ตะแบกนา
วงศ์ : Lythraceae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lagerstroemia floribunda Jack
ชื่อสามัญ : Thai crape myrtle, Ta back na
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ : กระแบก, ตะแบกไข่, ตราแบกปรี้, เปื๋อยด้อง, เปื๋อยนา, เปื๋อยหางค่าง, บางอตะมะกอ
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้น : ไม้ยืนต้นประเภทผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีลำต้นความสูงประมาณ 15-30 เมตร ลำต้นแตกกิ่งแขนงบนเรือนยอด มีทรงพุ่มเป็นรูประฆัง กิ่งแขนงมีปานกลาง แต่มีใบใหญ่ และดก ทำให้แลเป็นทรงพุ่มหนา โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน โคนลำต้นของต้นที่โตเต็มที่มีลักษณะค่อนข้างเป็นพูพอน และเป็นร่องลึกล้อมรอบลำต้น ซึ่งเป็นร่องยาวสูงจนถึงประมาณกลางลำต้น ส่วนลำต้นส่วนปลายไม่เกิดเป็นร่อง เปลือกลำต้นค่อนข้างบาง มีสีขาวอมเหลือง และเป็นหลุมตื้นๆกระจายทั่ว ซึ่งเกิดจากผิวด้านนอกแตกสะเก็ดหลุดออก แต่ผิวลำต้นเรียบเนียน และสากมือบริเวณขอบหลุม เปลือกลำต้นชั้นในเป็นสีแดงม่วง ส่วนกิ่งแขนงย่อยมีขนาดเล็ก มีลักษณะเป็นเหลี่ยม สีน้ำตาล
ใบ : ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามกันบนกิ่งแขนงย่อยหรืออาจออกเยื้องตรงข้ามกันเล็กน้อย ประกอบด้วยก้านใบสั้น 5-7 มิลลิเมตร แผ่นใบมีรูปไข่หรือรูปหอก กว้างประมาณ 5-8 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร โคนใบมนกว้าง ปลายใบมีติ่งแหลม แผ่นใบค่อนข้างหนา และเหนียว แผ่นใบ และขอบใบเรียบ ใบอ่อนมีสีม่วงแดง และมีขนสั้นๆปกคลุม ใบแก่มีสีเขียวสด และเป็นมัน ส่วนแผ่นใบด้านล่างมีสีอ่อนกว่า แผ่นใบมีเส้นกลางใบสีเขียวอมเหลืองขนาดใหญ่ชัดเจน และมีเส้นแขนงใบเรียงเป็นคู่ๆ ปลายเส้นแขนงใบจรดขอบใบ
ดอก : ดอกเป็นช่อแขนง (panicle) บริเวณปลายยอดกิ่ง แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยประมาณ 20-25 ดอก เรียงกันจนจรดปลายช่อดอก ดอกย่อยแต่ละดอกมีรูปร่างแบบรูปปากเปิด (bilabiate) เส้นผ่าศูนย์กลางดอกขณะบานเต็มที่ประมาณ 3-3.5 เซนติเมตร ประกอบด้วยกลีบเลี้ยง จำนวน 6 กลีบ เชื่อมกันเป็นรูปถ้วย ถัดมาเป็นกลีบดอก จำนวน 6 กลีบ มีขนาดยาวประมาณ 1-1.2 เซนติเมตร กว้างประมาณ 0.8-1 เซนติเมตร แผ่นกลีบดอก และขอบกลีบดอกย่น มีสีม่วง หรือม่วงอมชมพูหรือสีขาว ปลายกลีบดอกแยกเป็น 5-6 กลีบ โคนกลีบคอดเป็นก้านกลีบ ถัดมาด้านในเป็นเกสรตัวผู้มีจำนวนมาก มีอับเรณูสีเหลือง ก้านเกสรตัวผู้ยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ส่วนเกสรตัวเมียมี 1 อัน ก้านเกสรยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ส่วนรังไข่มี 1 อัน ที่อยู่บริเวณฐานดอก รังไข่เป็นแบบรูปไข่เหนือวงกลีบ
ผล : ผลตะแบกมีรูปค่อนข้างกลม ผลสดมีเปลือกหุ้มสีเขียว และหนา เมื่อแก่ เปลือกผลจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และเป็นแบบผลแห้งแตก (capsule) ยาวประมาณ 1.3-1.5 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1.5-1.7 เซนติเมตร ผิวแข็ง ผลแตกตามยาว 5-6 พู ส่วนด้านในเป็นเมล็ด จำนวนมาก ขนาดเมล็ดยาวประมาณ 1.3-1.5 เซนติเมตร กว้างประมาณ 0.5-0.7 เซนติเมตร เมล็ดรูปร่างแบบรี มีปีก เปลือกเมล็ดมีสีน้ำตาล ทั้งนี้ ผลตะแบกจะเริ่มติดหลังดอกบานแล้วประมาณ 1 เดือน และผลเริ่มแห้งในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม และบางผลจะเริ่มปริแตก ปล่อยให้เมล็ดร่วงลงดินไปพร้อมกัน
การขยายพันธุ์ : วิธีการเพาะเมล็ด
สรรพคุณ
- 1. ดอก (ต้มดื่ม) แก้ท้องเสีย ช่วยบำรุงเลือด บำรุงร่างกาย
- 2. ดอก (บดใช้ภายนอกหรือต้มอาบ) ช่วยรักษาบาดแผล ช่วยห้ามเลือด แก้โรคผิวหนัง รักษาผดผื่นคัน
- 3. เปลือก และแก่นลำต้น (ต้มดื่ม) บรรเทาอาการไข้หวัด แก้มูกเลือด ช่วยบรรเทาอาการท้องเสีย ท้องร่วง แก้โรคบิด ช่วยแก้พิษ แก้ลงแดง แก้พิษสารเสพติด
- 4. เปลือก และแก่นลำต้น (ต้มน้ำอาบ) รักษาโรคผิวหนัง กลากเกลื้อจากเชื้อรา รักษาผดผื่นคัน แก้ไข แก้ท้องเสีย
- 5. ราก แก้อาการปวดเมื่อยร่างกาย แก้แผลในปากและคอ
- 6. ขอนดอกหรือแก่นดำ (ต้มดื่ม) ช่วยบำรุงหัวใจ บำรุงปอด บำรุงตับ ใช้เป็นยาแก้วิงเวียนศรีษะ หน้ามืด ตาลาย ช่วยแก้พิษไข้ ช่วยขับเสมหะ
- 7. ใบ ยอดอ่อนรับประทานเป็นผักสด ต้มหรือชงแก้เบาหวาน ขับปัสสาวะ
- 8. เมล็ด แก้เบาหวาน นอนไม่หลับ
- 9. แก่น แก้โรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ




แหล่งที่มาของภาพ
http://www.qsbg.org/database/botanic_book%20full%20option/Picture/jackth/DSC_7531.JPG
http://www.qsbg.org/database/botanic_book%20full%20option/Picture/jackth/DSC_7564.JPG
https://cholaeschool.ac.th/images/Flower/Lagerstroemia.jpg
https://adeq.or.th/wp-content/uploads/2016/07/1-20.jpg
http://www.qsbg.org/database/botanic_book%20full%20option/Picture/jackth/6749.jpg