นกแต้วแล้วธรรมดา

จาก ระบบฐานข้อมูลชนิดนกชนิดนกในอุทยานแห่งชาติเขาสก อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
Pita moluccensis01.jpg

วงศ์ : Pittidae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pita moluccensis (Müller) 1776.
ชื่อสามัญ : Blue-winged Pitta
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ : นกกอหลอ, นกแต้วแร้วป่า, Moluccan Pitta

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pita moluccensis ชื่อชนิดดัดแปลงจากชื่อสถานที่คือหมู่เกาะโมลุกกะ (Moluccas) ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของเกาะสุลาเวซีหรือเกาะซีลีบีส ในประเทศอินโดนีเซีย แต่เป็นชนิดที่พบครั้งแรกที่ Malacca ในประเทศมาเลเซีย (Deignan, 1963) อย่างไรก็ตามสถานที่พบครั้งแรกที่แท้จริง บางท่านก็กล่าวว่าเป็นบริเวณเมืองตะนาวศรี ทางตอนใต้ของประเทศพม่า ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยมี 1 ชนิดย่อย คือ Pitta moluccensis moluccensis (Müller) ที่มาของชื่อชนิดย่อยเช่นเดียวกับชื่อชนิด

กระจายพันธุ์
ในอินเดีย จีนด้านตะวันตกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ลักษณะทั่วไป
เป็นนกขนาดเล็ก (20 ซม.) ตัวเต็มวัยหัวมีสีดำ เหนือตามีลายพาดขนาดกว้างสีน้ำตาล ลำตัวด้านบนสีเขียว ขนคลุมขนปีกด้านบน ตะโพกและขนคลุมโคนขนหางด้านบนเป็นสีน้ำเงินสด ลำตัวด้านล่างสีเนื้อถึงน้ำตาลแดง คอหอยสีขาว ตรงกลางท้องและขนคลุมโคนขนหางด้านล่างสีแดง ขณะบินจะเห็นลายแถบสีขาวบริเวณขนปลายปีกชัดเจน ตัวไม่เต็มวัยลำตัวด้านบนสีน้ำเงิน ลำตัวด้านล่างสีน้ำตาลแดง แต่ไม่มีสีแดงที่ท้องและขนคลุมโคนขนหางด้านล่าง

อุปนิสัยและอาหาร
อาศัยอยู่ในป่าได้หลายสภาพ เช่น ป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบแล้ง ป่าดงดิบชื้น ป่ารุ่น ป่าไผ่ สวนป่า สวนยางพารา ตั้งแต่พื้นราบจนกระทั่งความสูง 800 เมตรจากระดับน้ำทะเล พบอยู่โดดเดี่ยวหรือเป็นคู่ ปกติหากินตามพื้นดิน แต่จะเกาะนอนหลับตามกิ่งไม้ ซึ่งสูงจากพื้นดินไม่มากนัก มักกระโดด ลักษณะคล้ายกับพวกนกกะรางในช่วงหากิน แล้วใช้ปากจิกและพลิกใบไม้แห้งที่ร่วงหล่นตามพื้นดิน หรือใช้ปากขุดดินเพื่อหาอาหาร ได้แก่ ไส้เดือน ตัวหนอน แมลง และสัตว์ขนาดเล็กที่อยู่ตามผิวดิน ใต้ดิน หรือใต้ใบไม้ หากมีสิ่งรบกวนหรือเมื่อตกใจจะบินหนีบาง ครั้งก็วิ่งซุกตามพุ่มไม้ที่รกทึบ ขณะเกาะกิ่งไม้ โดยเฉพาะในช่วงฤดูผสมพันธุ์ จะส่งเสียงร้องดัง “แต้วแล้ว” หรือ “แต้ว-แร้ว” ส่วนชาวบ้านทางภาคใต้ฟังเป็นเสียง “กอ-หลอ” ซึ่งเป็นไปได้ทุกเสียงขึ้นอยู่กับผู้ฟัง

การผสมพันธุ์
ผสมพันธุ์ในช่วงฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม ซึ่งในช่วงดังกล่าวจะได้ยินเสียงร้องของนกเป็นประจำรังเป็นรูปทรงกลมหรือกลมรี ขนาดกว้างประมาณ 15 ซม. และยาว 20 ซม. มีทางเข้าออกอยู่ทางด้านหน้า รังอยู่ตามพื้นดินบริเวณโคนต้นไม้ หรือกอพืชต่าง ๆ บางครั้งก็อยู่ตามง่ามไม้ที่สูงจากพื้นดิน 1.0-2.0 เมตร วัสดุที่ใช้ ทำรังประกอบด้วยกิ่งไม้ รากไม้ ใบหญ้า ใบไม้แห้ง ฯลฯ

ไข่
รังมีไข่ 4-6 ฟอง ไข่สีขาว มีลายจุดหรือลายขีดสีม่วงเข้มห่าง ๆ ขนาดของไข่โดยเฉลี่ย 21.2x24.7 มม. ทั้งสองเพศช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน ใช้ เวลาฟักไข่ 14-15 วัน ลูกนกเมื่อออกจากไข่ใหม่ ๆ ยังไม่มีขนคลุมร่างกายและยังไม่ลืมตา พ่อแม่ต้องช่วยกันกกและหาอาหารมาป้อน เมื่อลูกนกมีอายุ 8-12 วันจะมีขนคลุมร่างกายเกือบเต็ม ยังบินไม่ได้ แต่จะทิ้งรังไป และยังคงติดตามพ่อแม่ไปหาอาหาร จนกระทั้งแข็งแรงและบินได้ดีแล้วจึงจะแยกไปหากินตามลำพัง

สถานภาพ
เป็นนกอพยพมาทำรังวางไข่ในประเทศไทยในฤดูฝน ส่วนหนึ่งเป็นนกที่อพยพผ่านประเทศไทยไปยังประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ในฤดูแล้งมีบางตัวพบประจำอยู่ในประเทศไทยแต่มีจนวนน้อยมาก ส่วนใหญ่จะอพยพไปยังสองประเทศดังกล่าวข้างต้น พบบ่อยและปริมาณปานกลางทั่วทุกภาค

กฎหมาย
กฎหมายจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง

ลิงค์ข้อมูลเพิ่มเติม
นกแต้วแล้วธรรมดา


Pita moluccensis02.jpg Pita moluccensis03.jpg

แหล่งที่มาของภาพ
https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcS3JPaD5544xTpLGCgwAfHZaTmP6kppyG8ZI59AldmcyXPGglQM&s
https://live.staticflickr.com/7849/45836769775_8f45c205b2_b.jpg
https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTGF1ZtnERMBRml5uoQqbsG4srTiak0lEGrphGAa6zURGnRykl1&s