ประดู่ป่า

จาก ฐานข้อมูลพืชสมุนไพรในศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาท่าเพชรจังหวัดสุราษฎร์ธานี
Pradu pa.png

วงศ์ : Fabaceae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pterocarpus macrocarpus Kurz.
ชื่อสามัญ : Burmese rosewood
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ : ประดู่, ประดู่เสน, จิต๊อก, ฉะนอง, ดู่, ดู่ป่า, ตะเลอ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้น : ไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ เรือนยอดเป็นพุ่มกลมหรือเป็นรูปร่ม ไม่แผ่กว้าง ลำต้นตั้งตรงมีความสูงได้ประมาณ 15-30 เมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.3-2.1 เมตร ไม่ค่อยแตกกิ่งก้านสาขา เปลือกลำต้นหนาเป็นสีน้ำตาลดำแตกเป็นระแหงทั่วไป ส่วนเปลือกในชั้นในมีน้ำเลี้ยงสีแดงดูแตกเป็นช่องไม่เหมือนกับต้นประดู่บ้าน กิ่งและก้านอ่อนมีขนนุ่มขึ้นทั่วไป ส่วนกิ่งแก่ผิวจะเกลี้ยง มีรากตอนโคนต้นเป็นสันนูนขึ้นมาเหนือพื้นดิน
ใบ : ใบมีขนาดใหญ่กว่าใบประดู่บ้านเล็กน้อย ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ แต่ละช่อใบจะมีใบย่อยประมาณ 5-11 ใบย่อย ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปค่อนข้างมน หรือรูปไข่ถึงรูปขอบขนาน ปลายใบแหลมเป็นติ่ง โคนใบมนหรือค่อนข้างแหลม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-15 เซนติเมตร แผ่นใบเหนียวคล้ายหนัง ใบอ่อนมีขนเล็กน้อย ส่วนใบแก่จะเกลี้ยง ผิวใบจะมีขนสั้น ๆ ปกคลุมท้องใบมากกว่าหลังใบ ก้านใบอ่อนมีขนอ่อนปกคลุมเล็กน้อย
ดอก : ออกดอกเป็นช่อสีเหลืองตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง ช่อดอกมีลักษณะห้อยลง ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร และมีขนาดใหญ่กว่าประดู่บ้าน แต่จะไม่มีค่อยมีดอก ออกดอกไม่ดก หรือออกประปราย ดอกเป็นสีเหลือง รูปร่างของดอกเป็นรูปดอกถั่ว กลีบเลี้ยงดอกเป็นสีน้ำตาลอมเขียวหรือเป็นสีเขียว มี 5 กลีบ ติดกันเป็นถ้วย ปลายแยกเป็น 2 แฉก แบ่งเป็นอันบน 2 กลีบติดกัน และอันล่าง 3 กลีบติดกัน กลีบยาวประมาณ 6-8 มิลลิเมตร ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ เป็นสีเหลืองแกมแสด ขนาดเล็ก ลักษณะของกลีบเป็นรูปผีเสื้อ กลีบยาวประมาณ 8-15 เซนติเมตร มีเกสรเพศผู้ 10 อัน ก้านชูอับเรณูติดกัน เป็น 2-3 กลุ่ม ก้านยาวประมาณ 7-13 มิลลิเมตร ส่วนเกสรเพศเมียมี 1 อัน รังไข่ superior ovary สีเขียว มีขนเล็ก ๆ ขึ้นปกคลุม ก้านเกสรเพศเมียมีลักษณะโค้งเล็กน้อย ยอดเกสรเป็นตุ่ม ดอกประดู่จะมีกลิ่นหอมแรง ส่งกลิ่นไปได้ไกล ดอกจะบานและร่วงพร้อมกันทั้งต้น
ผล : ออกผลเป็นฝักกลมแบน ผลมีขนาดใหญ่กว่าผลประดู่บ้านและมีขนปกคลุมอยู่ ผลมีปีกคล้ายจานบิน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-7 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียวอ่อน เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแกมเทา ตรงกลางมีเปลือกคลุม แข็งและหนา มีเมล็ดประมาณ 1-2 เมล็ด เมล็ดเป็นสีน้ำตาลแดง มีขนาดยาวประมาณ 0.4-0.5 นิ้ว
การขยายพันธุ์  : วิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติเขตร้อน สามารถขึ้นได้ตามไหล่เขา ที่ราบ ยอดเขาเตี้ย ๆ ใกล้บริเวณแหล่งน้ำที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 300-600 เมตร ชอบดินร่วนปนทราย ดินตะกอน หรือดินที่เกิดจากภูเขาไฟ มีความลึก และระบายน้ำได้ดี

สรรพคุณ

1. สารสกัดจากใบสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ ตามตำรับยาระบุให้ใช้ใบประดู่ป่า 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำ 3 แก้ว ใช้แบ่งดื่มก่อนอาหารเช้าและเย็น (ใบ)
2. เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงร่างกาย (เปลือกต้น)
3. แก่นมีรสขมฝาดร้อน มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลัง (แก่น)
4. แก่นมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงโลหิต ช่วยแก้โลหิตจาง (แก่น)
5. ตำรายาไทยจะใช้แก่นเป็นยาแก้กษัย (อาการป่วยที่เกิดจากหลายสาเหตุ ทำให้ร่างกายเสื่อมโทรมซูบผอม โลหิตจาง ปวดเมื่อย) (แก่น)
6. แก่นมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ (แก่น)
7. แก่นใช้เป็นยาแก้เสมหะ แก้โลหิตและกำเดา (แก่น)
8. ผลมีรสฝาดสมาน มีสรรพคุณเป็นยาแก้อาเจียน (ผล)
9. ผลมีสรรพคุณเป็นยาแก้ท้องร่วง (ผล)
10. เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ท้องเสีย (เปลือกต้น)
11. ช่วยขับปัสสาวะ (แก่น)
12. เปลือกต้นมีรสฝาดจัด มีสรรพคุณเป็นยาสมานบาดแผล (เปลือกต้น)
13. ใบใช้เป็นยาพอกฝีให้สุกเร็ว ใช้พอกบาดแผล (ใบ)
14. ใบใช้เป็นยาพอกแก้ผดผื่นคันได้ (ใบ) ส่วนแก่นก็มีสรรพคุณช่วยแก้ผื่นคันได้เช่นกัน (แก่น)
15. แก่นมีสรรพคุณเป็นยาแก้คุดทะราด (แก่น)
16. แก่นมีสรรพคุณเป็นยาแก้พิษเมาเบื่อ (แก่น)

Pradu pa1.png Pradu pa2.png Pradu pa3.png Pradu pa4.png

แหล่งที่มาของภาพ
https://medthai.com/images/2014/09/รูปดอกประดู่ป่า.jpg
https://medthai.com/images/2014/09/ประดู่ป่า.jpg
https://medthai.com/images/2014/09/รูปต้นประดู่.jpg
https://medthai.com/images/2014/09/ใบประดู่ป่า.jpg
https://medthai.com/images/2014/09/ผลประดู่ป่า.jpg