โด่ไม่รู้ล้ม
วงศ์ : Asteraceae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Elephantopus scaber L.
ชื่อสามัญ : Prickly-leaved elephant's foot
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ : ขี้ไฟนกคุ่ม คิงไฟนกคุ่ม หนาดมีแคลน, เคยโป้, หญ้าไก่นกคุ่ม, หญ้าปราบ
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้น : มีลำต้นสั้นและกลม ชี้ตรง มีความสูงราว 10-30 เซนติเมตรอยู่ในระดับพื้นผิวดิน
ใบ : มีใบเป็นใบเดี่ยวอยู่บริเวณเหนือเหง้าติดกันเป็นวงกลม เรียงสลับชิดกันอยู่เป็นกระจุก คล้ายกุหลาบซ้อนที่โคนต้น ลักษณะของใบเป็นรูปหอกหัวกลับ แผ่นใบกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 8-20 เซนติเมตร ขอบใบหยักหรือเป็นจักคล้ายฟันเลื่อยห่าง ๆ มีเส้นแขนงของใบประมาณ 12-15 คู่ ส่วนของใบที่ค่อนไปทางปลายจะผายกว้าง
ดอก : ดอกเป็นช่อแทงออกมาจากลำต้น ลักษณะของช่อดอกเป็นรูปขอบขนาน มีดอกย่อยขนาดเล็ก 4 ดอก ยาวประมาณ 9-10 มิลลิเมตร มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ดอกเป็นรูปหลอดสีม่วง หลอดกลีบดอกยาวประมาณ 3-3.5 มิลลิเมตร เกลี้ยง ส่วนปลายกลีบดอกยาวประมาณ 1.5-2 มิลลิเมตร ไม่มีขน ดอกมีเกสรตัวผู้สีเหลือง มีอับเรณูยาวประมาณ 2.2-2.3 เซนติเมตร ปลายแหลม
ผล : ผลเป็นผลแห้งและไม่แตก ลักษณะของผลเล็กและเรียว เป็นรูปกรวยแคบ ผิวด้านนอกผลมีขนหนาแน่น ยาวประมาณ 2.5-3 มิลลิเมตรและกว้างประมาณ 0.4-0.5 มิลลิเมตร ผลไม่มีสัน
สภาพนิเวศน์ :ป่าโปร่งที่มีดินค่อนข้างเป็นทราย ในป่าเต็งรัง ป่าดิบ และในป่าสนเขาทั่วทุกภาคของประเทศไทย และประเทศในเขตร้อนทั่วโลก
การขยายพันธุ์ : การเพาะเมล็ดหรือการแยกต้นแยกหัว ซึ่งสามารถปลูกในแปลงหรือปลูกใส่กระถางได้ โดยการปลูกโด่ไม่รู้ล้มนั้นก็เหมือนกับการปลูกพืชทั่วๆไป คือ เตรียมหลุมและรองก้นหลุมใส่ต้นพันธุ์ลงไปกลบดินแล้วรดน้ำพอชุ่ม แต่สภาพดินที่ปลูกควรเป็นดินร่วมปนทราย และควรปลูกกลางแจ้ง เนื่องจากโด่ไม่รู้ล้มเป็นพืชที่ชอบแดดและทนแล้ง
สรรพคุณ
- 1. ใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง ด้วยการใช้รากต้มเป็นน้ำดื่ม หรือใช้ดองเหล้าดื่มผสมเข้ากับสมุนไพรกำลังเสือโคร่งและม้ากระทืบโรง หรือจะใช้ใบต้มกับน้ำดื่มก็ได้ และนอกจากนี้ยังใช้ทั้งต้นของโด่ไม่รู้ล้ม นำมาตากแห้งแล้วหั่นเป็นฝอยใช้ผสมเข้ายาร่วมกับสมุนไพรอื่น ๆ คือ ต้นนางพญาเสือโคร่ง ม้ากระทืบโรง ลำต้นฮ่อสะพายควาย สะค้าน ตานเหลือง มะตันขอ เปลือกลำ หัวยาข้าวเย็น แก่นฝาง ไม้มะดูก และข้าวหลามดง นำมาต้มเป็นน้ำดื่มเป็นยาบำรุงก็ได้เหมือนกัน (ราก, ใบ, ทั้งต้น)
- 2. ช่วยบำรุงหัวใจ (ทั้งต้น)
- 3. ลำต้นและใบใช้เป็นยาบำรุงเลือด เหมาะสำหรับสตรีที่มีประจำเดือนมาไม่เป็นปกติ (ต้นและใบ)
- 4. ช่วยทำให้อยากอาหาร (ต้นและใบ)
- 5. ช่วยแก้อาการอ่อนเพลีย (ใบ)
- 6. ช่วยแก้กษัย (ทั้งต้น)
- 7. ทั้งต้นมีรสกร่อนจืดและขื่นเล็กน้อย ใช้รับประทานช่วยทำให้เกิดกษัยแต่มีกำลัง (ทั้งต้น)
- 8. ช่วยแก้อาการร้อนใน กระหายน้ำ ด้วยการใช้รากนำมาต้มกับน้ำดื่ม (ราก)
- 9. ช่วยขับเหงื่อ (ทั้งต้น)
- 10. ทั้งต้นใช้ต้มกับน้ำรับประทาน ช่วยแก้ไข้จับสั่นหรือไข้มาลาเรียได้ (ทั้งต้น)
- 11. ช่วยแก้ไข้ ด้วยการใช้รากโด่ไม่รู้ล้มนำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือจะใช้ราก ลำต้น ใบ และผล ต้มเป็นน้ำดื่มก็ได้เช่นกัน (ราก, ลำต้น, ใบ, ผล, ทั้งต้น)
- 12. ใช้เป็นยาแก้ไอ ด้วยการใช้ต้นหรือรากต้มกับน้ำรับประทานเป็นยาแก้ไอ (ราก, ต้น, ใบ, ทั้งต้น)
- 13. รากโด่ไม่รู้ล้มช่วยแก้ไข้ตัวร้อน แก้ไข้หวัด แก้อาการไอเรื้อรัง (ราก)
- 14. รากใช้ต้มดื่มแก้อาเจียนได้ (ราก)
- 15. ทั้งต้นใช้ต้มเป็นน้ำดื่มช่วยแก้อาการข้าวติดคอหรือกลืนอาหารฝืดคอได้ (ทั้งต้น)
- 16. ใช้เป็นยาแก้วัณโรค (ทั้งต้น)
- 17. ช่วยรักษาโรคหลอดลมอักเสบ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
- 18. ช่วยแก้อาการตาแดง (ทั้งต้น)
- 19. ช่วยแก้อาการเจ็บคอ ต่อมทอนซิลอักเสบ ด้วยการใช้ต้นแห้งประมาณ 6 กรัม นำมาแช่ในน้ำร้อนขนาด 300 cc. (เท่าขวดแม่โขง) ประมาณครึ่งชั่วโมง แล้วรินเอาน้ำมาดื่มจะช่วยบรรเทาอาการได้ หรือจะใช้ต้นแห้งนำมาบดให้เป็นผงแล้วปั้นเป็นเม็ดไว้รับประทานก็ได้เช่นกัน (ต้นแห้ง, ทั้งต้น)
- 20. ช่วยรักษาแผลในช่องปาก ด้วยการใช้ต้นแห้งประมาณ 30 กรัม นำมาต้มดื่มวันละครั้ง (ต้นแห้ง, ทั้งต้น)
- 21. รากใช้ต้มกับน้ำนำมาอมช่วยแก้อาการปวดฟันได้ หรือใช้รากนำมาตำผสมกับพริกไทย (ราก)
- 22. ช่วยห้ามเลือดกำเดาไหล เลือดกำเดาไหลง่าย ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 30-60 กรัม (ถ้าแห้งใช้ 10-15 กรัม) นำมาต้มกับเนื้อหมูแดงพอประมาณแล้วใช้รับประทานติดต่อกัน 3-4 วัน (ต้นสด, ทั้งต้น)
- 23. รากและใบใช้ต้มเป็นยาดื่มช่วยบรรเทาอาการเจ็บหน้าอก (รากและใบ)
- 24. ช่วยแก้อาการท้องเสีย (ราก, ทั้งต้น)
- 25. รากและใบช่วยแก้อาการท้องร่วง (รากและใบ)
- 26. ช่วยแก้บิด (รากและใบ, ทั้งต้น)
- 27. ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร (รากและใบ, ทั้งต้น)
- 28. ช่วยแก้ท้องมานหรือภาวะที่มีน้ำในช่องท้องมากเกินปกติ ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 60 กรัม นำมาต้มกับดื่มเช้าเย็น หรือใช้ตุ๋นกับเนื้อแล้วนำมารับประทานก็ได้ (ต้นสด)
- 29. ช่วยขับไส้เดือน พยาธิตัวกลม (ราก, ใบ, ทั้งต้น)
- 30. ช่วยขับระดูขาวของสตรี (ราก,ทั้งต้น)
- 31. รากมีสรรพคุณเป็นยาบีบมดลูก (ราก)
- 32. รากใช้เป็นยาคุมกำเนิดสำหรับสตรีหลังคลอดบุตรใหม่ ๆ (ราก, ใบ)
- 33. รากและใบใช้ต้มอาบน้ำหลังคลอดของสตรี (รากและใบ)
- 34. ช่วยแก้นิ่ว ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 90 กรัม ต้มรวมกับเนื้อหมู 120 กรัม พร้อมใส่เกลือเล็กน้อย ต้มแล้วเคี่ยวกรองเอาแต่น้ำมาดื่ม เอากากออก แบ่งรับประทานเป็น 4 ครั้ง หรือจะใช้รากนำมาต้มกับน้ำดื่มแก้อาการก็ได้เช่นกัน (ราก, ต้น, ทั้งต้น)
- 35. ทั้งต้นมีรสกร่อยและขื่น ใช้เป็นยาช่วยขับปัสสาวะ (ราก, ใบ, ทั้งต้น)
- 36. ช่วยแก้ปัสสาวะพิการ (ทั้งต้น)
- 37. ช่วยแก้อาการขัดเบา (อาการเริ่มต้นของทางเดินปัสสาวะอักเสบ) ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 15-30 กรัม ใช้ต้มกับน้ำดื่ม (ต้นสด)
- 38. ช่วยรักษาตับและไตอักเสบ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
- 39. ช่วยแก้กามโรค รักษาโรคบุรุษ (ราก, ใบ, ทั้งต้น)
- 40. รากและใบช่วยแก้กามโรคในสตรี โดยใช้แบบสดหรือแห้งประมาณ 2 กำมือนำมาต้มเป็นน้ำดื่มแก้อาการ (รากและใบ)
- 41. ช่วยบำรุงกำหนัด บำรุงสมรรถภาพทางเพศ ด้วยการใช้รากต้มกับน้ำดื่ม (ราก, ใบ, ทั้งต้น)
- 42. ช่วยขับน้ำเหลืองเสียออกจากร่างกาย (ทั้งต้น)
- 43. ช่วยแก้ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 30 กรัม ต้มเป็นน้ำดื่ม (ต้นสด)
- 44. ช่วยแก้ดีซ่าน ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 120-240 กรัม นำมาต้มกับเนื้อหมูแล้วใช้รับประทานติดต่อกัน 4-5 วัน (ต้นสด, ทั้งต้น)
- 45. ช่วยแก้อาการบวมน้ำ (ทั้งต้น)
- 46. ช่วยแก้อาการอักเสบต่าง ๆ เช่น หลอดลมอักเสบ ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ลำไส้อักเสบ ฯลฯ (ราก, ทั้งต้น)
- 47. ช่วยรักษาฝีบวม ฝีมีหนอง ด้วยการใช้ต้นสดนำมาตำผสมกับเกลือเล็กน้อย และละลายน้ำส้มสายชูพอข้น ๆ แล้วนำมาใช้พอกบริเวณที่เป็นฝี (ราก, ต้นสด, ทั้งต้น)
- 48. ช่วยรักษาฝีฝักบัว ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 25 กรัม ใส่เหล้า 1 ขวด และน้ำ 1 ขวด แล้วนำมาต้มดื่ม และใช้ต้นสดต้มกับน้ำเอาน้ำมาชะล้างบริเวณหัวฝีที่แตก (ต้นสด)
- 49. ช่วยแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย แผลงูกัด (ทั้งต้น)
- 50. ช่วยรักษาโรคผิวหนัง ผดผื่นคันตามร่างกาย ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 2 กำมือ นำมาเคี่ยวกับน้ำมันมะพร้าว แล้วนำมาใช้ทาบริเวณที่มีอาการ (ใบสด)
- 51. ช่วยรักษาบาดแผล ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 2 กำมือ นำมาเคี่ยวกับน้ำมันมะพร้าว แล้วนำมาทาแผล (ใบ)
- 52. ช่วยแก้อาการเหน็บชา ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 30-60 กรัมและเต้าหู้ประมาณ 60-120 กรัม แล้วเติมน้ำพอประมาณ ใช้ตุ๋นรับประทาน (ต้นสด, ทั้งต้น)
- 53. ช่วยแก้อาการปวดบวม (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
- 54. ช่วยคลายเส้น ด้วยการใช้รากนำมาต้มเป็นน้ำดื่ม (ราก)
- 55. รากใช้ต้มกับน้ำดื่มช่วยแก้อาการปวดหลังปวดเอวได้ หรือจะใช้รากต้มร่วมกับลุบลิบก็ได้ นอกจากนี้ยังสามารถใช้ใบต้มกับน้ำดื่มร่วมกับเหงือกปลาหมอก็ได้เช่นกัน (ราก, ใบ)
- 56. ช่วยแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกายกาย ด้วยการใช้รากต้มเป็นน้ำดื่ม หรือใช้ดองเหล้าดื่มผสมเข้ากับสมุนไพรกำลังเสือโคร่ง ม้ากระทืบโรงก็ได้เช่นกัน (ราก)
- 57. รากใช้เป็นส่วนประกอบในยาสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ที่มีสรรพคุณช่วยเพิ่มเม็ดเลือดแดงสำหรับผู้ป่วยเอดส์ โดยประกอบด้วย โด่ไม่รู้ล้ม ม้ากระทืบโรง หงอนไก่อู และหงอนไก่แจ้ นำมาต้มเป็นน้ำดื่ม แต่ถ้าเป็นคนปกติดื่มแล้วจะช่วยบำรุงกำลัง (ราก)



แหล่งที่มาของภาพ
https://medthai.com/images/2013/09/ดอกโด่ไม่รู้ล้ม.jpg