นกกระปูดใหญ่

จาก ระบบฐานข้อมูลชนิดนกชนิดนกในอุทยานแห่งชาติเขาสก อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
Centropus sinensis01.jpg

วงศ์ : Cuculidae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Centropus sinensis (Stephens) 1815.
ชื่อสามัญ : Greater coucal
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ : นกกะปูดใหญ่ , Common coucal , Common crow pheasant , Large crow pheasant

นกกะปูดใหญ่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Centropus sinensis ชื่อชนิดมาจากภาษาละตินสมัยใหม่คือ sinens แปลว่าแห่งประเทศจีน ซึ่งเป็นสถานที่ที่พบครั้งแรกทั่วโลกมีนกกะปูดใหญ่ 8 ชนิดย่อย ประเทศไทยพบ 2 ชนิดย่อยคือ Centropus sinensis intermedius (Hume) ชื่อชนิดย่อยมาจากรากศัพท์ภาษาละตินคือ inter แปลว่าระหว่าง และ medi, -a, -o แปลว่ากลางความหมายคือ “นกที่มีขนาดกลางหรือนกที่มีลักษณะระหว่างนก 2 ชนิดหรือ 2 ชนิดย่อย” พบครั้งแรกที่ประเทศพม่า และ Centropus sinensis eurycercus Blyth ชื่อชนิดย่อยมาจากรากศัพท์ภาษากรีกคือ eury หรือ eurus แปลว่ากว้าง และ cerc, -o, =us หรือ kerkos แปลว่าหาง ความหมายคือ “นกที่มีหางแผ่กว้าง” พบครั้งแรกที่ประเทศมาเลเซีย

กระจายพันธุ์
ในอินเดีย จีนตอนใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกาะไหหลำ หมู่เกาะอันดามัน หมู่เกาะนิโคบาร์ หมู่เกาะซุนดาใหญ่ และฟิลิปปินส์

ลักษณะทั่วไป
เป็นนกขนาดกลาง (50-53 ซม.) ปากหนาและโค้งเล็กน้อย คอสั้น ปีกแหลมยาวประมาณ 18 ซม. หางยาว ขาและนิ้วแข็งแรง ขาอยู่กึ่งกลางลำตัว ซึ่งแตกต่างจากนกชนิดอื่นที่มีขาอยู่ค่อนไปทางด้านท้ายของลำตัว เล็บของนิ้วหลังยาวกว่า 1.9 ซม. ปากสีดำ ตาสีแดง หัวและคอสีดำเหลือบน้ำเงิน หลังและปีกสีน้ำตาลแดง ลำตัวด้านล่างและหางสีดำเหลือบน้ำเงิน ขาและนิ้วสีดำ ทั้งสองเพศมีลักษณะเหมือนกัน ตัวไม่เต็มวัยมีลักษณะคล้ายกับตัวเต็มวัย แต่บริเวณที่เป็นสีน้ำตาลแดงจะมีลายขีดสีดำและบริเวณที่เป็นสีดำจะมีลายขีดสีเทา ตาสีเทา ปากสีออกเหลืองหรือเทา

อุปนิสัยและอาหาร
อาศัยอยู่ตามทุ่งหญ้า ป่าละเมาะ บริเวณชายป่าที่ใกล้กับแหล่งน้ำ ตั้งแต่ระดับพื้นราบจนกระทั่งความสูง 1,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล นอกจากนี้ยังพบที่อยู่เป็นฝูง มีกิจกรรมในเวลากลางวัน ปกติมันหลบซ่อนตามกอหญ้าหรือพุ่มไม้เตี้ยที่แน่นทึบ ไม่ค่อยพบเกาะตามกิ่งของต้นไม้ใหญ่ในระดับสูง นกกะปูดใหญ่สามารถบินได้ดีปานกลางแต่มักบินในระดับต่ำระหว่างพุ่มไม้หรือพุ่มหญ้า ส่วนใหญ่มันกระโดดไปตามพื้นดินหรือกิ่งไม้พุ่มเตี้ยมากกว่า นกกะปูดใหญ่ร้อง “ปูด-ปูด-ปูด” 2-3 ครั้งต่อวินาที ติดต่อกันหลายวินาที มันร้องตลอดทั้งวันแต่ช่วงเช้าและเย็นจะร้องบ่อยกว่า เมื่อตัวใดตัวหนึ่งร้องอีกตัวหนึ่งจะร้องตอบ มันร้องเพื่อประกาศอาณาเขตดึงดูดเพศตรงกันข้าม หรือเพื่อให้เหยื่อออกจากที่ซ่อนเวลาต่อสู้กันนกกะปูดใหญ่จะกระโดดและพองขนคอตีกันคล้ายไก่ นกกะปูดใหญ่กินแมลงและสัตว์ขนาดเล็ก เช่น กบ เขียด งู ปลา กิ้งก่า เป็นต้น ส่วนใหญ่มันหากินใกล้แหล่งน้ำ เช่น แอ่งน้ำ บึง หนอง คลอง ห้วย โดยกระโดดไปตามพื้นดินหรือพุ่มไม้เตี้ย เมื่อพบเหยื่อก็ใช้ปากจิกกิน หากเหยื่อมีขนาดใหญ่ มันจะใช้กรงเล็บช่วยจับเหยื่อ จากนั้นจึงใช้ปากฉีกเหยื่อออกเป็นชิ้น แล้วกลืนกินคล้ายพวกเหยี่ยว มันอาจออกหากินในที่โล่งแจ้งบ้างเป็นครั้งคราว

การผสมพันธุ์
นกกะปูดใหญ่ผสมพันธุ์ในช่วงฤดูร้อนต่อฤดูฝนระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคมในช่วงนี้นกกะปูดใหญ่จะอยู่กันเป็นคู่และร้องเป็นประจำเมื่อจับคู่ผสมพันธุ์กันแล้ว ทั้งสองเพศจะช่วยกันหาวัสดุมาสร้างรัง นกกะปูดใหญ่ทำรังตามพงหญ้า กอไผ่และตามพุ่มไม้ โดยทั่วไปรังอยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 1.5-3.5 เมตร เป็นรูปทรงกลม มีทางเข้าออกขนาดใหญ่ทางด้านข้าง วัสดุที่ใช้ทำรังส่วนใหญ่เป็นพวกต้นหญ้า อาจมีใบหญ้าและดอกหญ้าปะปน มันสร้างรังด้วยการโค้งและสานต้นหญ้าเป็นรูปทรงกลม ยึดกับต้นพงแขม หญ้า หรือกิ่งไผ่ บริเวณพื้นรังอาจมีใบไม้และวัสดุอื่นรองอีกชั้นหนึ่ง

ไข่
รังมีไข่ 2-3 ฟอง มีลักษณะค่อนข้างกลม ผิวเรียบ สีขาว ไม่มีจุดหรือลาย มีขนาดเฉลี่ย 28.0x35.9 มม. ทั้งสองเพศช่วยกันฟักไข่หลังจากออกไข่ฟองสุดท้ายแล้ว ใช้เวลาฟักไข่ 23-24 วัน ลูกนกแรกเกิดมีผิวหนังสีดำ มีขนอุยสีขาวปกคลุมลำตัว ลืมตาได้ แต่ยังช่วยเหลือตนเองไม่ได้ พ่อแม่ต้องช่วยกันกกให้ความอุ่นโดยให้ซุกใต้ปีกหรือใต้ท้อง และต้องช่วยกันหาอาหารมาป้อน เมื่อลูกนกเจริญเติบโตแข็งแรง และบินได้ดีแล้ว มันจะแยกจากพ่อแม่ไปหากินตามลำพัง ซึ่งใช้เวลาประมาณ 25-30 วันหรือมากกว่าเล็กน้อย

สถานภาพ
นกกะปูดใหญ่เป็นนกประจำถิ่นพบบ่อยและปริมาณมาก ชนิดย่อย intermedius พบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ตอนใต้ที่ติดต่อกับประเทศมาเลเซีย ส่วนชนิดย่อย eurycercus พบเฉพาะทางภาคใต้ตอนใต้
ในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

กฎหมาย
กฎหมายจัดนกกะปูดใหญ่ทุกชนิดย่อยเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง

ลิงค์ข้อมูลเพิ่มเติม
นกกระปูดใหญ่


Centropus sinensis02.jpg Centropus sinensis03.jpg

แหล่งที่มาของภาพ
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/4/42/Greater_Coucal_(Centropus_sinensis)_in_Kolkata_I_IMG_3240.jpg
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/6/65/Greater_Coucal_(Centropus_sinensis)_in_Hyderabad_W_IMG_8963.jpg
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/6/66/Greater_Coucal_(Centropus_sinensis)_in_Hyderabad_W_IMG_8957.jpg