พะยูง

จาก ฐานข้อมูลพืชสมุนไพรในศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาท่าเพชรจังหวัดสุราษฎร์ธานี
Phayung.png

วงศ์ : Fabaceae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dalbergia cochinchinensis Pierre
ชื่อสามัญ : Siamese Rosewood, Thailand Rosewood, Tracwood, Black Wood, Rose Wood
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ : กระยง, กระยุง, ขะยุง, แดงจีน, ประดู่ตม, ประดู่น้ำ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้น : ไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ผลัดใบช่วงสั้น ๆ มีลักษณะคล้ายกับต้นประดู่ โดยมีความสูงของต้นได้ถึง 25 เมตร เมื่อโตเต็มที่ลำต้นจะมีลักษณะเปลาตรง มีเรือนยอดเป็นรูปทรงกลมหรือรูปไข่ทึบ เปลือกต้นเรียบเป็นสีเทา และล่อนเป็นแผ่นบาง ๆ ส่วนเปลือกด้านในเป็นสีน้ำตาลแกมสีเหลือง เนื้อไม้เป็นสีแดงอมม่วงถึงแดงเลือดหมูแก่ เนื้อละเอียด มีความแข็งแรงทนทาน มีแก่นหอมร้อนและมีรสขมฝาดเล็กน้อย
ใบ : ใบเป็นใบประกอบ ออกเป็นช่อแบบขนนกปลายคี่ ช่อติดเรียงสลับกัน ยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ใบและช่อจะใบย่อยมีลักษณะเป็นรูปรีแกมรูปไข่ ติดเรียงสลับประมาณ 7-9 ใบ ปลายสุดของช่อใบเป็นใบเดี่ยว ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมรูปขอบขนาน รูปไข่ หรือรูปใบหอก ปลายใบแหลมยื่นเล็กน้อย โคนใบมนกว้าง แล้วค่อย ๆ เรียวสอบแหลมไปทางปลายใบ ส่วนขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-7 เซนติเมตร ใบมีลักษณะเหนียวคล้ายกับแผ่นหนังบาง ๆ หลังใบเป็นมันสีเขียวเข้มกว่าด้านท้องใบ โดยท้องใบเป็นสีเขียวนวล ใบเกลี้ยงไม่มีขนทั้งสองด้าน เส้นแขนงใบมีประมาณ 6-8 คู่ พอสังเกตเห็นได้ทั้งสองด้าน ก้านใบย่อยยาวประมาณ 3-6 เซนติเมตร ส่วนแกนกลางใบประกอบยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร
ดอก : ออกรวมกันเป็นช่อแยกแขนง ตามปลายกิ่งหรือตามง่ามใบใกล้กับปลายยอด ช่อดอกตั้งขึ้น ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ดอกมีขนาดเล็ก ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปดอกถั่วสีขาวนวล มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ดอกเมื่อบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 5-8 มิลลิเมตร กลีบดอกมี 5 กลีบ ส่วนกลีบฐานดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยตื้น ๆ หรือเป็นรูประฆัง ขอบหยักเป็นแฉกตื้น ๆ 5 แฉก มีขนสั้น กลีบคลุมมีลักษณะคล้ายรูปโล่ กลีบปีกสองกลีบมีลักษณะเป็นรูปขอบขนาน ส่วนกลีบกระโดงเชื่อมติดกัน มีลักษณะคล้ายรูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยวหรือรูปเรือ ดอกมีเกสรเพศผู้ 10 อัน อันบนอยู่เป็นอิสระ นอกนั้นจะอยู่ติดกันเป็นกลุ่ม ๆ ส่วนรังไข่มีลักษณะเป็นรูปรี ภายในมีช่องเดียว แต่มีไข่อ่อนอยู่หลายหน่วย หลอดท่อรังไข่มีหลอดเดียว ยาวยื่นพ้นเกสรเพศผู้ขึ้นมา
ผล : ออกผลเป็นฝัก ลักษณะของฝักเป็นรูปขอบขนาน แบนและบอบบาง มีขนาดกว้างประมาณ 1.2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร ผิวฝักเกลี้ยง ตรงกลางมีกระเปาะหุ้มเมล็ด บริเวณที่หุ้มเมล็ดจะมองเห็นเส้นแขนงไม่ชัดเจน ฝักจะแก่ประมาณ 2 เดือนหลังการออกดอก ซึ่งจะอยู่ในช่วงประมาณเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน เมื่อฝักแก่แล้วจะไม่แตกออกเหมือนฝักมะค่าโม่งหรือฝักไม้แดง แต่ฝักจะร่วงหล่นโดยที่เมล็ดยังอยู่ในฝัก
การขยายพันธุ์  : การนำเมล็ดมาเพาะให้เป็นต้นกล้า ซึ่งเป็นวิธีที่สะดวกและนิยมกันมาก สำหรับวิธีการขยายพันธุ์โดยวิธีอื่น ๆ ก็สามารถทำได้โดยการนำเหง้ามาปักชำ สามารถขึ้นได้ในดินทุกชนิด ทนแล้งได้ดี

สรรพคุณ

1. รากใช้แก้พิษไข้เซื่องซึม (ราก)
2. เปลือกต้นหรือแก่น ผสมลำต้นหวายแก้เบาหวาน (เปลือกต้น, แก่น)
3. เปลือกต้นหรือแก่น ต้มน้ำดื่มแก้มะเร็ง (เปลือกต้น, แก่น)
4. เปลือกต้มเอาน้ำอมแก้ปากเปื่อย ปากแตกระแหง (เปลือก)
5. ยางสดใช้เป็นยาทาปาก รักษาโรคปากเปื่อย (ยางสด)
6. ยางสดใช้ทาแก้เท้าเปื่อย (ยางสด)

Phayung1.png Phayung2.png Phayung3.png Phayung4.png

แหล่งที่มาของภาพ
http://www.phargarden.com/userfiles/image/images/ph253_Payoong/ph253_003.jpg
http://www.phargarden.com/userfiles/image/images/ph253_Payoong/ph253_004.jpg
http://www.phargarden.com/userfiles/image/images/ph253_Payoong/ph253_002.jpg
http://www.phargarden.com/userfiles/image/images/ph253_Payoong/ph253_009.JPG
http://www.phargarden.com/userfiles/image/images/ph253_Payoong/ph253_010.JPG