ทุ้งฟ้า
วงศ์ : Apocynaceae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Alstonia macrophylla Wall. ex G.Don
ชื่อสามัญ : -
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ : กระทุ้งฟ้าไห้, ทุ้งฟ้าไก้, ตีนเทียน, พวมพร้าว
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้น : ไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ที่มีความสูงได้ประมาณ 15-25 เมตร เรือนยอดเป็นรูปไข่แกมรูปกรวยแหลม ค่อนข้างโปร่ง ลำต้นมีลักษณะเปลาตรง กิ่งใหญ่ตั้งฉากกับลำต้นเป็นวงรอบ โคนต้นเป็นพูพอน เปลือกต้นเรียบเป็นสีขาวอมเทาหรือสีเทาอ่อน มีรูระบายอากาศทั่วไป เปลือกต้นเมื่อสับดูจะมีน้ำยางสีขาวเหนียว ๆ ซึมออกมา ส่วนเนื้อไม้มีสีค่อนข้างเหลือง เมื่อทิ้งไว้นาน ๆ จะเป็นสีน้ำตาลแกมเหลือง เสี้ยนไม้ตรง เนื้อไม้มีความละเอียดปานกลางและสม่ำเสมอ แข็ง เลื่อย ไสกบ และตกแต่งได้ง่าย ผึ่งแห้งได้ดี
ใบ : ใบเดี่ยว ออกเรียงรอบ ๆ ข้อ ข้อละ 3-4 ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอกกลับหรือรูปไข่แกมรูปหอกกลับ ปลายใบเป็นติ่งแหลม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-7.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร หลังใบเป็นสีเขียว ท้องใบเป็นคราบสีขาว เส้นแขนงใบถี่และเป็นเส้นตรง
ดอก : ดอกเป็นช่อแขนงตามซอกใบที่ปลายกิ่งจำนวนมาก ยาวประมาณ 3.5-11.5 เซนติเมตร ดอกย่อยเป็นสีขาว มีขนาดประมาณ 2-3 เซนติเมตร กลีบดอกเป็นสีขาวหรือสีขาวอมเหลือง โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกออกเป็น 5 กลีบ ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน
ผล : ฝักยาวขนาดเล็ก ออกเป็นคู่ ๆ ฝักมีลักษณะเรียวยาว ยาวประมาณ 30-45 เซนติเมตร พอแก่จะแตกออกเป็น 2 ซีก และบิดเป็นเกลียว
การขยายพันธุ์ : วิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินที่ลึกและมีการระบายน้ำได้ดี หรือในสภาพระบบวนเกษตร และควรปลูกในช่วงประมาณต้นฤดูชน เพื่อให้กล้าไม้มีเวลาตั้งตัว และระบบรากเจริญยึดดินได้ดีก่อนสิ้นฤดูฝน ซึ่งจะช่วยทำให้กล้าไม้สามารถรอดตายได้ตลอดฤดูแล้ง สามารถพบขึ้นได้ทั่วไปในป่าดงดิบและบนพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมหรือพื้นที่ที่เคยถูกแผ้วถางมาก่อนทางภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งบริเวณนี้จะมีปริมาณของน้ำฝนตกชุกและมีความชุ่มชื้นมาก
สรรพคุณ
- 1. ตำรายาไทยจะใช้เปลือกต้นเป็นยาบำรุงกำลัง (เปลือกต้น) ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าให้ใช้รากผสมยา รับประทานบำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง (ราก)
- 2. เปลือกต้นใช้เป็นยาบำรุง แก้ไข้ รักษาไข้ป่าหรือโรคมาลาเรีย (เปลือกต้น)
- 3. ใช้เป็นยาแก้บิด (เปลือกต้น)
- 4. ช่วยขับระดูของสตรี (เปลือกต้น)
- 5. เปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำหนัด (เปลือกต้น) ส่วนอีกข้อมูลระบุว่า ให้ใช้รากเป็นยาบำรุงกำหนัด (ราก)
- 6. เปลือกต้นใช้เป็นยารักษาบาดแผล (เปลือกต้น)
- 7. ใบนำมาตำผสมกับน้ำมันมะพร้าวทำให้ร้อน ใช้เป็นยาพอกแก้ข้อต่อเคลื่อน (ใบ)




แหล่งที่มาของภาพ
https://i2.wp.com/herbth.wpcomstaging.com/wp-content/uploads/2020/01/Alstonia-macrophylla_ต้นทุ้งฟ้า_049.jpg?fit=2732%2C1186
https://i2.wp.com/herbth.wpcomstaging.com/wp-content/uploads/2018/12/Alstonia-macrophylla_ต้นทุ้งฟ้า_030.jpg?fit=2732%2C1186
https://medthai.com/images/2014/12/ต้นทุ้งฟ้า.jpg
https://i1.wp.com/herbth.wpcomstaging.com/wp-content/uploads/2020/01/Alstonia-macrophylla_ต้นทุ้งฟ้า_072.jpg?fit=2732%2C1186
https://i1.wp.com/herbth.wpcomstaging.com/wp-content/uploads/2018/12/Alstonia-macrophylla_ต้นทุ้งฟ้า_033.jpg?fit=2732%2C1186