กะเพรา

จาก โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชผักป่าพื้นบ้านภาคใต้ที่มีอยู่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี

Ocimum sanctum Linn 03.jpg

วงศ์ LABIACEAE
ชื่อวิทยาศาสตร์ Ocimum tenuiflorum Linn.
ชื่อสามัญ
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ กอมก้อ, กอมก้อดง, ห่อกวอซู, ห่อตูปลู, อิ่มคิมหลำ, ห่อกวอซู, ห่อตูปลู, อิ่มคิมหลำ, กะเพราขน, กะเพราขาว, กะเพราแดง (กลาง), อีตู่ข้า
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ กระเพรามี 2 พันธุ์คือกระเพราขาว มีลำต้นและใยเป็นสีเขียว และกระเพราแดง ซึ่งมีใบและลำต้นเป็นสีแดงอมเขียว กระเพราขาวนิยมนำมาเป็นเครื่องเทศ ส่วนกระเพราแดงนิยมใช้เป็นยาสมุนไพร ลำต้นค่อนข้างแข็ง ตามลำต้นมีขน ใบเป็นใบเดี่ยวการเกาะติดของใบบนกิ่งแบบตรงข้ามสลับตั้งฉาก เรียงตรงข้าม รูปรี กว้าง 1-3 ซม. ยาว 2.5-5 ซม. ใบปลายแหลมหรือมน โคนแหลม ขอบจักฟันเลื่อยและเป็นคลื่น แผ่นใบมีขน ดอกเป็นแบบช่อฉัตร ออกบริเวณปลายยอดและปลายกิ่ง ยาว 8-10 ซม. ดอกย่อยมีขนาดเล็ก รูปคล้ายระฆัง กลีบดอกมีทั้งชนิดสีขาวลายม่วงแดงและสีขาว โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นกรวย ส่วนปลายแยกเป็น 2 ส่วน ส่วนบนแยกเป็น 4 กลีบปลายแหลมเรียว ส่วนล่างมีกลีบเดียวค่อนข้างกลม ผิวกลีบด้านในเกลี้ยง ด้านนอกมีขนตามโคนกลีบ กลีบเลี้ยงสีแดงน้ำตาลแกมม่วง และสีเขียว เนื้อกลีบแข็ง ส่วนโคนเชื่อมติดกันเป็นกรวย ส่วนปลายแยกเป็นกลีบปลายแหลมแบบหนาม ก้านดอกย่อยสีเขียว ยาวประมาณ 0.20-0.30 ซม. ผลแห้งแล้วแตกออก เมล็ด เล็ก รูปไข่สีน้ำตาล มีจุดสีเข้มเมื่อนำไปแช่น้ำเปลือกหุ้มเมล็ดพองออกเป็นเมือก
ประโยชน์ด้านอาหาร กระเพราเป็นพืชสมุนไพรที่นิยมนำมาปรุงอาหารมากที่สุด ไม่ว่าร้านอาหารตามสั่งหรือร้านอาหาร ภัตตาคาร กระเพราเป็นผักสมุนไพรที่ชูโรงในการทำ ได้หลากหลายชนิด เช่นผัดกระเพรากับเนื้อสัตว์ ชนิดต่างๆ แกงเผ็ด แกงเลียง
สรรพคุณทางยา กระเพรา เป็นสมุนไพร

  • ส่วนใบ บำรุงธาตุไฟธาตุ ขับลมแก้ปวดท้องอุจจาระ แก้ลมตานซาง แก้จุกเสียด แก้คลื่นเหียนอาเจียน และขับลม
  • ส่วนเมล็ด เมื่อนำไปแช่น้ำเมล็ดจะพองตัวเป็นเมือกขาว ใช้พอกบริเวณตา เมื่อตามีผง หรือฝุ่นละอองเข้า ผงหรือฝุ่นละอองนั้นก็จะออกมา ซึ่งจะไม่ทำให้ตาเรานั้นช้ำอีกด้วย
  • ส่วนราก ใช้รากที่แห้งแล้ว ชงหรือต้มกับน้ำร้อนดื่ม แก้โรคธาตุพิการ
  • ส่วนใบและกิ่งสด เมื่อนำมาสกัดน้ำมันหอมระเหยโดยการต้มกลั่น (hydrodistillation) ได้น้ำมันหอมระเหยร้อยละ 0.08-0.10 ซึ่งมีราคา 10,000 บาทต่อกิโลกรัม
  • น้ำสกัด ทั้งต้นมีฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้ สามารถรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ในใบมีฤทธิ์ขับน้ำดี ช่วยย่อยไขมันและลดอาการจุกเสียด
  • รักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด ปวดท้อง ขับลม ขับเสมหะ บำรุงธาตุ ใช้ใบและยอด ( สด หนัก 25 กรัม - แห้งหนัก 4 กรัม ) ต้มเอาน้ำดื่ม เหมาะสำหรับเด็กท้องอืด
  • รักษาอาการคลื่นไส้อาเจียน ใช้ใบและยอด ( สด หนัก 25 กรัม - แห้งหนัก 4 กรัม ) ต้มเอาน้ำดื่ม เหมาะสำหรับเด็กท้องอืด

เพาะขยายพันธุ์

  • ปลูกโดยการหว่านเมล็ด การปลูกด้วยวิธีนี้จะต้องใช้เมล็ดพันธุ์มากและใช้แรงงานมากในการถอนแยก โดยเริ่มจากรดน้ำให้ชุ่มทั่วแปลง แล้วหว่านเมล็ดพันธุ์ให้กระจายสม่ำเสมอทั่วแปลง โดยทั่วไปใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 250 กรัมต่อไร่ ใช้แกลบขาวหรือแกลบดำโรยคลุมให้ทั่วแปลง หลังจากนั้นใช้ฟางแห้งหรือหญ้าแห้งคลุมทับบางๆ เสร็จแล้วให้รดน้ำตาม และรดน้ำทุกๆ วัน หลังจากงอกประมาณ 15-20 วัน ควรทำการถอนแยกให้ได้ระยะระหว่าง 20x20 เซนติเมตร
  • ปลูกโดยการใช้ต้นกล้า เป็นวิธีที่เกษตรกรนิยมปฏิบัติกันมากเพราะให้ผลผลิตสูงและสะดวกในการจัดการ โดยทำการเพาะกล้าในแปลงเพาะจนกระทั่งกล้ามีอายุ 20-25 วัน จึงทำการย้ายปลูก การย้ายปลูกควรทำในตอนเย็นและปลูกให้เสร็จภายในวันเดียวกัน เมื่อถอนต้นกล้ามาแล้วจึงเด็ดยอดออก ขุดหลุมให้ได้ระยะ 20x20 เซนติเมตร แล้วนำต้นกล้าที่เด็ดยอดแล้วลงปลูก หลังจากนั้นใช้ฟางหรือหญ้าแห้งคลุมระหว่างแถว รดน้ำตามทันทีและรดน้ำทุกวัน
  • ปลูกโดยการใช้ต้นและกิ่งแก่ การปลูกโดยใช้ลำต้นและกิ่งแก่ทำให้ได้ผลผลิตเร็ว แก่กิ่งและยอดที่แตกออกมาใหม่มักไม่สวนเท่าที่ควร ลำต้นโทรมและตายเร็ว วิธีการโดยตัดต้นและกิ่งแก่ที่มีอายุมากกว่า 8 เดือน ให้มีความยาว 5-10 เซนติเมตร เด็ดยอดและใบออก แล้วนำต้นหรือกิ่งแก่ไปปักชำในแปลง ใช้ระยะปลูก 20x20 เซนติเมตร หลังจากนั้นใช้ฟางหรือหญ้าแห้งคลุมระหว่างแถว รดน้ำตามทันที และหลังจากปลูกควรรดน้ำทุกวัน

Ocimum sanctum Linn.jpg Ocimum sanctum Linn 01.jpg Ocimum sanctum Linn 02.jpg Ocimum sanctum Linn 04.jpg Ocimum sanctum Linn 05.jpg