ยมหิน
วงศ์ : Meliaceae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Chukrasia Velutina Wight & Arn
ชื่อสามัญ : Almond-wood, Chickrassy Chittagong-wood
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ : โค้โย่ง, ช้ากะเดา, ฝักดาบ, มะเฟืองช้าง, ยมขาว, สะเดาหิน
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้น : ไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ เป็นไม้ผลัดใบแต่ผลิใบใหม่เร็ว เรือนยอดเป็นทรงพุ่มรูปกรวยต่ำ มีความสูงของต้นประมาณ 15-25 เมตร ลำต้นเปลาตรง มีพูพอนที่โคนต้น เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลคล้ำ สีเทา หรือสีเทาปนดำ เปลือกต้นแตกเป็นสะเก็ดรูปสี่เหลี่ยมเมื่อมีอายุมากขึ้น แตกเป็นร่องลึกตามยาวของลำต้น เปลือกชั้นในเป็นสีแดงออกน้ำตาลหรือสีชมพู ส่วนกระพี้เป็นสีเหลืองคล้ายฟางข้าว และแก่นไม้เป็นสีเหลืองเข้มถึงสีน้ำตาล กิ่งอ่อน ใบอ่อน และช่อดอกมีขนนุ่ม
ใบ : ใบประกอบแบบขนนกออกเยื้องกันเล็กน้อย ก้านใบยาวประมาณ 30-60 เซนติเมตร มีใบย่อยประมาณ 6-20 คู่ จัดเรียงตัวกันแบบสลับ แต่ใบย่อย 2 คู่แรกจะเรียงตัวกันแบบตรงข้าม ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปรี รูปไข่ หรือรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบมนหรือกลม ส่วนขอบใบเรียบ ใบย่อยมีขนาดกว้างประมาณ 3.5-6.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-17.5 เซนติเมตร หลังใบเรียบเป็นมัน ท้องใบมีขนอ่อนนุ่ม 2 ชนิด ชนิดแรกเป็นขนยาว ปลายแหลม อ่อนนุ่ม ส่วนอีกชนิดจะมีจำนวนน้อยกว่าและสั้นกว่า มีลักษณะปลายขนมนแข็งกว่าชนิดแรก ขึ้นปกคลุมด้านหลังใบเป็นจำนวนมาก ก้านใบยาวประมาณ 2-8 มิลลิเมตร
ดอก : ออกดอกเป็นช่อตามมุมกิ่งอ่อนหรือตามปลายยอด ปลายช่อห้อยลง มีความยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร กิ่งหลักของช่อดอกยาวประมาณ 16 เซนติเมตร ส่วนกิ่งย่อยยาวประมาณ 4 เซนติเมตร ดอกนมหินมีขนาดเล็กและมีกลิ่นหอม มีความยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร เป็ดดอกชนิดมีเพศเดียวและดอกแบบสมบูรณ์เพศ มีใบประดับขนาดประมาณ 2-7 มิลลิเมตร ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมแคบ และจะหลุดร่วงไปเมื่อดอกบาน ก้านดอกยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร อยู่ติดกับก้านดอกเทียมซึ่งยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร และอยู่ติดกับกลีบเลี้ยงซึ่งเป็นสีเขียวออกม่วงหรือสีแดง มีกลีบ 4-5 กลีบ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.5-3.5 มิลิเมตร กลีบเลี้ยงดอกมีปลายมน ส่วนกลีบดอกมีกลีบ 4-5 กลีบ แยกจากกันอย่างอิสระ โดยจะมีความยาวมากกว่ากลีบเลี้ยง หรือยาวประมาณ 12-20 มิลลิเมตร มีรูปร่างเป็นแผ่นยาวแคบ ปลายมน เป็นสีเขียวอ่อนหรือสีเหลืองปนสีม่วง มีขนสั้น ๆ ขึ้นปกคลุมอยู่ทั่วทั้งกลีบดอก ก้านชูเกสรเพศผู้มีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก ปลายเรียวแคบ ขอบหยักเล็กน้อย เกสรเพศผู้ติดอยู่บนขอบทรงกระบอกนี้ ไม่มีขน มีสีเหมือนกลีบดอก มีรูปทรงแบบขอบขนาน ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ส่วนรังไข่จะอยู่เหนือวงกลีบ เป็นรูปทรงคล้ายแจกัน ภายในมีช่องประมาณ 3-5 ช่อง ในแต่ละช่องจะมีไข่เป็นจำนวนมาก ส่วนก้านชูเกสรเพศเมียจะมีลักษณะยาวแคบ ส่วนปลายมีรอยหยัก แบ่งออกเป็น 3-5 หยัก มีน้ำเหนียว ๆ และมีขนอ่อนนุ่มปกคลุม
ผล : ผลออกเป็นพวง ลักษณะของผลเป็นรูปทรงรีหรือรูปไข่ ผลเป็นแบบผลแห้งมีเปลือกแข็งสีน้ำตาล ปลายผลเป็นติ่งแหลม ผลมีขนาดยาวประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.8-4 เซนติเมตร ผลเป็นสีน้ำตาล เมื่อสุกจะเปลี่ยนสีดำ เมื่อแห้งหรือแก่จะแตกเป็น 3-5 เสี่ยง ภายในผลแบ่งออกเป็นช่องประมาณ 3-5 ช่อง มีเมล็ดลักษณะแบน เป็นแผ่นบาง ๆ สีน้ำตาล มีความยาวเป็น 2 เท่าของความกว้าง โดยมีขนาดกว้างประมาณ 0.4-1.0 เซนติเมตรและยาวประมาณ 0.8-1.8 เซนติเมตร ในแต่ละช่องของผลจะมีเมล็ดอยู่ประมาณ 60-100 เมล็ด ซึ่งการเรียงตัวของเมล็ดยมหินจะเรียงตัวกันแบบสลับกันระหว่างส่วนหัวและปลายเมล็ดที่อยู่ในช่องแต่ละช่อง
การขยายพันธุ์ : วิธีการเพาะเมล็ด
สรรพคุณ
- 1. เปลือกจากเนื้อไม้ใช้ผสมเป็นยาปรุงแก้ไข้เปลี่ยนฤดู หนาว ๆ ร้อน ๆ ไข้จับสั่น (เปลือกจากเนื้อไม้)
- 2. เปลือกใช้เป็นยาสมานแผล (เปลือก)




แหล่งที่มาของภาพ
https://medthai.com/images/2014/05/ลูกยมหิน.jpg
https://medthai.com/images/2014/05/ดอกยมหิน.jpg
https://medthai.com/images/2014/05/เปลือกต้นยมหิน.jpg
https://medthai.com/images/2014/05/ใบยมหิน.jpg
https://medthai.com/images/2014/05/ผลยมหิน.jpg