กลอย
วงศ์ DIOSCOREACEAE
ชื่อวิทยาศาสตร์ Dioscorea hispida Dennst.
ชื่อสามัญ
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ มันกลอย กลอยข้าวเหนียว กลอยหัวเหนียว กลอยนก กอย คลี้
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ลักษณะทั่วไป ไม้เถาเลื้อยพันต้นไม้อื่น ลำต้น กลม โคนต้นเป็นเหลี่ยมมีหนามสั้น ๆ ตลอดเถา ลำต้นสีเขียว มีหัวอยู่ใต้ผิวดินเปลือกของหัวบางสีน้ำตาลอ่อนเหลือง ลักษณะกลมรีมีรากเล็กๆ กระจายทั่วทั้งหัว มีหัว 3-5 หัวต่อต้น หัวกลอยมี 2 ชนิด คือ เนื้อสีขาว (กลอยข้าวเจ้า) เนื้อสีเหลืองครีม(กลอยข้าวเหนียว) ใบ เป็นใบประกอบแบบพัด มีขนนุ่มปกคลุมใบย่อย 2 ใบ ใบข้างมีลักษณะคล้ายรูปหัวใจเบี้ยว ปลายใบแหลม เริ่มออกดอกหลังจากลำต้น เกี่ยวพันต้นไม้อื่นได้ระยะหนึ่ง ออกเป็นช่อระย้า ตามข้อง่าม ใบหรือซอกใบ มีดอกเล็กๆ สีเขียวอ่อนติดบนก้านช่อดอกออกดอกเพศผู้และดอกเมียแยกต้น มีเกสรตัวผู้ 6 อัน เกสรตัวเมีย ปลายแยกเป็นแฉก ผล คล้ายผลมะเฟืองมี 3 พู แต่ละพูมี 1 เมล็ด
ประโยชน์ด้านอาหาร มีแป้งในปริมาณสูง ใช้ประกอบอาหารได้ เช่น นึ่งกับข้าวเหนียวหรือแกงบวด ทำขนม หัวสดก่อนนำไปทำอาหารควรปอกเปลือก ฝานเป็นชิ้นบางๆ ใส่ชะลอมนำไปแช่น้ำไหล ประมาณ 3 วัน หรือหมักเกลือ 1 คืน แล้วนำมาคั้นน้ำทิ้งทำเช่นเดิมเป็นเวลา 3 วัน จึงนำไปปรุงเป็นอาหาร หรือหั่นเป็นแผ่นเล็กๆ ผึ่งแดดให้แห้งชุบแป้งทอดกับกล้วยน้ำว้า
สรรพคุณทางยา
- หัว แก้เถาดาน (อาการแข็งเป็นลำในท้อง) หุงเป็นน้ำมันใส่แผล กัดฝ้า กัดหนอง ราก บดให้ละเอียดผสมกับน้ำมันมะพร้าว ใบยาสูบ ใบลำโพง หรือพริกใช้พอกแผล เพื่อฆ่าตัวหนอนในแผลสัตว์เลี้ยง หัวใต้ดินมีสารพิษ แอลคาลอยด์ (alkaloid)ชื่อ dioscorine ละลายน้ำได้ดี และมีผลทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียนมึนงง คันคอ ตาพร่า เป็นลม การปฐมพยาบาลทำให้อาเจียนรีบนำส่งโรงพยาบาล
เพาะขยายพันธุ์ ใช้เมล็ดและแยกหัว เมื่อผลแก่แตกได้เองเมล็ดมีลักษณะกลมแบน มีปีกบางใส ช่วยการแพร่พันธุ์ ให้ปลิวตามลม