ผักชีลาว
วงศ์ UMBELLIFERAE
ชื่อวิทยาศาสตร์ Anethum graveolens Linn.
ชื่อสามัญ Dill
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ เทียนข้าวเปลือก ,เทียนตาตั๊กแตน (ภาคกลาง), ผักชี (ขอนแก่น,เลย) ผักชีตั๊กแตน, ผักชีเทียน (พิจิตร), ผักชีเมือง(น่าน)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ผักชีลาวเป็นพืชล้มลุกตระกูลเดียวกับผักชี ลำต้นมีสีเขียวเข้มขนาดเล็ก ลักษณะใบเป็นใบประกอบแบบขนนกมีสีเขียวสดออกเรียงสลับกัน ดอกมีขนาดเล็กสีเหลืองออกเป็นช่อ ก้านช่อดอกมีลักษณะคล้ายกับซี่ร่ม ผลแก่เป็นรูปไข่แบนมีสีน้ำตาลอมเหลือง ถ้านำไปใช้เป็นเครื่องเทศจะเก็บได้ก็ต่อเมื่อดอกเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล
ประโยชน์ด้านอาหาร นิยมประกอบอาหารอีสาน และเหนือ เพื่อเป็นการดักกลิ่นคาว และเพิ่มรสชาดของอาหาร ใช้ส่วนของต้นสด ใบสด ใบแห้ง ผลแห้ง โรยบนอาหารประเภทปลาเพื่อดับกลิ่นคาว เมล็ดก่อนนำมาประกอบอาหารควรบดก่อน โดยนิยมโรยบนสลัดผักและมันฝรั่งบดเพื่อเพิ่มรสชาติ นอกจากนี้น้ำมันผักชีลาวยังใช้แต่งกลิ่นผักดอง น้ำซอส สตู ขนมหวาน เครื่องดื่มและเหล้า
สรรพคุณทางยา
- ผลแก่แห้ง ของผักชีลาวบดให้เป็นผง ชงกับน้ำดื่มวันละ 4-5 แก้ว แก้อาการปวดท้อง แน่นท้อง ท้องอืดท้องเฟ้อ ช่วยขับลม
- ต้นสด ของผักชีลาวผสมกับนมให้เด็กอ่อนดื่มแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ
- ใบ มีผลดีต่อกระเพาะ ม้าม และตับ มีวิตามินเอ ช่วยการทำงานของกระเพาะ
- ส่วนน้ำมันผักชีลาวมักใช้ผสมในยาย่อยอาหาร ยาแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ทั้งต้น แก้บวม แก้เหน็บชา ขับเหงื่อ เมล็ด ทำให้ผายลมและเรอ แก้หอบ บำรุงปอด แก้ไอ แก้ลมที่ทำให้สะอึก แก้ลมวิงเวียน แก้อาเจียน ผล ขับลม แก้ไอ แก้หอบหืด และแก้คลื่นไส้อาเจียน