นกกก

จาก ระบบฐานข้อมูลชนิดนกชนิดนกในอุทยานแห่งชาติเขาสก อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
Buceros bicornis01.jpg

วงศ์ : Bucerotidae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Buceros bicornis Linnaeus, 1758.
ชื่อสามัญ : Great Hornbill
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ : นกกาฮัง, นกกะวะ, Great Pied Hornbill

นกกกมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Buceros bicornis ชื่อชนิดมาจากรากศัพท์ภาษาละตินคือ bi แปลว่าสอง ที่สอง หรือสองเท่า และ corn, -e หรือ cornum หรือ corni แปลว่าเขาสัตว์ ความหมายคือ “นกที่มีโหนกแข็งเป็นสองแฉกหรือสองลอน” พบครั้งแรกที่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ทั่วโลกมีนกกก 2 ชนิด ย่อยคือ Buceros bicornis bicornis Linnaeus ชื่อชนิดย่อยมีที่มาและความหมายเช่นเดียวกับชื่อชนิด และ Buceros bicornis homrai Hodgson ชื่อชนิดย่อย ดัดแปลงจากชื่อของบุคคล พบชนิดย่อยนี้ครั้งแรกที่ประเทศเนปาล ประเทศไทยพบทั้ง 2 ชนิดย่อย

กระจายพันธุ์
ตั้งแต่อินเดีย จีนด้านตะวันตกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนถึงเกาะสุมาตรา

ลักษณะทั่วไป
นกกกเป็นนกขนาดใหญ่มาก (120-122 ซม.) ใบหน้ามีสีดำ คอสีขาว ลำตัวด้าน บนสีดำ อกสีดำ คอและท้องสีขาว ปากและโหนกแข็งสีเหลือง โหนกแข็งมีขนาดใหญ่ ด้านบนแบนหรือนูนเล็กน้อย ส่วนท้ายเว้า ส่วนหน้าแตกออกเป็นสองกิ่ง ปลายกิ่งอาจแหลมหรือทู ปีกสีดำ ขณะบินจะเห็นแถบกว้างสีเหลืองกลางปีก ขอบปลายปีกสีขาว หางสีขาว คาดแถบสีดำ ตัวผู้แตกต่างจากตัวเมียตรงที่มีขนาดใหญ่กว่า โหนกแข็งมีสีดำที่ส่วนหน้า ตาสีแดง ส่วนตัวเมียโหนกแข็งไม่มีสีดำ ตาสีขาว

อุปนิสัยและอาหาร
อาศัยอยู่ตามป่าดงดิบชื้น ป่าดงดิบแล้ง และป่าดงดิบเขา ในระดับสูงไม่เกิน 1,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล ปกติจะพบมันเกาะตามกิ่งไม้ โดยเฉพาะต้นไม้ผลในป่า แต่บ่อยครั้งก็พบมันกระโดด เก็บกินผลไม้หล่นตามพื้นดิน มักพบอยู่เป็นคู่หรือเป็นฝูงเล็ก ๆ ประมาณ 3-5 ตัว แต่อาจพบเป็นฝูงใหญ่กว่า 30 ตัวในบริเวณต้นไม้ที่มีผลสุกชนิดที่มันชอบ มันจะมาที่ต้นนั้นทุกวันจนผลไม้หมด จึงไปหาต้นอื่นนกกกเวลาบินจะเกิดเสียงดังมาก ได้ยินไปไกล เมื่อใกล้ถึงสถานที่ที่มันจะเกาะ บางครั้งก็ใช้วิธีการร่อน นกกกมักใช้เส้นทางเดิมบินไปหาอาหารและกลับแหล่งที่อยู่อาศัยเกือบทุกวัน มันบินเป็นฝูง ยกเว้นในช่วงฤดูผสมพันธุ์ที่จะพบบินโดดเดี่ยว ในเวลากลางคืนมันจะเกาะนอนหลับบนเรือนยอดของต้นไม้ขนาดใหญ่ และมักเกาะรวมกันหลายตัว นกกกร้อง “กา-ฮัง กา-ฮัง” คล้ายเสียงเห่าของสุนัข บางครั้งก็ร้อง “โตก-โต้ก” หรือ “กกกก” ซ้ำ ๆ กัน แต่เว้นช่วงพอประมาณ ขณะร้องคอเหยียดตรง ปากชี้ขึ้น ในช่วงฤดูผสมพันธุ์จะได้ยินเสียงร้องมากกว่าฤดูอื่น อาหารส่วนใหญ่ ได้แก่ ผลไม้ โดยเฉพาะไทร หว้า ตาเสือใหญ่ ตาเสือเล็ก ยางโอน ปอ และร้านเล็ก มัน กินอาหารด้วยการใช้ปลายปากปลิดผลไม้ออกจากกิ่ง โยนผลไม้ขึ้นไปในอากาศ แล้วอ้าปากรับผลไม้ กลืนกันทั้งผลลงคอ หรือมันอาจคาบผลไม้ไว้ เงยหน้าขึ้นแล้วอ้าปากให้ผลไม้หล่นลงลำคอ นอกจากนี้มันยังจับงู เก่า หนู และลูกนกตามโพรงไม้หรือโพรงดินกินด้วย

การผสมพันธุ์
นกกกผสมพันธุ์ในช่วงฤดูหนาว ต้นฤดูร้อน ระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคมจนจะพบอยู่เป็นคู่ แต่บางตัวก็พบอยู่โดดเดี่ยว มันทำรังตามโพรงต้นไม้ที่เกิดตามธรรมชาติหรือโพรงที่ สัตว์อื่นทำทิ้งไว้ โพรงมักอยู่สูงจากพื้นดิน 18-25 เมตร มันมักใช้โพรงเดิมเป็นประจำทุกปี ในช่วงที่ตัวเมียฟักไข่ ตัวผู้จะคอยหาอาหารมาป้อน เมื่อไข่ฟักเป็นตัวแล้ว ตัวผู้จะต้องหาอาหารมาป้อนทั้งตัวเมียและลูก เมื่อลูกนกมีขนปกคลุมลำตัวและแข็ง แรงพอประมาณแล้ว ตัวผู้จะเปิดปากโพรงให้ตัวเมียออกมา รวมเวลาที่ตัวเมียอยู่ในโพรงประมาณ 80-90 วัน เมื่อตัวเมียออกจากโพรงแล้ว ลูกนกจะปิดปากโพรง ตัวผู้อาจช่วยปิดปากโพรงด้านนอกด้วย ในช่วงนี้ตัวเมียจะช่วยตัวผู้หาอาหารมาป้อนลูกนกด้วย ซึ่งเป็นพฤติ กรรมที่แตกต่างจากนกเงือกชนิดอื่น ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะหาอาหารมาป้อนลูกนกต่อไปอีกประมาณ 3-5 สัปดาห์ ลูกนกจึงจะแข็งแรง พ่อและแม่นกจะช่วยกันเปิดปากโพรงให้ลูกนกออกมา หลังจากนั้นลูกนกจะเริ่มหัดบิน ไม่นานนักลูกนกก็บินได้ และทิ้งโพรงไปอยู่รวมฝูง

ไข่
รังไข่มี 1 ฟอง บางรังมี 2 ฟอง ไข่ของนกกกสีขาวหรือสีขาวปนสีครีม ผิวค่อนข้างหยาบ มีขนาดเฉลี่ย 45.3x61.1 มม. ใช้เวลาฟักไข่ประมาณ 31 วัน

สถานภาพ
นกกกเป็นนกประจำถิ่น พบบ่อยและปริมาณปานกลางทั่วทุกภาค Deignan (1963) กล่าวว่าชนิดย่อย homrai พบตั้งแต่ภาคใต้บริเวณเหนือคอคอดกระขึ้นมา ส่วนชนิดย่อย bicornis พบเฉพาะทางภาคใต้ตั้งแต่คอคอดกระลงไป

กฎหมาย
กฎหมายจัดนกกกทุกชนิดย่อยเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง Humphrey and Bain (1990) จัดเป็นสัตว์ที่มีแนวโน้มจะสูญพันธุ์

ลิงค์ข้อมูลเพิ่มเติม
นกกก,นกกาฮัง


Buceros bicornis02.jpg Buceros bicornis03.jpg

แหล่งที่มาของภาพ
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/d/d6/Great_Hornbill_%28Buceros_bicornis%29_-_Flickr_-_Lip_Kee_%281%29.jpg
https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTstHpu24RWYkFb8kRGR_ABWwGmff5Lfhco4PvNQfp-hEtKvTVyAQ&s
https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTh0GM1NcERxz3zlblpLyjNyJx_wktx09ZaeFo7c3X5V7LvlIfQHw&s