นกคัคคูหงอน

จาก ระบบฐานข้อมูลชนิดนกชนิดนกในอุทยานแห่งชาติเขาสก อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
Clamator coromandus01.jpg

วงศ์ : Cuculidae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Clamator coromandus (Linnaeus) 1766.
ชื่อสามัญ : Chestnut-winged Cuckoo
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ : นกคัดคูหงอนปีกแดง, Red-winged Crested Cuckoo

นกคัดคูหงอนมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Clamator coromandus ชื่อชนิดดัดแปลงจากชื่อสถานที่ที่พบนกชนิดนี้ครั้งแรกคือชายฝั่ง Coromandel ในประเทศอินเดีย

กระจายพันธุ์
ในอินเดีย พม่า จีนตอนใต้ เกาะไหหลํา ไต้หวัน ไทย มาเลเซีย หมู่เกาะซุนดาใหญ่ ฟิลิปปินส์ และเกาะสุลาเวซี

ลักษณะทั่วไป
เป็นนกขนาดเล็ก-กลาง (45-46 ซม.) มีปากสีดำเรียวแหลมและโค้งเล็กน้อย หางยาว และเป็นหางบั้ง ตัวเต็มวัยกระหม่อม ท้ายทอย หงอน ขน และลำตัวด้านบนสีดำ ปีกสีน้ำตาลแดง คอด้านบนมีแถบสีขาว ลำตัวด้านล่างสีขาวหม่น บริเวณคอหอยและอกสีเนื้อแกมสีน้ำตาลแดง ขนคลุมโคนขนหาง ด้านล่างสีดำ ตัวไม่เต็มวัยลักษณะคล้ายตัวเต็มวัย แต่ลำตัวด้านบนมีลายคล้ายเกล็ดสีน้ำตาลแดง หัวและหลังสีน้ำตาลเข้ม คอหอยและอกตอนบนสีออกขาว

อุปนิสัยและอาหาร
อาศัยอยู่ตามป่าละเมาะซึ่งมีไม้พุ่ม ป่าเบญจพรรณ ป่ารุ่น ป่าไผ่ หรือตามหมู่บ้าน และสวน ตั้งแต่ระดับพื้นราบจนกระทั่งความสูง 1,300 เมตรจากระดับน้ำทะเล มักพบอยู่โดดเดี่ยว หรือเป็นฝูงเล็ก ๆ 3-4 ตัว มันมักหากินและหลบซ่อนบนต้นไม้ที่มีใบค่อนข้างแน่นทึบ บางครั้งก็ลงมาเกาะตามกิ่งไม้พื้นล่างหรือไม้พุ่มเพื่อหาอาหาร นกคัดคูหงอนบินได้ดี เร็ว และตรง มันร้องเป็นเสียงแหลม “ครีก-ครีก-ครีก” คล้ายกับนกปีกลายสก็อตหรือนกขุนแผน ในฤดูผสม พันธุ์จะร้องบ่อย แต่นอกฤดูผสมพันธุ์แทบจะไม่ร้องเลย นกคัดคูหงอนเป็นนกที่ไม่ค่อยปราดเปรียวนักเมื่อเทียบกับนกคัดคู่อื่น อาหารส่วนใหญ่ ได้แก่ ตัวหนอนและแมลงต่าง ๆ ที่เกาะหรือเจาะกิ่งไม้ มันกินอาหารโดยใช้ปากคาบแล้ว กลืนเหยื่อ

การผสมพันธุ์
ฤดูผสมพันธุ์ของนกคัดคูหงอนขึ้นอยู่กับฤดูผสมพันธุ์ของนกเจ้าของรังที่มันแอบไปวางไข่ ส่วนใหญ่เป็นนกกะรางสร้อยคอใหญ่ นกกะรางสร้อยคอเล็ก และนกกะรางอื่น ซึ่งวางไข่ในช่วงฤดูร้อนต่อฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม

ไข่
ไข่ของนกคัดคูหงอนมีรูปร่างค่อนข้างกว้าง คล้ายไข่ของนกเจ้าของรัง สีน้ำเงินจาง ไม่มีลวดลาย มีขนาดเฉลี่ย 22.8x26.9 มม.ปกติมันวางไข่ในรังหนึ่งไม่เกิน 2 ฟอง โดยจะทำลายไข่เจ้าของรังเสีย ก่อนมันจะวางไข่วันละหนึ่งฟองในช่วงสาย หรือหลังจากที่นกเจ้าของรังออกไปหากินแล้ว เมื่อออกไข่แล้ว มันจะทิ้งให้เจ้าของรังฟักไข่และเลี้ยงดูลูกให้โดยไม่สนใจไข่และลูกอ่อนของตนเองอีกต่อไป

สถานภาพ
นกคัดคูหงอนเป็นนกที่อพยพมายังประเทศไทยเพื่อผสมพันธุ์วางไข่ แต่บางส่วนเป็นนกอพยพผ่านและนกอพยพมาช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ พบไม่บ่อยและปริมาณไม่มากนักทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก ภาคกลาง และภาคใต้

กฎหมาย
กฎหมายจัดนกคัดคูหงอนปีกแดงเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง

ลิงค์ข้อมูลเพิ่มเติม
นกคัคคูหงอน


Clamator coromandus02.jpg Clamator coromandus03.jpg

แหล่งที่มาของภาพ
https://www.birdsofthailand.org/sites/default/files/photo/image_1671.jpg
https://i.ytimg.com/vi/uZAXy6Rckww/hqdefault.jpg
https://dktnfe.com/web59/wp-content/uploads/2014/09/chestnutwinged_cuckooaaf_3028.jpg