นกพญาปากกว้างสีดำ

จาก ระบบฐานข้อมูลชนิดนกชนิดนกในอุทยานแห่งชาติเขาสก อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
Corydon sumatranus1.jpg

วงศ์ : Eurylaindae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Corydon sumatranus (Raffles) 1822.
ชื่อสามัญ : Dusky Broadbill
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ : -

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Corydon sumatranus ชื่อชนิดดัดแปลงมาจากชื่อสถานที่ที่พบครั้งแรกคือเกาะสุมาตรา และเนื่องจากสกุลนี้ประกอบด้วยนกเพียงชนิดเดียว บางตำราจึงจัดชื่อชนิดให้เหมือนกับชื่อสกุล โดยเขียนเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Corydon corvdon Lesson ทั่วโลกมี 7 ชนิดย่อย ประเทศไทยพบ 2 ชนิดย่อย คือ Corydon sumatranus sumatranus (Raffles) ที่มาของชื่อชนิดย่อยเช่นเดียวกับชื่อชนิด และ Corydon Sumatranus laoensis Meyer de Schauensee ชื่อชนิดย่อยดัดแปลงมาจากชื่อสถานที่คือประเทศลาว แต่พบครั้งแรกที่ดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่

กระจายพันธุ์
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกาะสุมาตรา และเกาะบอร์เนียว

ลักษณะทั่วไป
เป็นนกขนาดเล็ก (28 ซม.) ตัวเต็มวัยมีปากขนาดใหญ่สีออกชมพู สีสันของลำตัวส่วนใหญ่เป็นสีดำ บริเวณคอหอยสีเหลืองมีลายขีดสีดำมีลายพาดสีขาวเล็ก ๆ ที่เกือบปลายหาง บริเวณหลังมีลายขีดสีเหลืองถึงเหลือง-ส้ม แต่มักมองไม่ค่อยเห็น ขณะบินจะเห็นลายแถบสีขาวขนาดกว้างบริเวณโคนของขนปีก ตัวไม่เต็มวัยสีสันส่วนใหญ่เป็นสีน้ำตาลออกดำ ไม่มีสีเหลืองบริเวณคอหอย

อุปนิสัยและอาหาร
อาศัยอยู่ตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าดงดิบแล้ง ตั้งแต่พื้นราบจนกระทั้งความสูง 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล พบอยู่เป็นคู่หรือเป็นฝูงเล็ก ๆ ส่วนใหญ่พบเกาะตามกิ่งต้นไม้บริเวณใต้หรือกลางเรือนยอด แต่บางครั้งก็พบเกาะบริเวณปลายยอดไม้ หากินในช่วงเช้าตรู่และเย็นค่ำเป็นส่วนใหญ่ ในเวลากลางวันซึ่งอากาศร้อน มักหลบซ่อนตามกิ่งที่มีใบแน่นทึบ ทำให้สังเกตเห็นตัวไป อาหาร ได้แก่ กิ้งก่า จักจั่น ตั๊กแตน มด และหาอาหารโดยกระโดดตามกิ่งไม้ นอกจากนี้ยังกินที่กำลังบินอยู่เหนือยอดไม้ด้วยการบินโฉบด้วยปากกลางอากาศ แต่ไม่สูงหรือไกลจากที่เกาะมากนัก

การผสมพันธุ์
ผสมพันธุ์ในช่วงฤดูร้อนต่อฤดูฝนระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม ทำรังเป็นรูปกระเปาะแขวนอยู่ตามกิ่งไม้ ซึ่งปกติเป็นกิ่งที่ยื่นออกไปอยู่เหนือลำธาร วัสดุที่ใช้ทำรังประกอบด้วยใบหญ้า ใบไม้ ดอกหญ้า และใยแมงมุม โดยสานวัสดุเข้าด้วยกันแล้วใช้ใยแมงมุมเป็นตัวเชื่อม มีทางเข้าออกอยู่ทางด้านข้าง

ไข่
รังมีไข่ 2-4 ฟอง ไข่สีครีมหรือสีออกแดง มีลายคล้ายรอยแตกสีน้ำตาลแดง ขนาดของไข่โดยเฉลี่ย 19.1x26.9 มม. ทั้งสองเพศช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน ใช้เวลาฟักไข่ประมาณ 13-14 วัน ลูกอ่อนเมื่อออกจากไข่ใหม่ ๆ ยังไม่ลืมตา ไม่มีขนคลุมร่างกาย พ่อแม่ต้องคอยช่วยกันกกและหาอาหารมาป้อน เมื่อลูกนกแข็งแรงและบินได้ดีแล้ว ก็จะทิ้งรังไป ยังไม่ทราบระยะเวลาที่ใช้เลี้ยงลูกนก ในช่วงของการสร้างรังและเลี้ยงดูลูกอ่อนอาจพบ มีนกชนิดเดียวกันอีก 3-4 ตัว มาช่วยพ่อแม่นกทำรัง และเลี้ยงดูลูกอ่อนด้วย ยังไม่ทราบชีววิทยาการสืบพันธุ์นี้มากนัก เป็นไปได้ว่าเป็นนกที่เกิดในครอบครัวเดียวกันที่ยังไม่โตเต็มวัยหรือยังไม่ผสมพันธุ์วางไข่ มาช่วยพ่อแม่นกเพื่อเป็นการฝึกหัด แต่บางรังก็อาจพบเฉพาะพ่อและแม่นกเพียงคู่เดียวเท่านั้นที่เลี้ยงดูลูกอ่อน

สถานภาพ
เป็นนกประจำถิ่น พบบ่อยและปริมาณปานกลาง ชนิดย่อย loaensis พบทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดตรังขึ้นไป ชนิดย่อย Sumatranus พบทางภาคใต้ตอนใต้

กฎหมาย
กฎหมายจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง

ลิงค์ข้อมูลเพิ่มเติม
นกพญาปากกว้างสีดำ


Corydon sumatranus2.jpg Corydon sumatranus3.jpg

แหล่งที่มาของภาพ
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/e/ea/Dusky_Broadbills.jpg
https://live.staticflickr.com/2273/2530189779_d6817880c4_z.jpg
https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcROuS_KFNnLYcggokwE5-uW9wAzi5dgxr4-V7XKpE_mmKBnqNQm3w&s