดอกบุนนาคมีสรรพคุณช่วยแก้ไข้ (ดอก)
7. ใบใช้ตำเป็นยาพอกโดยผสมรวมกับน้ำนมและน้ำมันมะพร้าวใช้สุมหัวแก้ไข้หวัดอย่างแรง (ใบ)
8. ช่วยแก้ไข้สำประชวร (ดอก, ราก, แก่น)
9. ดอกใช้เป็นยารักษาไข้กาฬ (ดอก)
10. ผลมีสรรพคุณช่วยขับเหงื่อ หรือจะใช้เปลือกต้นนำมาต้มรวมกับขิงกินก็ได้ (ผล, เปลือกต้น)
11. แก่นมีรสเฝื่อน ช่วยรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน (แก่น, เนื้อไม้)
12. ช่วยแก้รัตตะปิตตะโรค (ดอก, ราก, แก่น)
13. แก้เลือดกำเดาไหล (ดอก, ราก, แก่น)
14. ช่วยแก้เสมหะในลำคอ (ดอก, ใบ, กระพี้)
15. สรรพคุณต้นบุนนาค กระพี้ช่วยแก้อาการสะอึก (กระพี้)
16. แก้ลมหาวเรอ ลมที่ทำให้หูอื้อ ตามัว (ดอก)
17. ช่วยแก้ลมกองละเอียดที่ทำให้มีอาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืดตาลาย ใจสั่น ใจหวิว (ดอก)
18. ช่วยแก้อาการร้อนในกระสับกระส่าย (ดอก)
19. แก้อาเจียน (ดอก)
20. รากมีรสเฝื่อน ช่วยขับลมในลำไส้ (ราก, ดอก, แก่น)
21. ผลบุนนาคใช้รับประทานเป็นยากระตุ้นการทำงานของร่างกาย ช่วยแก้น้ำเหลืองเสีย (ผล)
22. เปลือกต้น มีรสฝาดร้อนเล็กน้อย ช่วยฟอกน้ำเหลือง กระจายน้ำเหลือง และช่วยกระจายหนอง (เปลือกต้น)
23. ช่วยแก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ (ผล)
24. น้ำมันจากเมล็ดเป็นยาทาช่วยรักษาโรคผิวหนัง แก้ผดผื่นคัน แก้คิด และแผลเล็ก ๆ น้อย ๆ (น้ำมันจากเมล็ด)
25. ช่วยรักษาบาดแผลสด แก้แผลสด ใช้พอกบาดแผลสด (ใบ, ดอก)
26. ใช้เป็นยาฝาดสมาน (ผล, ดอกแห้ง, เปลือกต้น)
27. บุนนาคเปลือกต้นช่วยแก้อาการฟกช้ำ (เปลือกต้น)
28. น้ำมันจากเมล็ดใช้เป็นยานวดช่วยรักษาโรคปวดตามข้อ (น้ำมันจากเมล็ด)
29. ช่วยแก้พิษงู (ดอก,ใบ,เปลือกต้น)
30. น้ำมันจากดอกบุนนาค มีสาร Mesuol และ Mesuone ซึ่งมีฤทธิ์เหมือนยาปฏิชีวนะที่ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค (น้ำมันจากดอก)
31. น้ำมันจากเมล็ดมีฤทธิ์เป็นยาปฏิชีวนะช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคได้เช่นเดียวกับน้ำมันจากดอก ใช้เมล็ดตำใส่บาดแผล (เมล็ด)
32. ช่วยแก้กลิ่นเหม็นสาบในร่างกาย (ดอก, ราก, แก่น)
33. ช่วยบำรุงผิวกายให้สดชื่น (ดอก)
34. บุนนาคมีสรรพคุณช่วยคุมกำเนิด (ดอก, ใบ)
35. ดอกนำมาใช้เข้าเครื่องยาไทยสูตร "พิกัดเกสรทั้งห้า" (ดอกบุนนาค ดอกมะลิ ดอกพิกุล ดอกบัวหลวง ดอกสารภี), สูตร "พิกัดเกสรทั้งเจ็ด" (เพิ่มดอกจำปาและดอกกระดังงา), และสูตร "พิกัดเกสรทั้งเก้า" (เพิ่มดอกลำดวนและดอกลำเจียก) ซึ่งมีสรรพคุณช่วยบำรุงหัวใจ บำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น ช่วยทำให้ชื่นใจ แก้ลมกองละเอียด อาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืดตาลาย แก้ร้อนในกระสับกระส่าย บำรุงครรภ์สตรี มีกลิ่นหอม (ดอก)
36. ใช้อบเครื่องหอม ใช้แต่งกลิ่น เข้าเครื่องยาเป็นยาฝาดสมาน ช่วยบำรุงธาตุ บำรุงโลหิต แก้ไข้ แก้ไอ แก้ร้อนใน ขับเสมหะ ดับกระหาย หรือนำมาบดเป็นผงผสมกับเนยเหลว ใช้เป็นยาพอกรักษาริดสีดวง (ดอก)
37. เกสรบุนนาคมีรสหอมเย็น นำมาใช้เข้ายาหอม มีฤทธิ์เป็นยาฝาดสมาน ช่วยบำรุงธาตุ ทำให้หัวใจชุ่มชื่น ชื่นใจ แก้ไข้ ช่วยขับลม และบำรุงครรภ์ (เกสร)

Bunnag1.png Bunnag2.png Bunnag3.png Bunnag4.png

แหล่งที่มาของภาพ
https://medthai.com/images/2013/09/บุนนาค.jpg
https://medthai.com/images/2013/09/ดอกบุนนาค.jpg
https://i1.wp.com/herbth.wpcomstaging.com/wp-content/uploads/2019/12/Mesua-ferrea_ต้นบุนนาค_010.jpg?fit=2732%2C1186
https://i1.wp.com/herbth.wpcomstaging.com/wp-content/uploads/2019/12/Mesua-ferrea_ต้นบุนนาค_021.jpg?fit=2732%2C1186
https://i1.wp.com/herbth.wpcomstaging.com/wp-content/uploads/2019/12/Mesua-ferrea_ต้นบุนนาค_059.jpg?fit=2732%2C1186