งิ้วป่า

จาก ฐานข้อมูลพืชสมุนไพรในศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาท่าเพชรจังหวัดสุราษฎร์ธานี
Ngiw pa.png

วงศ์ : Malvaceae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bombax anceps Pierre
ชื่อสามัญ : Bombax, Cotton tree, Ngiu
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ : ง้าวป่า, ไกร่, นุ่นป่า, งิ้วดอกขาว, ไกร

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้น : ไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นประมาณ 15-25 เมตร และสามารถสูงได้ถึง 30 เมตร ลำต้นเปลาตรง และมักมีพูพอนต่ำ ๆ เมื่อต้นยังเล็กจะมีลักษณะเรือนยอดจะเป็นชั้น ๆ เมื่อต้นโตเต็มที่จะมีลักษณะเป็นทรงเรือนยอด ด้านบนจะแบน เปลือกต้นเป็นสีเทา มีหนามแข็งอยู่ทั่วลำต้น โดยเฉพาะต้นอ่อนและกิ่งก้าน และหนามจะลดลงเมื่อต้นโตขึ้น แต่กิ่งก้านยังคงมีหนามเช่นเดิม
ใบ : ใบเป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ เรียงสลับเวียนเป็นกลุ่มที่ปลายกิ่ง มีใบย่อยประมาณ 5-7 ใบ แผ่นใบมีลักษณะเป็นรูปใบหอกหรือรูปไข่ ใบมีความกว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตรและยาวประมาณ 7-15 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบเป็นรูปลิ่ม ส่วนขอบใบเรียบ ก้านใบย่อยมีความยาวประมาณ 0.5-1.8 เซนติเมตร ส่วนก้านใบรวมยาวประมาณ 10-17 เซนติเมตร ส่วนก้านใบรวมก็ยาวเท่า ๆ กับก้านใบย่อย
ดอก : ดอกเป็นดอกเดี่ยว มีขนาดประมาณ 6.5-8 เซนติเมตร ดอกเป็นสีขาวครีมแกมสีม่วง ออกดอกเป็นกลุ่ม กลุ่มละประมาณ 2-4 ดอก ออกดอกกระจายอยู่ทั่วเรือนยอดที่กำลังผลัดใบ ส่วนกลีบเลี้ยงดอกที่โคนเชื่อมติดกันมีลักษณะเป็นรูประฆัง มี 2-4 พู เป็นสีเขียวสด เชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยบนฐานดอกที่แข็ง ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ ดอกจะโค้งงอไปด้านหลังส่วนของกลีบเลี้ยง กลีบดอกเป็นสีขาว มีขนละเอียดด้านนอก ดอกมีเกสรตัวผู้จำนวนมาก ประมาณ 250-300 อัน มีสีขาวเชื่อมติดกันเป็นกลุ่ม แยกเป็น 5 กลุ่ม และเชื่อมกันเป็นหลอด ส่วนด้านล่างจะห่อหุ้มไปด้วยก้านเกสรตัวเมีย โดยเกสรตัวเมียจะเป็นสีชมพูอมม่วงและมีก้านเดียว ปลายแยกเป็น 5 แฉกซึ่งจะอยู่ชิดติดกัน
ผล : ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกยาวหรือเป็นรูปทรงกระสวย มีความกว้างของผลประมาณ 5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 12-15 เซนติเมตร ขอบขนาน โค้งงอเล็กน้อยและมีสันตื้น ๆ 5 สัน เมื่อผลแห้งแล้วจะแตกตามรอยประสาน ภายในผลมีปุยสีขาวห่อหุ้มเมล็ดอยู่ โดยเมล็ดมีลักษณะกลมสีดำและมีขนาดเล็กคล้ายกับเมล็ดฝ้าย
การขยายพันธุ์  : วิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินที่ไม่อุ้มน้ำ ชอบแสงแดดจัด สามารถพบได้ทั่วไป แต่มักขึ้นตามป่าเบญจพรรณที่มีหินปูน ป่าเบญจพรรณตามเชิงเขาและไหล่เขาตามภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตกเฉียงใต้ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 600-1,000 เมตร

สรรพคุณ

1. ยางใช้เป็นยาบำรุงกำลัง (ยาง, ราก) ส่วนรากใช้เป็นยากระตุ้นและยาบำรุงกำลัง (ราก)
2. ช่วยแก้พิษไข้ (ดอกแห้ง)
3. เปลือกใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการร้อนใน (เปลือก)
4. รากและเปลือกมีรสฝาดเย็น มีสรรพคุณทำให้อาเจียน (ราก, เปลือก)
5. เปลือกต้นใช้ผสมกับเปลือกต้นนุ่น ใช้ต้มกับน้ำดื่ม ช่วยแก้อาการเป็นพิษ (เปลือกต้น)
6. เปลือกต้นมีรสฝาดเย็น ช่วยแก้อาการท้องเสีย (เปลือกต้น) หรือจะใช้รากนำมาต้มกับน้ำดื่มก็เป็นยาแก้ท้องเสียได้ด้วยเช่นกัน (ราก)
7. ช่วยแก้อาการท้องร่วง (ยาง)
8. ยางและเปลือกต้นช่วยแก้บิด (ยาง, เปลือกต้น) หรือจะใช้รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้โรคบิดก็ได้เช่นกัน (ราก) หรือจะใช้เปลือกต้นผสมกับเปลือกต้นนุ่น นำมาต้มกับน้ำดื่มก็ได้ (เปลือกต้น)
9. รากมีรสจืดเย็น ใช้ต้มดื่มช่วยขับปัสสาวะ (ราก)
10. ช่วยแก้ระดูของสตรีมามากกว่าปกติ (ยาง)
11. ช่วยขับน้ำเหลืองเสีย (ยาง)
12. ช่วยแก้อาการคัน (ดอกแห้ง)
13. ดอกแห้งมีรสหวานเย็น ช่วยรักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก (ดอกแห้ง) หรือจะใช้แก่นเป็นส่วนผสมเข้ายาเพื่อรักษาแผลน้ำร้อนลวกก็ได้ (แก่น)
14. ช่วยห้ามเลือดที่ตกภายใน (ยาง)
15. ดอกและผลมีรสหวานและฝาดเย็น ช่วยแก้พิษงู (ดอก, ผล)
16. ช่วยรักษาแผลอักเสบ (เปลือก)
17. ช่วยรักษาโรคผิวหนัง (เมล็ด)
18. ช่วยแก้อาการปวด (ดอกแห้ง, แก่น)
19. ใบใช้ตำพอกแก้อาการฟกช้ำ (ใบ)
20. ยางมีรสเย็นเมา ช่วยกระตุ้นความต้องการทางเพศ (ยาง)
21. ใบมีรสเย็น ใช้บดผสมน้ำทาแก้ต่อมทอนซิลอักเสบ (ใบ)

Ngiw pa1.png Ngiw pa2.png Ngiw pa3.png Ngiw pa4.png

แหล่งที่มาของภาพ
http://lh6.ggpht.com/-dZ4ZEnT4hGE/VCikUCA5LdI/AAAAAAAALhk/dxwx3-F55pc/s1600/image5.png
https://medthai.com/images/2014/01/งิ้วป่า.jpg
http://www.phargarden.com/userfiles/image/images/ph024_Ngewpa/ph024_2.jpg
http://www.phargarden.com/userfiles/image/images/ph024_Ngewpa/ph024_08.jpg
http://www.phargarden.com/userfiles/image/images/ph024_Ngewpa/ph024_1.JPG