นกแอ่นบ้าน

จาก ระบบฐานข้อมูลชนิดนกชนิดนกในอุทยานแห่งชาติเขาสก อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
Apus affinis01.jpg

วงศ์ : Apodidae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Apus affinis (Gray) 1830.
ชื่อสามัญ : House swift
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ : Little swift

นกแอ่นบ้านมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Apus affinis ชื่อชนิดมาจากรากศัพท์ภาษาละตินคือ affinis หรือ affini แปลว่าเกี่ยวพันกับหรือสัมพันธ์กับ ความหมายคือ “ลักษณะคล้ายกับนกชนิดอื่นในสกุลเดียวกัน” พบครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย Sibley and Monroe (1990) จัด Apus affinis ซึ่งใช้ชื่อสามัญว่า Little Swift เป็นคนละชนิดกับ Apus nipalensis (Hodgson) 1836. ซึ่งใช้ชื่อสามัญว่า House Swift ส่วน Inskipp et al. (1996) จัดเป็นชนิดเดียวกันโดยใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ที่ตั้งขึ้นก่อน ทั่วโลกมีนกแอ่นบ้าน 8 ชนิดย่อย ประเทศไทยพบ 1 ชนิดย่อย คือ Apus affinis subfurcatus (Blyth) ชื่อชนิดย่อยมาจากรากศัพท์ภาษาละตินคือ Sub แปลว่าข้างใต้หรือด้านล่าง furcatus (furc, =a, -i) แปลว่าเว้า ความหมายคือ “เมื่อมองจากด้านล่างจะเห็นหางเว้า” พบครั้งแรกที่เกาะปีนัง ประเทศมาเลเซีย

กระจายพันธุ์
ในแอฟริกา ตะวันออกกลาง อินเดีย จีนตอนใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกาะไหหลำ ไต้หวัน หมู่เกาะซุนดาใหญ่ และฟิลิปปินส์

ลักษณะทั่วไป
เป็นนกขนาดเล็กมาก (14-15 ซม.) ลำตัวสีออกดำ บริเวณตะโพกและคอหอยสีขาวหางเว้าเล็กน้อย จะเห็นต่อเมื่อนกแผ่หางออก นกแอ่นบ้านแตกต่างจากนกแอ่นตะโพกขาวหางแฉกตรงที่ปีกกว้างกว่า และหางสั้นกว่า

อุปนิสัยและอาหาร
อาศัยอยู่ตามทุ่งโล่ง หมู่บ้านและในเมือง ตั้งแต่ระดับพื้นราบจนกระทั่งความสูง 1,800 เมตรจากระดับน้ำทะเล มักพบเป็นฝูง ในเวลากลางวันมันใช้เวลาส่วนใหญ่บินและร่อน ในเวลากลางคืนมันจะเกาะนอนหลับตามแหล่งอาศัย ซึ่งได้แก่ถ้ำและอาคารบ้านเรือน นกแอ่นบ้านบินได้เร็วมาก บางครั้งมันก็ร่อนหากินเป็นวงกลมไกลจากแหล่งทีอยู่อาศัยหรือรังพอประมาณ นกแอ่นบ้านกินแมลงขนาดเล็กโดยเฉพาะแมลงในอันดับแมลงวัน (Diptera) อันดับมวน (Hemiptera) อันดับด้วงปีกแข็ง (Coleoptera) อันดับมดและผึ้ง (Hymenoptera) และแมลงอื่น ๆ หาอาหารโดยใช้ปากโฉบจับกลางอากาศแล้วกลืนทันที

การผสมพันธุ์
นกแอ่นบ้านผสมพันธุ์เกือบตลอดทั้งปี ยกเว้นในช่วงฤดูหนาว ส่วนใหญ่จะทำรังในช่วงเดือนกุมภาพันธุ์จนถึงเดือนตุลาคม มักทำรังในช่วงเดือนกุมภาพันธ์จนถึงเดือนตุลาคม มักทำรังรวมกันเป็นกลุ่ม มีทั้งกลุ่มเล็กและกลุ่มใหญ่มาก ตามเพดานหรือผนังถ้ำหินปูน ผาหิน หรือสิ่งก่อสร้าง รังมีรูปร่างแตกต่างกัน เช่น ทรงกลม ตะกร้า เป็นต้น โดยใช้วัสดุ เช่น หญ้า ใบไม้ ขนนก แล้วเชื่อมด้วยสิ่งที่สกัดออกมาจากต่อมน้ำลาย ในการทำรังใหม่ หากรังเดิมไม่ถูกทำลายไปเสียก่อน มันจะตกแต่งใหม่ด้วยการหาวัสดุมาเสริม

ไข่
รังมีไข่ 2-3 ฟอง หายากที่มี 4 ฟอง เป็นรูปรียาว สีขาว มีขนาดเฉลี่ย 14.9x22.7 มม. ไข่แต่ละฟองวางห่างกันประมาณ 2-3 วัน บางครั้งนานถึง 7 วัน ทั้งสองเพศช่วยกันสร้างรังและฟักไข่ จะเริ่มฟักตั้งแต่ออกไข่ฟองแรก ใช้เวลาฟักไข่ทั้งสิ้น 18-26 วัน ทั้งนี้เพราะช่วงระยะเวลาออกไข่ต่างกันมาก ลูกนกแรกเกิดไม่มีขนปกคลุมลำตัว ผิวหนังสีน้ำตาล ตาโปน ท้องป่อง และยังไม่ลืมตา พ่อแม่นกจะช่วยกันกกและหาอาหารมาป้อน จนกระทั่งลูกนกแข็งแรงและบินออกจากรังหากินเองได้ ใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 37-43 วันหลังจากลูกนกฟักเป็นตัว

สถานภาพ
นกแอ่นบ้านเป็นนกประจำถิ่น พบบ่อยและปริมาณปานกลางทั่วทุกภาค

กฎหมาย
กฎหมายจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง

ลิงค์ข้อมูลเพิ่มเติม
นกแอ่นบ้าน


Apus affinis02.jpg Apus affinis03.jpg

แหล่งที่มาของภาพ
https://sites.google.com/site/iambvirds/_/rsrc/1348053834960/nk-nangxaen-ban-barn-swallow-hirundo-rustica/44.jpg?height=320&width=400
http://lomluang.com/birdboard/index.php?action=dlattach;topic=6541.0;attach=17799;image
https://dktnfe.com/web59/wp-content/uploads/2014/09/obcid_barn_swallow_hirundo_rustica_tmb21381.jpg