นกโพระดกคางแดง
วงศ์ : Megalaimidae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Megalaima mystacophanos (Temminck) 1824.
ชื่อสามัญ : Red-throated Barbet
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ : Gaudy Barbet
นกโพระดกคางแดงมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Megalaima mystacophanos ชื่อชนิดมาจากรากศัพท์ ภาษากรีกคือ myst, -ac, =ax, -ic หรือ mustax แปลว่าเคราหรือคาง และ phanos หรือ phaino แปลว่าสดใส ความหมายคือ “นกที่มีเคราหรือคางเด่นหรือมีสีสดใส” พบครั้งแรกที่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ทั่วโลกมีนกโพระดกคางแดง 3 ชนิดย่อย ประเทศไทยพบ 1 ชนิดย่อย คือ Megalaima mystacophonos mystacophonos (Temminck) ชื่อชนิดย่อยมีที่มาและความหมายเช่นเดียวกับชื่อชนิด
กระจายพันธุ์
ในพม่า ไทยมาเลเซีย เกาะสุมาตรา และเกาะบอร์เนียว
ลักษณะทั่วไป
เป็นนกขนาดเล็ก (22-23 ซม.) ตัวผู้และตัวเมียสีสันแตกต่างกันเล็กน้อย ตัวผู้หน้าผากสีเหลือง กระหม่อมสีแดง มีคิ้วสีดำ บริเวณหัวตาสีแดง คอหอยสีแดง คอหอยตอนล่างสีฟ้าและมีสีแดง แต้มตรงมุมขอบของบริเวณสีฟ้า ตัวเมียหน้าผากสีเขียว กระหม่อมตอนท้ายเป็นลายสีแดง ไม่มีคิ้วสีดำ บริเวณกลางกระหม่อม แก้ม และคอหอยตอนล่างมีสีฟ้าจาง ทั้งสองเพศบริเวณแก้มไม่มีสีเหลืองอย่างนกโพระดกเคราเหลืองและนกโพระดกหลากสี
อุปนิสัยและอาหาร
อาศัยอยู่ตามป่าดงดิบชื้น ตั้งแต่ระดับต่ำจนกระทั่งความสูง 750 เมตรจากระดับน้ำทะเล อุปนิสัยไม่แตกต่างจากนกโพระดกชนิดอื่น นกโพระดกคางแดงร้อง “ตุ๊ก” แล้วตามด้วย “ตู-ตู-ตู” หรืออาจร้อง “ตุ๊ก-ตู-ตู-ตุ๊ก” แล้วตามด้วย “ตู-ตู-ตู”
การผสมพันธุ์
นกโพระดกคางแดงผสมพันธุ์ในช่วงฤดูร้อนต่อฤดูฝนระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม ทำรังตามโพรงต้นไม้ ชีววิทยาการสืบพันธุ์ไม่แตกต่างจากนกในสกุลเดียวกัน
สถานภาพ
นกโพระดกคางแดงเป็นนกประจำถิ่น พบบ่อยและปริมาณปานกลาง ทางภาคใต้และภาคตะวันตกบางแห่ง
กฎหมาย
กฎหมายจัดนกโพระดกคางแดงเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
ลิงค์ข้อมูลเพิ่มเติม
นกโพระดกคางแดง
แหล่งที่มาของภาพ
http://www.oknation.net/blog/home/user_data/album_data/201404/27/53393/images/478162.jpg
http://www.oknation.net/blog/home/user_data/album_data/201404/27/53393/images/478154.jpg
https://dktnfe.com/web59/wp-content/uploads/2014/09/redthroated_barbet_megalaima_mystacophanos.jpg