พะยูง
วงศ์ : Fabaceae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dalbergia cochinchinensis Pierre
ชื่อสามัญ : Siamese Rosewood, Thailand Rosewood, Tracwood, Black Wood, Rose Wood
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ : กระยง, กระยุง, ขะยุง, แดงจีน, ประดู่ตม, ประดู่น้ำ
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้น : ไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ผลัดใบช่วงสั้น ๆ มีลักษณะคล้ายกับต้นประดู่ โดยมีความสูงของต้นได้ถึง 25 เมตร เมื่อโตเต็มที่ลำต้นจะมีลักษณะเปลาตรง มีเรือนยอดเป็นรูปทรงกลมหรือรูปไข่ทึบ เปลือกต้นเรียบเป็นสีเทา และล่อนเป็นแผ่นบาง ๆ ส่วนเปลือกด้านในเป็นสีน้ำตาลแกมสีเหลือง เนื้อไม้เป็นสีแดงอมม่วงถึงแดงเลือดหมูแก่ เนื้อละเอียด มีความแข็งแรงทนทาน มีแก่นหอมร้อนและมีรสขมฝาดเล็กน้อย
ใบ : ใบเป็นใบประกอบ ออกเป็นช่อแบบขนนกปลายคี่ ช่อติดเรียงสลับกัน ยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ใบและช่อจะใบย่อยมีลักษณะเป็นรูปรีแกมรูปไข่ ติดเรียงสลับประมาณ 7-9 ใบ ปลายสุดของช่อใบเป็นใบเดี่ยว ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมรูปขอบขนาน รูปไข่ หรือรูปใบหอก ปลายใบแหลมยื่นเล็กน้อย โคนใบมนกว้าง แล้วค่อย ๆ เรียวสอบแหลมไปทางปลายใบ ส่วนขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-7 เซนติเมตร ใบมีลักษณะเหนียวคล้ายกับแผ่นหนังบาง ๆ หลังใบเป็นมันสีเขียวเข้มกว่าด้านท้องใบ โดยท้องใบเป็นสีเขียวนวล ใบเกลี้ยงไม่มีขนทั้งสองด้าน เส้นแขนงใบมีประมาณ 6-8 คู่ พอสังเกตเห็นได้ทั้งสองด้าน ก้านใบย่อยยาวประมาณ 3-6 เซนติเมตร ส่วนแกนกลางใบประกอบยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร
ดอก : ออกรวมกันเป็นช่อแยกแขนง ตามปลายกิ่งหรือตามง่ามใบใกล้กับปลายยอด ช่อดอกตั้งขึ้น ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ดอกมีขนาดเล็ก ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปดอกถั่วสีขาวนวล มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ดอกเมื่อบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 5-8 มิลลิเมตร กลีบดอกมี 5 กลีบ ส่วนกลีบฐานดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยตื้น ๆ หรือเป็นรูประฆัง ขอบหยักเป็นแฉกตื้น ๆ 5 แฉก มีขนสั้น กลีบคลุมมีลักษณะคล้ายรูปโล่ กลีบปีกสองกลีบมีลักษณะเป็นรูปขอบขนาน ส่วนกลีบกระโดงเชื่อมติดกัน มีลักษณะคล้ายรูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยวหรือรูปเรือ ดอกมีเกสรเพศผู้ 10 อัน อันบนอยู่เป็นอิสระ นอกนั้นจะอยู่ติดกันเป็นกลุ่ม ๆ ส่วนรังไข่มีลักษณะเป็นรูปรี ภายในมีช่องเดียว แต่มีไข่อ่อนอยู่หลายหน่วย หลอดท่อรังไข่มีหลอดเดียว ยาวยื่นพ้นเกสรเพศผู้ขึ้นมา
ผล : ออกผลเป็นฝัก ลักษณะของฝักเป็นรูปขอบขนาน แบนและบอบบาง มีขนาดกว้างประมาณ 1.2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร ผิวฝักเกลี้ยง ตรงกลางมีกระเปาะหุ้มเมล็ด บริเวณที่หุ้มเมล็ดจะมองเห็นเส้นแขนงไม่ชัดเจน ฝักจะแก่ประมาณ 2 เดือนหลังการออกดอก ซึ่งจะอยู่ในช่วงประมาณเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน เมื่อฝักแก่แล้วจะไม่แตกออกเหมือนฝักมะค่าโม่งหรือฝักไม้แดง แต่ฝักจะร่วงหล่นโดยที่เมล็ดยังอยู่ในฝัก
การขยายพันธุ์ : การนำเมล็ดมาเพาะให้เป็นต้นกล้า ซึ่งเป็นวิธีที่สะดวกและนิยมกันมาก สำหรับวิธีการขยายพันธุ์โดยวิธีอื่น ๆ ก็สามารถทำได้โดยการนำเหง้ามาปักชำ สามารถขึ้นได้ในดินทุกชนิด ทนแล้งได้ดี
สรรพคุณ
- 1. รากใช้แก้พิษไข้เซื่องซึม (ราก)
- 2. เปลือกต้นหรือแก่น ผสมลำต้นหวายแก้เบาหวาน (เปลือกต้น, แก่น)
- 3. เปลือกต้นหรือแก่น ต้มน้ำดื่มแก้มะเร็ง (เปลือกต้น, แก่น)
- 4. เปลือกต้มเอาน้ำอมแก้ปากเปื่อย ปากแตกระแหง (เปลือก)
- 5. ยางสดใช้เป็นยาทาปาก รักษาโรคปากเปื่อย (ยางสด)
- 6. ยางสดใช้ทาแก้เท้าเปื่อย (ยางสด)




แหล่งที่มาของภาพ
http://www.phargarden.com/userfiles/image/images/ph253_Payoong/ph253_003.jpg
http://www.phargarden.com/userfiles/image/images/ph253_Payoong/ph253_004.jpg
http://www.phargarden.com/userfiles/image/images/ph253_Payoong/ph253_002.jpg
http://www.phargarden.com/userfiles/image/images/ph253_Payoong/ph253_009.JPG
http://www.phargarden.com/userfiles/image/images/ph253_Payoong/ph253_010.JPG