นกหัวขวานลายตะโพกเหลือง

จาก ระบบฐานข้อมูลชนิดนกชนิดนกในอุทยานแห่งชาติเขาสก อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
Meiglyptes tristis1.jpg

วงศ์ : Picidae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Meiglyptes tristis (Horsfield) 1821.
ชื่อสามัญ : Buff-rumped Woodpecker
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ : Fulvous-rumped Woodpecker, Fulvous-rumped Barred Woodpecker

นกหัวขวานลายตะโพกเหลืองมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Meiglyptes tristis ชื่อชนิดมาจากรากศัพท์ภาษาละตินคือ trist, -i หรือ tristis แปลว่าเศร้า ความหมายคือ “นกที่มีสีไม่ฉูดฉาด (สีแห่งความเศร้า)” พบครั้งแรกที่เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย ทั่วโลกมีนกหัวขวานลายตะโพกเหลือง 4 ชนิดย่อย ประเทศไทยพบ 1 ชนิดย่อย คือ Meiglyptes tristis grammithorax (Malherbe) ชื่อชนิดย่อยมาจากรากศัพท์ภาษากรีกคือ gramm, -a, -at แปลว่าจดหมายหรือเขียน และ thora, -co, =x แปลว่าอก ความหมายคือ “นกที่บริเวณอกมีลาย” พบชนิดย่อยนี้ครั้งแรกที่ประเทศมาเลเซีย

กระจายพันธุ์
ในพม่า ไทย มาเลเซีย และหมู่เกาะซุนดาใหญ่

ลักษณะทั่วไป
เป็นนกขนาดเล็ก (18-19 ซม.) ลำตัวด้านบนและลำตัวด้านล่างเป็นลายเล็ก ๆ สีดำสลับสีขาว ตะโพกสีขาวนวล ลายบนหัวละเอียดกว่าลำตัว ท้ายทอยมีพุ่มหงอนขนเป็นกระจุกเล็ก ๆ ตัวผู้ต่างจากตัวเมียตรงที่แก้มมีแถบสีแดงาว

อุปนิสัยและอาหาร
อาศัยอยู่เฉพาะในป่าดงดิบชื้น ตั้งแต่ระดับพื้นราบจนกระทั่งความสูง 600 เมตรจากระดับน้ำทะเล บางครั้งพบหากินตามสวนผลไม้ และสวนยางพารา มักพบอยู่เป็นคู่ หากินตามลำต้น หรือกิ่งไม้ใหญ่ ไม่พบที่ลงมาหากินตามพื้นดิน อาหารส่วนใหญ่คือมด มันหาอาหารด้วยการบินไปเกาะตามลำต้นหรือกิ่งไม้ใหญ่ที่มีมดอาศัยอยู่ จากนั้นจะใช้ลิ้นที่ยาวและเหนียวตวัดมดเข้าปาก บางครั้งมันใช้ปากจิกและแคะเปลือกไม้ให้หลุดออกเพื่อหามด ไข่มด และตัวอ่อนของด้วง เมื่อพบเหยื่อจึงใช้ลิ้นตวัดเข้าปาก

การผสมพันธุ์
นกหัวขวานลายตะโพกเหลืองผสมพันธุ์ในช่วงฤดูร้อนต่อฤดูฝนระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม ทั้งสองเพศช่วยกันขุดเจาะโพรง ทำรังตามต้นที่มีเนื้อไม้อ่อนหรือแข็งปานกลาง หรือตามไม้ยืนต้นตายที่ค่อนข้างผุ โพรงอยู่สูงจากพื้นดิน ประมาณ 1-5 เมตร

ไข่
รังมีไข่ 3 ฟอง ไข่สีขาว มีขนาดเฉลี่ย 16.3x22.4 มม.ทั้งคู่ช่วยกันฟักไข่และเลี้ยงดูลูกอ่อน ใช้เวลาฟักไข่ 11-12 วัน ลูกนกแรกเกิดยังไม่ลืมตาและไม่มีขนปกคลุมร่างกาย พ่อแม่ต้องช่วยกันกกและป้อนอาหาร ลูกนกอายุประมาณ 1 เดือน จะบินได้และแยกจากพ่อแม่ไปหากินตามลำพัง

สถานภาพ
นกหัวขวานลายตะโพกเหลืองเป็นนกประจำถิ่น พบบ่อยและปริมาณปานกลาง พบทางภาคตะวันตก และภาคใต้ตั้งแต่คอคอดกระลงไป

กฎหมาย
กฎหมายจัดนกหัวขวานลายตะโพกเหลืองเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง

ลิงค์ข้อมูลเพิ่มเติม
นกหัวขวานลายตะโพกเหลือง


Meiglyptes tristis02.jpg Meiglyptes tristis03.jpg Meiglyptes tristis04.jpg

แหล่งที่มาของภาพ
https://singaporebirders.files.wordpress.com/2016/01/buff-rumped-woodpecker_alanng.jpg?w=1200
https://www.birdsofthailand.org/sites/default/files/photo/image_148.jpg
https://dktnfe.com/web59/wp-content/uploads/2014/09/0075sep12_buffrumped_woodpecker_h_y_pollo_img_0253.jpg